เปิดขบวนการลอบตัด “ไม้พะยูง” บ้านแปดอุ้ม นำร่องพิทักษ์ป่า

ไม้พะยูง

โจรปล้นธนาคารตามหาตัวได้ในวันเดียว แต่โจรปล้นไม้ครึ่งปีกลับหาไม่เจอแม้แต่เงา” เป็นคำพูดของชาวบ้านแปดอุ้ม อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ที่สะท้อนปัญหาอาชญากรรมบนผืนป่าได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะป่าไม้พะยูงในเขตภาคอีสานตอนล่างที่ค่อนข้างมีความอุดมสมบูรณ์ และปัจจุบันบ้านแปดอุ้มยังเป็นพื้นที่เสี่ยงสูงต่อการตัดไม้พะยูง

ชาวบ้านที่วัดบ้านแปดอุ้ม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในอำเภอน้ำยืนมักถูกลักลอบตัดไม้พะยูงมากที่สุดแห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี อย่างเขตวัดบ้านแปดอุ้ม ไม้พะยูงที่มีอยู่ทุกต้นตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่มูลค่ารวมแล้วประมาณ 20 กว่าล้านบาท

ปัจจุบันยังมีการลักลอบตัดอยู่เป็นระยะแล้วแต่โอกาส ขบวนการเริ่มแรกจะมีคนต่างถิ่นปิดหน้าปิดตาเข้ามาสอดแนมในหมู่บ้าน หรือเรียกว่า พวกสเกาต์ (scout) เพื่อชี้จุดต้นไม้ที่ต้องการตัด หลังจากนั้นไม่นานมีการยกทีมขึ้นรถกระบะมาตัดโดยใช้เลื่อยไฟฟ้า ขั้นตอนนี้ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น ชาวบ้านบางคนปลูกไว้ในที่ดินตัวเอง พวกสเกาต์อาจจะมาเจรจาขอซื้อก่อน หากตกลงซื้อขายกันไม่ได้ก็เสี่ยงจะถูกลักลอบตัดโดยไม่ได้อะไรเลย

“บ้านแปดอุ้มชาวบ้านไม่ได้มีแค่ไม้พะยูงเท่านั้นที่ต้องเฝ้าระวัง ยังมีไม้ประดู่สร้างมูลค่าได้ไม่แพ้กัน แม้ราคาจะน้อยกว่า เช่น ถ้าไม้พะยูงขนาดราคา 1 ล้านบาท ไม้ประดู่ขนาดเดียวกันจะมีราคาประมาณ 3 แสนบาท อยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเรื่องนี้ ไม่ต่างจากการจับกุมอาชญากรรมอื่น ๆ

เพราะหลายครั้งเรามีภาพถ่ายคนตัดไม้ เห็นใบหน้า มีหลักฐานครบ แต่เจ้าหน้าที่ไม่ติดตาม จนคิดว่าขบวนการเหล่านี้มีคนในเครื่องแบบรับรู้ด้วยหรือไม่ หรือเกลือเป็นหนอน ต่างจากโจรปล้นธนาคารที่ตามหาตัวได้ภายในวันเดียว แต่โจรปล้นไม้ครึ่งปีกลับหาตัวไม่เจอแม้แต่เงา”

“บุญทัน พรมโคตร์” ผู้ใหญ่บ้านทุ่งสมเด็จ หมู่ 17 ต.โดมประดิษฐ์ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี เล่าว่า หมู่บ้านในอำเภอน้ำยืนอยู่ระหว่างเขตอุทยานภูจองนายอยทางทิศตะวันออก กับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทางทิศตะวันตก เดิมทีเป็นแหล่งไม้ที่อุดมสมบูรณ์มาก แต่ 7-8 ปีถึงปัจจุบันไม้มีค่าอย่างไม้พะยูงที่มีขนาดใหญ่แทบหมดแล้ว

เหลือเฉพาะต้นเล็กไม่เป็นที่ต้องการของตลาด เพราะ 3 ประเทศในเขตสามเหลี่ยมมรกต ไทย สปป.ลาว และกัมพูชา ต่างแย่งชิงไม้พะยูงกันอย่างต่อเนื่อง แม้แต่ในวัดบ้านแปดอุ้ม ต.โดมประดิษฐ์ มีคนกล้าเข้ามาลักลอบตัด ทำให้ที่ผ่านมาคนในชุมชนจัดเวรยามมานอนเฝ้าตลอด

ทั้งนี้ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ได้เข้ามาให้ความรู้กับชุมชน เพื่อให้การลักลอบตัดไม้ลดลง ด้วยการนำกล้อง NCAPS เข้าไปติดตั้ง 4 ตัว ที่เขตพื้นที่วัดบ้านแปดอุ้ม แม้ถูกขโมยไป 1 ตัว แต่ทำให้คนในชุมชนเรียนรู้วิธีการเก็บข้อมูลและการใช้ระบบเฝ้าระวังทั้งการตัดไม้และไฟป่า แม้กระทั่งการเข้าพื้นที่ไปเก็บของป่าด้วย

“อย่างไรก็ตามปริมาณไม้พะยูงน่าจะมากขึ้น เพราะตอนนี้ชาวบ้านเริ่มปลูกต้นกล้าตามไร่นาและที่ดินของตน ซึ่งจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในอนาคต”

ไม้พะยูง

“วีระ อมรศักดิ์ชัย” ผู้อำนวยการส่วนจัดการป่าชุมชน สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 7 สาขาอุบลราชธานี เผยว่า สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 7 สาขาอุบลราชธานี มีเขตรับผิดชอบดูแลป่าไม้ 4 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร และศรีสะเกษ โดยจังหวัดอุบลราชธานีเริ่มจัดตั้งป่าชุมชนปี 2548 ตั้งแต่ยังไม่มี พ.ร.บ.ป่าชุมชนในปี 2562

กระทั่งปัจจุบันมีป่าชุมชนที่จัดตั้งไปแล้ว 1,116 แห่ง รวมพื้นที่กว่า 1 แสนไร่แล้ว และบ้านแปดอุ้ม ต.โดมประดิษฐ์ อ.น้ำยืน เป็นหนึ่งในพื้นที่ป่าชุมชน เป็นจุดลักลอบตัดไม้ที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง และแผนจัดการป่าชุมชนในปัจจุบันคือ กรมป่าไม้เข้ามาผสานงานกับชุมชนสร้างแผนดูแลรักษาป่าร่วมกัน

สำหรับการรณรงค์การอนุรักษ์ไม้พะยูงในพื้นที่ประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน UN-REDD หรือโครงการความร่วมมือแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการตัดไม้ทำลายป่า และความเสื่อมโทรมของป่าไม้ในประเทศกำลังพัฒนา ได้ร่วมมือกับกรมป่าไม้และหลายหน่วยงาน นำร่องใช้กล้อง NCAPS (Network Centric Anti-Poaching System) มาเฝ้าระวังการลักลอบตัดไม้พะยูงซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงสูง

“จงสถิตย์ อังวิทยาธร” ผู้ประสานงานโครงการค้าไม้ยั่งยืนของประเทศไทยใน UN-REDD กล่าวว่า การใช้กล้อง NCAPS จะสามารถเห็นภาพ เก็บข้อมูล และลดความรุนแรงการลักลอบตัดไม้ได้ แต่ส่วนหนึ่งต้องมีการ์ดจากชุมชนมาคอยป้องกันด้วย นอกจากนี้ยังจัดการภัยคุกคามด้านอื่นด้วย เช่น การเกษตรของชาวบ้านที่บุกรุกเข้ามาในแนวเขตป่า

“อ้อมจิตร เสนา” นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ ส่วนส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้ บอกว่า การทำงานของระบบกล้อง NCAPS จะใช้แอปพลิเคชั่น “พิทักษ์ไพร” ที่มีระบบการลงทะเบียนต้นไม้ e-Tree บนสมาร์ทโฟน สามารถส่งการแจ้งเตือนเกี่ยวกับพฤติกรรมการบุกรุกในพื้นที่ต้องสงสัยว่าอาจจะเกิดการกระทำผิดกฎหมาย ตรวจจับผู้ต้องสงสัย

รวมถึงใช้โดรนในการบินตรวจสอบพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถตรวจจับและแก้ไขปัญหาการลักลอบตัดไม้ได้อย่างทันท่วงที

นอกจากนี้กล้องยังสามารถบันทึกภาพเพื่อใช้เป็นหลักฐานดำเนินคดีในชั้นศาลได้อีกด้วย ความสามารถนี้ช่วยให้ชุมชนสามารถติดตามภัยคุกคามที่เกิดขึ้นในป่าของชุมชนโดยรอบได้ดีขึ้น รวมทั้งลดความเสี่ยงในการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า

จึงเป็นพื้นที่ต้นแบบการอนุรักษ์ป่าที่ชุมชนทำงานประสานกับหน่วยงานรัฐ และนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการบริหารจัดการและดูแลพื้นที่ป่าอย่างมีประสิทธิภาพ เรื่องราวความสำเร็จนี้เป็นกรณีศึกษาสำหรับชุมชนอื่น ๆ เพื่อช่วยให้ชุมชนเหล่านั้นสามารถปรับตัวและใช้รูปแบบการคุ้มครองป่าโดยชุมชนที่คล้ายคลึงกับกรณีของบ้านแปดอุ้มได้

ด้าน “พิษณุ สุทธการ” เจ้าพนักงานป่าไม้ชำนาญงาน ทำหน้าที่หัวหน้าสถานีเพาะชำกล้าไม้จังหวัดอุบลราชธานี ให้ข้อมูลว่า ในจังหวัดอุบลราชธานี กรมป่าไม้จะเพาะต้นพันธุ์ไม้แจกให้กับประชาชนที่มาลงทะเบียนทุกปีแล้วแต่งบประมาณ

และไม้พะยูงเป็นหนึ่งในพันธุ์ไม้ที่ได้รับความนิยมมาก เมื่อเจริญเติบโตขึ้นแก่นจะขายได้ราคาสูง และทางภาคอีสานเหมาะแก่การปลูกไม้พะยูงให้เจริญงอกงามขึ้นแก่นได้ดี คนที่ปลูกส่วนใหญ่ในตอนนี้เหมือนเป็นมรดกไว้ให้ลูกหลานได้

“กรมป่าไม้เราจะเพาะพันธุ์ไม้จากเมล็ดทุกชนิด ปีนี้แจกช่วงต้นฤดูฝนในปีหน้า และพันธุ์ไม้พะยูงเป็นไม้ที่เราเพาะมากที่สุด นอกจากต้นพันธุ์แล้วยังมีเมล็ด 1 กก. โดยประมาณ 15,000 เมล็ด ราคาประมาณ 1,000 กว่าบาท อัตราการงอกภายใน 1 ปีอยู่ที่ 60%”


จากข้อมูล สรุปรายงานการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการป่าไม้ของหน่วยงานในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ปีงบประมาณ พ.ศ. 2556-2566 ระบุไว้ว่า การกระทำผิดกฏหมายเกี่ยวกับการป่าไม้ทั้งหมดในช่วงเวลาดังกล่าว 39,368 คดี มีคดีค้าไม้รวม 15,755 คดี แบ่งเป็นคดีไม้พะยูง 8,013 คดี มูลค่าโดยเฉลี่ย 500,000 บาท/ม. รวมสถิติ 2,262,909,015 บาท