กสิรุ่งเรือง เปิด 2 ล้งใหม่สุโขทัย รุกส่งออกทุเรียนหมอนพระร่วงไปจีน

ทุเรียน

“กสิรุ่งเรือง” เครือล้งส่งออกทุเรียนรายใหญ่  ขยายฐานเปิดล้งเพิ่มอีก 2 แห่งที่ จ.สุโขทัย เตรียมชูแบรนด์บริษัทส่งออกทุเรียนพรีเมี่ยม “หมอนพระร่วง” ของดีสุโขทัยตีตลาดเจียงหนาน กว่างโจว พร้อม MOU 4 กลุ่มแปลงใหญ่ รวบผลผลิต 2,000 ตันส่งออก

นายกมล เรืองขจร ประธาน บริษัท กสิรุ่งเรือง จำกัด ผู้ส่งออกทุเรียนรายใหญ่ไปตลาดจีน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ทางบริษัท กสิรุ่งเรือง จำกัด ได้จัดทำข้อตกลง (MOU) ซื้อทุเรียนพันธุ์ “หมอนพระร่วง” กับกลุ่มแปลงใหญ่ 4 กลุ่มในจังหวัดสุโขทัย

ได้แก่ กลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนบ้านตึก กลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนบ้านนาต้นจั่น กลุ่มแปลงใหญ่บ้านปากทรวง และกลุ่มแปลงใหญ่บ้านห้วยตม อ.ศรีสัชนาลัย โดยมีนายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานสักขีพยาน

“เดิม 3 ปีที่แล้วตั้งโรงคัดบรรลุ (ล้ง) รับซื้อทุเรียนที่จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อรับซื้อทุเรียนในพื้นที่ภาคเหนือหลายจังหวัด ได้แก่ จ.เชียงใหม่ จ.ตาก และ จ.แพร่ ขนส่งมาบรรจุที่ล้งใน จ.อุตรดิตถ์” นายกมลกล่าวและว่า

ปี 2566 เห็นว่าในพื้นที่ จ.สุโขทัย ที่บ้านตึก อ.ศรีสัชนาลัย มีปริมาณทุเรียนมากพอส่งออก และมีทุเรียนพันธุ์หมอนพระร่วงที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น เนื้อแห้ง รสชาติดี ไม่ต่างจากทุเรียนหลงลับแลของ จ.อุตรดิตถ์ แต่รูปทรงสวยกว่าเพราะความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำ แต่เนื้อแห้งไม่ต่างกัน

ดังนั้น ปีนี้บริษัทจะเปิดล้งเพิ่มอีก 2 แห่งที่ จ.สุโขทัย เพื่อเตรียมส่งออกทุเรียนไปตลาดเจียงหนาน มณฑลกว่างโจว ประเทศจีน ภายใต้แบรนด์ของบริษัท เพื่อทำตลาดพรีเมี่ยม คาดว่าจะมีผลผลิตจากกลุ่มแปลงใหญ่ 4 แปลงประมาณ 2,000 ตัน หรือวันละประมาณ 40-50 ตัน

“การทำ MOU กับเกษตรกร เพราะบริษัทต้องการแสดงความจริงใจและสร้างความมั่นใจให้กับกลุ่มเกษตรกรว่ามีตลาดรับซื้อในพื้นที่แน่นอน และเชื่อว่าจะสร้างความมั่นใจกับลูกค้าชาวจีนว่าสินค้ามีคุณภาพมาตรฐาน มีเอกลักษณ์ท้องถิ่น และไม่มีทุเรียนอ่อน โดยบริษัทกำหนดให้เกษตรกรต้องตัดทุเรียนแก่เปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้ง 35% เท่านั้น” นายกมลกล่าว

ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ให้การสนับสนุนเกษตรกรที่ทำสวนทุเรียนใน จ.สุโขทัยให้พัฒนาคุณภาพ มีการทำใบรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) และโรงคัดบรรจุได้รับใบรับรองมาตรฐานหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิต (GMP) และได้รับการขึ้นทะเบียน (DOA) อย่างถูกต้อง

นายกมลกล่าวต่อไปว่า สำหรับทุเรียนหมอนพระร่วงจะเริ่มออกช่วงต้นฤดูกาลเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ต่อจากทุเรียนภาคตะวันออกราคาน่าจะสูง ถ้าสามารถสร้างการรับรู้ได้ถึงความแปลกใหม่ไปจากทุเรียนหมอนทองทั่วไป

แต่สำคัญที่สุดคือ การรักษาคุณภาพของเกษตรกร จะเป็นตัวกำหนดราคาตลาดต่อไปในอนาคต ตอนนี้ได้เตรียมระบบการขนส่งทางเรือและทางรถไว้เรียบร้อย โดยร่วมกับบริษัทโลจิสติกส์ไม่ให้มีปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์

นายกมลกล่าวต่อไปว่า หลังจากนี้ไปบริษัท กสิรุ่งเรืองจะประชาสัมพันธ์ทุเรียนพันธุ์หมอนพระร่วงให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย ทั้งลูกค้าภายในประเทศไทยและลูกค้าชาวจีนในประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลัก ส่วนราคาจัดจำหน่ายจะเป็นไปตามกลไกตลาด

นายรวม ล้นเหลือ ฝ่ายการตลาดของกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนตำบลบ้านตึก อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบัน จ.สุโขทัยมีพื้นที่ปลูกทุเรียน 21,881 ไร่ ผลผลิต 13,000 ตัน ปลูกกันมากที่ อ.ศรีสัชนาลัย เป็นพืชเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้ จ.สุโขทัยปีละไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท ก่อนหน้านี้ชาวสวนต่างคนต่างขายให้ล้งรายย่อยที่เปิด-ปิดรับซื้อไม่แน่นอน ถูกกดราคา บางครั้งต้องลำบากขนส่งไปขายให้ล้งใน จ.อุตรดิตถ์

การรวมกลุ่มผลิตทุเรียนแปลงใหญ่ที่มีคุณภาพ สามารถสร้างอำนาจการต่อรองให้เกษตรกรและส่งออก จึงรวบรวมกลุ่มทุเรียนแปลงใหญ่ได้ 4 กลุ่ม สมาชิกประมาณ 300 คน แต่ละกลุ่มมีสมาชิกประมาณ 30-70 คน พื้นที่ปลูก 2,000-3,000 ไร่ ผลผลิตประมาณ 2,000 ตัน หากขายได้ทั้งหมดคิดเป็นมูลค่าประมาณ 500 ล้านบาท

ทั้งนี้ ปัจจุบันเกษตรกรใน จ.สุโขทัยได้ขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนไปยังตำบลอื่น ๆ บางแห่งเป็นสวนส้มเก่า เช่น ต.แม่สิน ต.บ้านแก่ง เพราะราคาตอนนี้ค่อนข้างต่ำ คาดว่าอีก 5 ปีพื้นที่ปลูกทุเรียนใน จ.สุโขทัยจะเพิ่มขึ้นถึง 50,000 ไร่

“ตั้งเป้าการพัฒนาทุเรียนไว้ว่า เกษตรกรจะต้องมีใบรับรอง GAP 90% ปี 2565 มีประมาณ 60% ปีนี้คาดว่าประมาณ 80% พร้อมที่จะทำทุเรียนคุณภาพส่งออก การที่มีผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ส่งออกโดยตรงมาตั้งโรงคัดบรรจุรับซื้อในพื้นที่ จะทำให้ชาวสวนได้ราคาดีขึ้น ซึ่งผลผลิตจะออกมากช่วงปลายเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ต่อจากทุเรียนตะวันออก เป็นช่องทางการตลาดที่ทุเรียนพันธุ์หมอนพระร่วงของจังหวัดสุโขทัย จะเป็นที่รู้จักกว้างขวางและทำตลาดได้”

นายรวมกล่าวต่อไปว่า เดิมที่บ้านตึก อ.ศรีสัชนาลัย มีประวัติการปลูกมานานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2340 มีต้นทุเรียนอายุ 255 ปี ที่ให้ผลผลิตอยู่ 1 ต้น แสดงว่าเราปลูกทุเรียนมานานแล้ว เมื่อมาค้นพบอัตลักษณ์ทุเรียนหมอนพระร่วงคือพันธุ์หมอนทอง ได้รับการประกวดตั้งชื่อของ จ.สุโขทัย

เนื่องจากปลูกในพื้นที่เขาสภาพดินผุ มีแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ ปริมาณน้ำฝนไม่มาก จึงทำให้ทุเรียนมีเนื้อแห้ง กรอบ ไม่แฉะ รสชาติเข้มข้น เนื้อทุเรียนมีสีเหลืองนวล เนื้อหนา ละเอียด เมล็ดลีบ ไม่หวานจัด


“เกษตรกรปลูกทุเรียนกันแบบธรรมชาติ ใช้สารเคมีค่อนข้างน้อย ทำให้มีความปลอดภัย คาดว่าจะเป็นจุดเด่นที่สร้างตลาดใหม่ ๆ ได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดที่นิยมบริโภคทุเรียนอยู่แล้ว ต่อไปจะต้องให้จังหวัดทำเรื่องยื่นไปยังกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอขึ้นทะเบียนทุเรียนหมอนพระร่วงของจังหวัดสุโขทัย เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ” นายรวมกล่าว