14จังหวัดใต้รณรงค์แก้ปัญหาทุเรียนอ่อน

14 จังหวัดภาคใต้ ลุยรณรงค์แก้ปัญหาเกษตรกรตัดทุเรียนอ่อนขาย เหตุแนวโน้มราคาทุเรียนพุ่งสูงขึ้นจากปีก่อนมาก หวั่นผลผลิตด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด

นายธาร นวลนึก ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตไม้ผลเขตร้อนที่สำคัญของโลก ไม้ผลเศรษฐกิจหลักที่สำคัญของประเทศไทย ได้แก่ ทุเรียน ที่สามารถปลูกและให้ผลผลิตได้ทุกภูมิภาค โดยในปี 2561 มีพื้นที่ให้ผลผลิต 609,951 ไร่ และคาดว่าจะมีผลผลิตรวม 734,284 ตัน ซึ่งภาคใต้เป็นแหล่งผลิตใหญ่รองลงมาจากภาคตะวันออก โดยเฉพาะพื้นที่ จ.ชุมพร ที่มีพื้นที่ให้ผลผลิตสูงเป็นอันดับที่ 2 รองจาก จ.จันทบุรี มี “กลุ่มล้ง” หรือผู้รวบรวมสินค้าเกษตรสำหรับจำหน่ายในประเทศและส่งออกต่างประเทศเปิดจุดรับซื้อจำนวนมาก ซึ่งรับซื้อทั้งผลผลิตของ จ.ชุมพร และจังหวัดใกล้เคียง

อีกทั้งราคาจำหน่ายทุเรียนในปี 2561มีแนวโน้มสูงขึ้นจากปีก่อน ๆ ซึ่งผลผลิตที่ออกมาก่อนฤดูกาลมักได้ราคาสูง อาจเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรรีบเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ยังไม่สุก หรือที่เรียกว่าทุเรียนอ่อน ส่งมาจำหน่ายในตลาดได้ ส่งผลให้เกิดปัญหาผลผลิตด้อยคุณภาพไม่ได้มาตรฐานเข้าสู่ตลาด กระทบต่อชื่อเสียงประเทศไทย ดังนั้นทางสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จ.สงขลา จึงจัดกิจกรรมรณรงค์และประชาสัมพันธ์ป้องกันปัญหาทุเรียนอ่อนของ 14 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งจะเป็นมาตรการสำคัญในการช่วยป้องกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ในอนาคต

“ผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศขาดความเชื่อถือในสินค้าจากแหล่งผลิตภาคใต้ จนอาจทำให้ราคาของทุเรียนตกต่ำจากการที่มีสินค้าด้อยคุณภาพปะปนกับสินค้าคุณภาพดี มีการระบายสินค้าออกได้ช้า ซึ่งจะทำให้มีผลผลิตตกค้าง เน่าเสียหาย ทำลายรายได้และเศรษฐกิจของเกษตรกรที่มีผลผลิตออกในช่วงฤดูกาลปกติ ซึ่งจะเก็บเกี่ยวช้ากว่าผลผลิตกลุ่มนี้ อีกทั้งปัจจุบันรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับปัญหานี้ และให้นำมาตรการทางกฎหมายเข้ามาใช้อย่างเคร่งครัด ซึ่งจะเป็นการป้องกันได้อีกทางหนึ่งด้วย”

จากเหตุผลดังกล่าวจึงจำเป็นต้องมีการสร้างความรู้ความเข้าใจให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับทุกภาคส่วนหากมีการนำทุเรียนด้อยคุณภาพเข้าสู่ตลาด สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จ.สงขลา จึงจัดกิจกรรมรณรงค์และประชาสัมพันธ์ป้องกันปัญหาทุเรียนอ่อน ซึ่งจะเป็นมาตรการสำคัญในการช่วยป้องกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ในอนาคต และเป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสินค้าเกษตร 14 จังหวัดภาคใต้


โดยมีผู้แทนเกษตรกรในแปลงใหญ่ทุเรียน เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานไม้ผลจาก 14 จังหวัดภาคใต้ ผู้รวบรวมผลไม้เพื่อส่งออก (ล้ง) หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น อัยการ ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา เข้าร่วมกิจกรรม