ครม.ไฟเขียว 7 พันล้าน บูมเศรษฐกิจ 5 จังหวัดอีสานตอนบน-ท่องเที่ยว 7 จังหวัดริมโขง

ครม.ไฟเขียว 7 พันล้าน บูม ศก.5 จว.อีสานตอนบน-ท่องเที่ยว 7 จว.ริมโขง รองรับไฮสปีดเทรน เชื่อมหนองคาย-ลาว-จีนตอนใต้

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ การประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 (หนองคาย บึงกาฬ เลย หนองบัวลำภูและอุดรธานี) เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย จังหวัดหนองคาย มีมติเห็นชอบในหลักการข้อเสนอการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 จำนวน 5 ด้าน ดังนี้

1.ด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ เพื่อเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านในด้านการค้า การลงทุน การค้าชายแดนและการท่องเที่ยว รวมถึงการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในพื้นที่ แบ่งออกเป็น โครงการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม จำนวน 6 โครงการ ได้แก่ 1.การก่อสร้างถนนเลี่ยงเมืองเลย 2.ทางเลี่ยงเมืองเชียงคาน 3.ระบบรถ ราง เรือ และการก่อสร้างท่าเรือชายฝั่งแม่น้ำโขง 4.โครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงอุดรธานี-บึงกาฬ ระยะทาง 139 กิโลเมตร เพื่อย่นระยะทาง 5.กิจกรรมก่อสร้างสะพานคู่ขนานสะพานมิตรภาพน้ำเหือไทย-ลาว ด่านพรมแดนบ้านนากระเซ็ง อำเภอท่าลี่ จ.เลย 6.ก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว จ.เลย

โครงการขยายช่องทางจราจร จำนวน 5 โครงการ อาทิ 1.ขยายช่องทางจราจรและขยายไหล่ทางทางหลวง หมายเลข 2023 ระยะทาง 61 กิโลเมตร 2.ขยายช่องทางจราจรจาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 2410 ตอนบ้านเหล่า-ดอนกลอย 3.ขยายช่องจราจร จาก 4 ช่องจราจร เป็น 6 ช่องจราจร

โครงการเพิ่มมาตรฐานทางหลวงโดยการขยายไหล่ทาง จำนวน 6 โครงการ อาทิ ทางหลวงหมายเลข 228 หนองบัวลำภู-ศรีบุญเรือง-ชุมแพ-ชัยภูมิ

2.ด้านแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร 2 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการศึกษาการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำห้วยบางบาด จ.บึงกาฬ 2.โครงการการศึกษารายละเอียดแหล่งน้ำในพื้นที่ จ.บึงกาฬ และการแก้ไขปัญหาอุทกภัย จำนวน 1 โครงการ คือ โครงการการปรับปรุงระบบระบายน้ำและปรับปรุงภูมิทัศน์ห้วยหมากแข้ง จ.อุดรธานี

3.ด้านการยกระดับการผลิตและการสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิต จำนวน 5 โครงการ 2 กิจกรรรม อาทิ 1.โครงการพัฒนาเกษตรครบวงจรในพื้นที่ที่มีศักยภาพกลุ่มจังหวัด โดยส่งเสริมการผลิตผักและสมุนไพร การเลี้ยงโคคุณภาพสูง โคนม การพัฒนาท่องเที่ยวเชิงเกษตรและปฏิบัติการเกษตร 2.โครงการพัฒนาและยกระดับตลาดผ้าบ้านนาข่าสู่การเป็น Smart Market เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางตลาดผ้าในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง 3.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพศูนย์การเรียนรู้และออกแบบสร้างสรรค์ผ้าทอมือลุ่มน้ำโขง 4.การขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนบน 1 จำนวน 2 กิจกรรม คือ ขอให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมได้รับสิทธิประโยชน์มากกว่า หรือ ผู้ประกอบการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และ เสนอให้มีการสำรวจและศึกษาเพื่อก่อสร้างถนน Local Road เชื่อมต่อจากถนนเลียบทางรถไฟหนองตะไก้จนถึงใจกลางเมืองอุดรธานี (UD Town) ระยะทาง 16 กิโลเมตร เพื่อรองรับการเติบโตของชุมชนรอบนิคมในอนาคต

4.ด้านการท่องเที่ยว จำนวน 4 โครงการ อาทิ โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวบ้านเชียงและอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ ขอให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาบรรจุแผนในแม่บทตามวิถีชีวิตลุ่มน้ำโขง อาทิ โครงการการก่อสร้าง Landmark ประติมากรรมพญานาคราชคู่ มิตรภาพแห่งลุ่มแม่น้ำโขง ณ วัดอาฮงศิลาวาส ตำบลไคสี อำเภอเมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ การพัฒนาการท่องเที่ยวทางน้ำ

5.ด้านพัฒนาคุณภาพชีวิต อาทิ โครงการพัฒนาพื้นที่จอดรถส่วนบุคคลขาเข้า-ขาออก และจัดการจราจรเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับรถยนต์และผู้ใช้บริการเข้า-ออก ระหว่างประเทศ ณ ด่านพรหมแดน สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 อำเภอเมืองหนองคาย จ.หนองคาย โครงการก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียชุมชนริมแม่น้ำโขง เทศบาลตำบลเชียงคาน อำเภอเชียงคาน จ.เลย โครงการก่อสร้างอาคารบริการ Premium Service พร้อมที่จอดรถ โรงพยาบาลหนองคาย และยกระดับศักยภาพโรงพยาบาลบึงกาฬ

นายพุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม รายงานในที่ประชุมว่า สำหรับโครงการรถไฟทางคู่ขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กม. วงเงิน 2,6647 ล้านบาท โดยจะเริ่มก่อสร้างปี 62 เสร็จปี 65 โดยจะเข้าครม.พิจารณาอนุมัติในเดือนมกราคม 62 สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงโคราช-หนองคาย ระยะทาง 350 กิโลเมตร วงเงินราว 2 แสนล้านบาท จำนวน 6 สถานีหลัก จะเร่งให้ทันตามแผน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2570

ด้านนางวิลาวัณย์ กนกศิลป์ ประธานหอการค้าจังหวัดหนองคายกล่าวภายหลังเสนอโครงการ ว่า โครงการส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การดำเนินการของงบประมาณประจำปี 62-65 ซึ่งที่ประชุมข้อเสนอการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 จะเร่งรัดโครงการตามลำดับความเร่งด่วน เช่น โครงการสะพานข้ามทางรถไฟทางคู่ขอนแก่น-หนองคาย จากปี 64-65 เป็นปี 62 โดยการประชุมครั้งนี้ได้เพิ่มการท่องเที่ยวทางน้ำเพื่อเพิ่มศักยภาพการใช้แม่น้ำโขงและส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวให้คุ้มค่ามากยิ่งขึ้น โดยจะก่อสร้างท่าเรือขนาดเล็กเพื่อสนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากและยกสถานะอำเภอโพนพิสัย จ.หนองคาย บรรจุอยู่ในแผนแม่บทพัฒนา 7 จังหวัดริมฝั่งแม่น้ำโขง หนองคาย-โขงเจียม

นางวิลาวัณย์กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังรับข้อเสนอการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ทางบกหลายโครงการ เช่น ถนนเชื่อมจ.อุดรธานี-บึงกาฬ และการศึกษาการก่อสร้างถนนหมายเลข 8 เพื่อเชื่อมนครเวียงจันทน์ (สปป.ลาว) กับ เวียดนาม รวมถึงการขยายช่องทางจราจรเพื่อเพิ่มความสะดวกในเรื่องการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะการค้าชายแดนและเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวและบริการด้านต่าง ๆ เช่น โรงพยาบาล ขณะเดียวกันยังรับข้อเสนองบประมาณศึกษาสะพานมิตรภาพไทย-ลาวเพื่อเชื่อม จ.หนองคาย เนื่องจากหนองคายถือเป็นจังหวัดที่อยู่ในยุทธศาสตร์ One Belt One Road ของจีน

“ในปี 62-63 จ.หนองคายจะได้รับอานิสงส์จากการเร่งรัดโครงการรถไฟความเร็วสูงโคราช-หนองคาย ซึ่งจะทำให้เชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงจากนครเวียงจันทร์ (สปป.ลาว)-คุนหมิง (จีนตอนใต้) ทำให้การท่องเที่ยวและการค้าเติบโตตามไปด้วย การท่องเที่ยวจะโตแบบก้าวกระโดด นักท่องเที่ยวจีนจะเข้ามายังจังหวัดหนองคายราว 1 หมื่นคนต่อวัน ปัจจุบันจำนวนนักท่องเที่ยว 2.9 ล้านคนต่อปี” ขณะที่นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานีกล่าวว่า ข้อเสนอโครงการในครั้งนี้ เก็บตกจากการประชุมครม.สัญจรที่จังหวัดเพชรบูรณ์ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งครั้งนี้โครงการที่คาดว่าจะได้รับการอนุมัติทั้ง 5 จังหวัด ราว 7,000 ล้านบาท “ตั้งแต่ปี 64 เป็นต้นไปจังหวัดอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเศรษฐกิจจะขยายตัวมากขึ้นเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นจุดยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงของจีน ดังนั้น โครงการโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ จะต้องเชื่อมโยงเป็น EW-Corridor เพื่อเพิ่มมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับกลุ่มจังหวัด” นายสวาทกล่าวว่า สำหรับโครงการเพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว 7 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้เสนอโครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสาร หลังที่ 3 สนามบินอุดรธานี วงเงิน 3 พันล้านบาท ซึ่งจะทำให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวเพิ่มเป็น 7 ล้านคนต่อปี จากเดิม 2.7 ล้านคนต่อปี ระบบสาธารณูปโภคในนิคมอุตสาหกรรม เนื้อที่ 2 พันไร่ วงเงิน 4 พันล้านบาท เอกชนเป็นผู้ลงทุน และการขอรับสิทธิพิเศษในด้านภาษีเพื่อพัฒนาท่าเรือบก พื้นที่ 400-600 ไร่ ห่างจากตัวเมืองอุดรธานี 12 กิโลเมตร วงเงินลงทุนราว 1 พันล้านบาท ซึ่งขณะนี้มีเอกชนให้ความสนใจลงทุนแล้ว “ปี 64 จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของกลุ่มจังหวัด ฯ จากการก่อสร้างรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะทำให้การค้าและการลงทุนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่จะเพิ่มขึ้น 5 แสนคนต่อปี โดยเฉพาะการท่องเที่ยวริมโขง-นวัตวิถี ซึ่งปัจจุบันกลุ่มจังหวัด ฯ แต่ละจังหวัดมีการขอจัดสรรงบประมาณจังหวัดละ 700 ล้านบาทเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวริมโขงอยู่แล้ว ดังนั้น กลุ่มจังหวัด ฯ จะต้องเตรียมแผนงานและโครงการเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะมีมากขึ้น ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะแหล่งการค้าและการบริการ ขณะที่การค้าชายแดน ปัจจุบันมีมูลค่าการค้า 4-5 แสนล้านบาทต่อปี แต่คาดว่าในปี 63-64 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก 10 %” ทั้งนี้ กลุ่มจังหวัด ฯ อยู่ระหว่างจัดทำแผนพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคอีสาน หรือ IEC คล้าย EEC ของภาคตะวันออก แต่จะเน้นในด้านการบริการเป็นหลัก โดยเริ่มจากอำเภอสังคม จ.หนองคาย