กรมควบคุมโรค เตรียมประกาศให้”ภูเก็ต”ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า จังหวัดแรกในไทย

”ภูเก็ต”

กรมควบคุมโรค เตรียมประกาศให้จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดปลอดโรคพิษสุนัขบ้า จังหวัดแรกประเทศไทย เพื่อสนองพระปณิธานของสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

วันที่ 1 มิถุนายน  2566 นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และร่วมประชุมกับนายดนัย สุนันทารอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยนายสัตวแพทย์บุญญกฤช ปิ่นประสงค์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ และนายธีรยุทธ สำราญทรัพย์ รองหัวหน้าผู้ตรวจราชการ กรมส่งเสริม การปกครองท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เพื่อเร่งรัดเตรียมประกาศให้จังหวัดภูเก็ต เป็นพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า ภายในปี 2566 เพื่อสนองพระปณิธานของสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า กรมควบคุมโรค กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และจังหวัดภูเก็ต ร่วมกันผลักดันให้เกิดการรับรองพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าในระดับจังหวัด ให้สำเร็จเป็นที่แรกของประเทศไทยในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นจังหวัดที่ไม่พบผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าในทุกอำเภอ

มีการดำเนินงานเพื่อการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า ทั้งในคนและสัตว์ ตามหลักเกณฑ์การสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้ามาอย่างต่อเนื่อง ตามพระปณิธาน สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงห่วงใย

ปัญหาโรคพิษสุนัขบ้า ที่เป็นปัญหาสำคัญของชาติ และทรงมีพระประสงค์ให้โรคพิษสุนัขบ้าหมดไปจากประเทศไทย ภายในปี 2568

”ภูเก็ต”

สอดคล้องกับเป้าหมายขององค์การสหประชาชาติ ได้แก่ องค์การอนามัยโลก องค์การสุขภาพสัตว์โลก และองค์การอาหารและยาเพื่อการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ซึ่งจากสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าของประเทศไทยที่มีแนวโน้มจำนวนผู้เสียชีวิตลดลง จาก 18 ราย ในปี 2561 ลดเหลือ 3 ราย ในปี 2565

สำหรับจังหวัดภูเก็ตนับว่ามีความพร้อมสูง เนื่องจากไม่มีผู้เสียชีวิตมาเป็นเวลานานกว่า 15 ปี กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กรมปศุสัตว์ และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จึงร่วมกันสนองพระปณิธานฯ โดยกำหนดนโยบาย “1 เขต 1 อำเภอ ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า”

โดยจังหวัดภูเก็ตมีแผนในการประเมินและรับรองพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าในระดับจังหวัด ผ่านการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อระดับจังหวัด ซึ่งจะเป็นจังหวัดแรกของประเทศไทยที่มีการประกาศเป็นจังหวัดปลอดโรคพิษสุนัขบ้าอย่างเป็นทางการ

ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของจังหวัดภูเก็ตที่ดำเนินการได้จนเป็นต้นแบบในการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า เป็นจังหวัดที่มีคุณสมบัติในการรับรองเป็นพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า ในระดับจังหวัดแห่งแรกของประเทศ อันจะเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยว ที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยอีกด้วย

นายดนัย สุนันทารอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของจังหวัดภูเก็ตที่ดำเนินการได้จนเป็นต้นแบบในการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า โดยไม่พบผู้เสียชีวิตด้วย โรคพิษสุนัขบ้าในทุกอำเภอ และมีการดำเนินงานเพื่อการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า ทั้งในคนและสัตว์มาอย่างต่อเนื่อง

ถือเป็นจังหวัดที่มีคุณสมบัติในการรับรองเป็นพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าในระดับจังหวัดแห่งแรกของประเทศ อันจะเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยอีกด้วย

ด้านนายสัตวแพทย์บุญญกฤช ปั่นประสงค์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยแบ่งระดับของพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าได้เป็น 5 ระดับ ได้แก่

1.ระดับปลอดโรคพิษสุนัขบ้า คือ พื้นที่ไม่พบรายงานโรคพิษสุนัขบ้าทั้งในคนและในสัตว์เป็นระยะเวลามากกว่า 2 ปี และได้รับการรับรองเป็นพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าผ่านคณะกรรมการประเมินและรับรอง

2.ระดับ Afree คือ พื้นที่ที่ไม่พบรายงานโรคพิษสนัขบ้าทั้งในคนและในสัตว์ เป็นระยะเวลามากกว่า 2 ปี

3.ระดับ A คือ พื้นที่ที่ไม่พบรายงานโรคพิษสุนัขบ้าทั้งในคนและในสัตว์ เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี

4.ระดับ B คือ พื้นที่ที่ยังพบรายงานสัตว์ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ในช่วงระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา

5.ระดับ C คือ พื้นที่ที่ยังพบรายงานคนเสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า ในช่วงระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา

โดยการประเมินและรับรองพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าจะเริ่มต้นจากการประเมินและรับรองในระดับท้องถิ่น สะสมขึ้นมาเป็นระดับอำเภอ และระดับจังหวัดตามลำดับ โดยใช้แนวทางคู่มือการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า จัดทำโดยคณะกรรมการและคณะทำงานจัดทำคู่มือ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญจากกรมปศุสัตว์ กรมควบคุมโรค และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น