ลุ้น สะพานข้ามเกาะช้าง 6 พันล้าน ของบ ครม.ศึกษา-ดึงท่องเที่ยวโต

สะพานเกาะช้าง

สะพานข้ามเกาะช้าง จ.ตราด คิกออฟแรงแบบไม่คาดฝัน จากที่เคยสำรวจเบื้องต้นเมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา วันนี้โครงการดังกล่าวถูกนำมา ปัดฝุ่น และกำลังจะได้รับงบประมาณในการศึกษาความเหมาะสมอย่างจริงจัง

คนเกาะช้างหนุนสะพาน

นายสมเกียรติ สมรรถการ นายกสมาคมอนุรักษ์ธรรมชาติและพิทักษ์สิ่งแวดล้อมตราด และประธานคณะทำงานดำเนินการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นการก่อสร้างสะพานข้ามเกาะช้าง ให้ข้อมูลว่า ปี 2559 ได้ดำเนินรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชน ภาครัฐ จำนวน 103 คน 80% เห็นด้วยการก่อสร้างสะพานข้ามเกาะช้าง ด้วยเหตุผล 2 ข้อ คือ ด้านคุณภาพชีวิตของชาวเกาะช้างเป็นอันดับ 1 และส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่ไม่มีการดำเนินการต่อ

ต่อมาปี 2563 คณะกรรมการขับเคลื่อนไทย จังหวัดตราดเห็นชอบให้จังหวัดขับเคลื่อน โดย นายภิญโญ ประกอบผล ผู้ว่าราชการจังหวัดตราดในขณะนั้นได้เสนอเรื่องให้กรมทางหลวงชนบทดำเนินการ ปี 2564 กรมทางหลวงชนบทให้ส่งข้อมูล ความคิดเห็น ความต้องการของประชาชนเพิ่มเติม จึงได้มีคำสั่งจังหวัดตราดที่ 1851/2564 ลงวันที่ 27 กันยายน 2564

แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการและคณะทำงานดำเนินการจัดเวทีรับฟังความเห็นภาคประชาชน การก่อสร้างสะพานข้ามเกาะช้าง สำรวจความคิดเห็น 3 ครั้ง ครั้งแรกทำแบบสำรวจภาคประชาชน ใน 3 พื้นที่ อ.เกาะช้าง อ.แหลมงอบ และพื้นที่อื่น ๆ เห็นด้วย 95.19% ที่ไม่เห็นด้วย 4.81% เห็นว่าสิ้นเปลืองงบประมาณ ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้จะเสียหาย ส่วนพื้นที่ อ.เกาะช้าง เห็นด้วย 98.63%

จากนั้นจัดเวทีลงมติความเห็นจุดก่อสร้างที่เหมาะสม ได้ข้อสรุปฝั่ง อ.เกาะช้าง บริเวณ บ.ด่านใหม่-ด่านเก่า ต.เกาะช้าง ฝั่ง อ.แหลมงอบ บ.ยายม่อม ต.แหลมงอบ-บ.หนองเตียน ต.คลองใหญ่ ระยะทางในทะเล 7 กิโลเมตร บนฝั่งจะเชื่อมถนนสายหลักเข้าตัวจังหวัดตราด และได้สรุปเป็นมตินำเสนอคณะกรรมการจังหวัดเมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2566

สะพานเกาะช้าง

“เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566 คณะทำงาน ภาคประชาชน องค์กรเอกชน องค์กรท้องถิ่นได้เข้าพบ รมว.กระทรวงคมนาคม คาดว่าจะได้รับงบประมาณเหลือจ่ายปี 2566 จำนวน 33 ล้านบาท ให้กรมทางหลวงชนบทที่รับผิดชอบจะดำเนินการตามขั้นตอน คือ การศึกษากำหนดจุดสร้างสะพาน ออกแบบสะพาน ประมาณค่าใช้จ่าย สำรวจความเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (EIA) และอื่น ๆ

เพื่อของบประมาณก่อสร้างต่อไปคาดว่าประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท อาจจะโยกงบประมาณจากการสร้างสะพานที่สมุย-ขนอมที่ยังติดการคัดค้านภาคประชาชนอยู่มาก่อสร้างก่อน เพราะสะพานเกาะช้างได้สำรวจความคิดเห็นจากประชาชนเรียบร้อยแล้ว

และทางท่าเรือเฟอรี่ไม่ได้คัดค้าน ตามไทม์ไลน์ EIA น่าจะใช้เวลา 1 ปี ได้รับอนุมัติงบประมาณจะก่อสร้างได้ปี 2568 ปี 2570 ก่อสร้างเสร็จ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) อาจจะก่อสร้างเพื่อความรวดเร็ว จะสอดคล้องกับถนน บ.บางเบ้า-บ.สลักเพชร เชื่อมถนนรอบเกาะช้างเสร็จปี 2570 เช่นเดียวกันที่จะรองรับปริมาณจราจรเพิ่มขึ้น” นายสมเกียรติกล่าว

ดัน ครม.อนุมัติงบประมาณ 6 พันล้าน

ทางด้าน นายประดิษฐ์ ดีทองอ่อน ทางหลวงชนบทจังหวัดตราด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเดือนมกราคม 2564 จังหวัดตราดได้ขอความอนุเคราะห์กรมทางหลวงชนบทศึกษาออกแบบ แต่กรมทางหลวงชนบทพิจารณาแล้วเป็นโครงการขนาดใหญ่ ต้องใช้งบประมาณก่อสร้างมาก

รวมทั้งต้องใช้เทคนิคและข้อกำหนดพิเศษทางด้านวิศวกรรมในการออกแบบก่อสร้าง จำเป็นต้องศึกษาความเหมาะสมและความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ประกอบกับแนวก่อสร้างโครงการพาดผ่านทะเลอ่าวไทย ผ่านพื้นที่อุทยานแห่งชาติและพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 2 จะต้องทำรายงาน EIA

สะพานเกาะช้าง

ให้จังหวัดตราดดำเนินการจัดทำเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนและแจ้งผลให้ทราบเพื่อประกอบการพิจารณา ซึ่งจังหวัดตราดได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการและคณะทำงานดำเนินการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชน การก่อสร้างสะพานข้ามเกาะช้าง ซึ่งมีผลสรุปเห็นด้วย 95.19%

“การรับฟังความคิด สำรวจ ออกแบบและทำ EIA ใช้เวลาดำเนินการ 1-2 ปี จากนั้นเป็นการขออนุมัติงบประมาณการก่อสร้างจากคณะรัฐมนตรี ตามจุดที่ได้เสนอมาเป็นระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร รวมทั้งระยะทางบนฝั่ง ซึ่งต้องดูว่าจะมีการเวนคืนที่ดินหรือไม่ และการก่อสร้างกรมทางหลวงชนบทดำเนินการ หรือ กทพ.จะเป็นผู้ลงทุน” นายประดิษฐ์กล่าว

สะพานช่วยดึงดูดการลงทุน

นางสาวจารุวรรณ จินตกานนท์ กรรมการสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตราด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ก่อนหน้านี้สะพานข้ามเกาะช้างมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ด้วยเหตุผลทรัพยากรธรรมชาติจะถูกทำลาย แต่การเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ชาวบ้านเกาะช้างทั้งหมดต้องการ เพราะคุณภาพชีวิตของชาวเกาะช้าง การเข้าถึงการรักษาพยาบาล การศึกษาบนฝั่ง และการขยายตัวด้านการท่องเที่ยว

ที่สำคัญพื้นที่ 80% ของเกาะช้างเป็นพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง มีกฎระเบียบที่ชัดเจน การดูแลที่เข้มงวด มีพื้นที่ของประชากรที่จะทำกิน ด้านเกษตร ธุรกิจท่องเที่ยวรอบ ๆ เกาะ เพียง 20% แต่การออกแบบสะพานต้องสร้างประโยชน์ต่าง ๆ เพิ่มขึ้น

สะพานเกาะช้าง

เช่น rest area ร้านกาแฟ จุดเช็กอิน และจังหวัดควรมีแผนพัฒนาเกาะช้างรองรับด้วยเป็นโครงการที่จะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ โดยเฉพาะการบริหารจัดการ และควรให้สอดคล้องกับถนนบางเบ้า-บ.สลักเพชร ที่จะเชื่อมต่อเป็นถนนรอบเกาะช้างเพื่อรองรับปริมาณจราจร ระบบไฟฟ้า น้ำประปา

เกาะช้างมีนักท่องเที่ยวปริมาณเกือบ 40% และทำรายได้ให้ 40% ของรายได้ท่องเที่ยวของจังหวัดตราด โรงแรมเกาะช้างมีระดับ 4 ดาว ไม่ถึง 10 แห่ง ส่วนใหญ่ระดับ 3 ดาว และบ้านเช่า การมีสะพานเชื่อมเกาะช้างจุดเริ่มต้นทำให้มีนักลงทุนรายใหญ่ ๆ กล้าลงทุนโรงแรมระดับ 5 ดาว

โดยเฉพาะที่พักเพื่อสุขภาพเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยม ทำให้นักท่องเที่ยวมีปริมาณมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มไฮเอนด์ที่ต้องการการเข้าถึงที่สะดวก รวดเร็ว

ทุกวันนี้นักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิ เดินทางมาไม่ทันเที่ยวเรือเฟอรี่ที่มีบริการเพียงแห่งเดียว ต้องพักค้างก่อน 1 คืน อาจจะเปลี่ยนเดสติเนชั่นได้ ถ้ามีสะพานข้ามเกาะช้างจะเดินทางมาได้ตลอด 24 ชั่วโมง และกำหนดการเดินทางได้แน่นอน และนักท่องเที่ยวที่ไปเกาะช้าง สามารถท่องเที่ยวแบบวันเดย์ทริปหรือลงเรือต่อไปเกาะกูด เกาะหมาก เกาะหวาย เกาะคลุ้ม หรือเกาะอื่น ๆ ได้