เทรดวอร์ดันสต๊อกยางจีนพุ่ง ศรีตรังปรับแผนเพิ่มกำลังผลิตถุงมือยาง

สงครามการค้าจีน-สหรัฐพ่นพิษ ส่งผลสต๊อกยางจีนพุ่งสูง 700,000 ตัน หลังโรงงานยางรถยนต์ต้องลดกำลังการผลิตลง 20% ด้านกลุ่มศรีตรังฯยักษ์ใหญ่ยางไทย ปรับแผนเน้นการทำกำไรสูงสุดแทนตั้งเป้าหมายส่งออก ทุ่ม 2,400 ล้านซื้อกิจการ-ผลิตถุงมือยางปีนี้เพิ่มอีก 3,000 ล้านชิ้น ขยับขึ้นเป็นเบอร์ 5 ของโลก

นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล กรรมการบริหาร บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงสถานการณ์ยางพาราในตลาดโลกว่า ราคายางครึ่งปีแรกที่ผ่านมาผันผวนน้อยลง เมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่ราคาขึ้นช่วงต้นปี แล้วราคาร่วงต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้ โดย “ราคายางช่วงนี้อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ” เนื่องจากครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ประเทศจีนผู้ใช้ยางรายใหญ่ของโลกลดกำลังการผลิตยางล้อรถยนต์จากระดับ 80% ของกำลังการผลิต ลงมาเหลือระดับ 60-70% ซึ่งเป็นผลมาจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐที่มีการขึ้นภาษียางล้อรถยนต์และรถยนต์

ทำให้การส่งออกยางล้อจากจีนไปตลาดสหรัฐได้รับผลกระทบต้องชะลอตัวลงรวมทั้งรัฐบาลจีนมีนโยบายให้โรงงานอุตสาหกรรมประหยัดพลังงานในช่วงฤดูร้อน หรือไตรมาส 3 นี้ด้วย จึงมีการลดระดับกำลังการผลิตสินค้าลงมา ขณะเดียวกันสต๊อกยางของจีนที่ตลาดซื้อขายโภคภัณฑ์ล่วงหน้าเซี่ยงไฮ้ และที่เมืองชิงเต่า ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตอุตสาหกรรมล้อยางรถยนต์ก็มีสต๊อกยางแท่งและยางแผ่นสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 700,000 ตัน

สำหรับการดำเนินงานของบริษัทศรีตรังฯ นายวีรสิทธิ์กล่าวว่า ในส่วนตลาดยางธรรมชาติยังมีดีมานด์ต่อเนื่องแต่อาจจะชะลอตามเศรษฐกิจโลกและสต๊อกยางธรรมชาติที่ยังสูงในจีน ถือว่า “ตลาดยังไม่ดีมาก” ดังนั้น บริษัทจึงพยายามคัดสรรการซื้อขายเพื่อให้ได้กำไรสูงสุด ไม่ตั้งเป้าหมายปริมาณการขายเหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมา ส่วนตลาดถุงมือยางค่อนข้างดีมาก แทบจะไม่มีอุปสรรค ถ้าจะมีคือกฎระเบียบ ข้อกีดกันทางการค้ามากกว่า แต่เรื่องเหล่านี้ถ้าดำเนินการทางเอกสารผ่านได้ถือว่าดี ซึ่งบริษัทขณะนี้ผลิตเต็มกำลังการผลิตและขายเต็มที่ ตลาดใหม่แถบอเมริกาใต้ เอกสารต้องทำใหม่ อาจจะต้องใช้เวลาบ้าง ต้องเรียนรู้ในการเจาะตลาดนี้ ภาพโดยรวมตลาดถุงมือยางมีการแข่งขันสูงมาก แต่โชคดีที่บริษัททำตลาดนี้มา 30 ปีแล้ว มีศักยภาพแข่งขันกับคู่แข่งรายใหญ่ ๆ ในโลกได้

“หากเปรียบเทียบกับคู่แข่งมาเลเซีย ปริมาณการขายและขนาดกำลังการผลิตของบริษัทสู้ได้ อันดับ 1-4 เป็นของบริษัทมาเลเซียทั้งหมด มีส่วนแบ่งตลาดโลก 60% ของบริษัทอยู่อันดับ 5 ของโลก ผลิต 15,000 ล้านชิ้น มีส่วนแบ่งตลาดโลก 8% ของตลาดถุงมือยางทั่วโลก 2 แสนล้านชิ้น”

ในอนาคตบริษัทจะขยายธุรกิจถุงมือยางเต็มที่ จากเดิมมีกำลังผลิต 14,000 กว่าล้านชิ้น ปีนี้ลงทุน 1,200 ล้านบาท เพิ่มกำลังผลิตอีก 3,000 ล้านชิ้น หลังจากที่บริษัทไม่ได้ขยายการผลิตมานานถึง 5 ปี คาดว่าสิ้นปีนี้จะผลิตได้เต็มที่ไม่ต่ำกว่า17,700 ล้านชิ้น เพราะเตรียมซื้อ “บริษัทไทยกอง” ผู้ผลิตถุงมือยางผ่านบริษัทไทยกอง กรุ๊ปเพิ่มภายในปีนี้ ประมาณ 1,230 ล้านบาทซึ่งจะทำให้มีกำลังการผลิตรวมทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 21,000 ล้านชิ้น

ส่วนตลาดในไทยเริ่มขยายตัว เพราะบริษัทเริ่มบุกตลาดทั้งในห้าง ขายออนไลน์ โรงพยาบาล ร้านอาหาร ร้านเสริมสวย เดี๋ยวนี้จะเห็นถุงมือยางของศรีตรังฯมากขึ้น ส่วนแบ่งตลาดในประเทศ ศรีตรังฯครอง 80% จากทั้งหมดในไทยที่ขายกันประมาณ 35 บริษัท ภาพโดยรวมแล้ว ศรีตรังฯจะขายแบบมีแบรนด์ของตัวเอง 20% และขายให้ตลาดโออีเอ็ม 80%
ขณะที่ นายศุภเดช อ่องสกุล รองเลขาธิการสมาคมยางพาราไทย กล่าวถึงสถานการณ์ยางพาราในการประชุมสภาธุรกิจยางอาเซียน ที่อินโดนีเซีย เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ความต้องการยางล้อรถยนต์และยานพาหนะในจีน ผู้ซื้อรายใหญ่ของโลกลดลง นอกจากนี้ สต๊อกยางในจีนและญี่ปุ่นก็เพิ่มขึ้นมาก กอปรกับสงครามการค้าจีน-สหรัฐเริ่มรุนแรงขึ้น อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยบวกจากการที่รัฐบาลจีนมีนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นความต้องการใช้ยางเพิ่ม


ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ปริมาณการผลิตและความต้องการยางธรรมชาติทั่วโลกปี 2561 ทางองค์การศึกษายางระหว่างประเทศ (IRSG) ได้ปรับปรุงใหม่ โดยปีนี้จะมีการผลิต 14 ล้านตัน สูงที่สุดในรอบหลายปี ขณะที่ความต้องการใช้อยู่ที่ 13.7 ล้านตัน ดังนั้นจึงมีปริมาณเกินความต้องการสูงถึง 307,000 ตันหรือน้อยกว่าปี 2560 ที่ปริมาณผลิตมากกว่าความต้องการ 314,000 ตันเท่านั้น จึงเป็นปัจจัยที่กดดันราคายางในตลาดโลกไม่ให้สูงขึ้น