วิชัย กำเนิดมงคล ปั้นแบรนด์กาแฟ “เดอม้ง” จาก “ดอยมณีพฤกษ์” สู่เมืองกรุง

สัมภาษณ์

เมื่อกล่าวถึงแหล่งผลิตกาแฟในประเทศ จังหวัดน่านถือได้ว่าเป็นแหล่งปลูกกาแฟสำคัญอันดับ 3 ของภาคเหนือที่มีการปลูกกาแฟอย่างแพร่หลาย รองจากเชียงใหม่และเชียงราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรรมวิธีการปลูกกาแฟในป่าเพื่อสร้างที่ดินทำกินและอนุรักษ์ธรรมชาติไปพร้อม ๆ กัน ณ “ดอยมณีพฤกษ์” ผืนป่าที่ “วิชัย กำเนิดมงคล” เจ้าของแบรนด์ “กาแฟเดอม้ง” หนึ่งในเกษตรกรผู้ผลิตและแปรรูปกาแฟจากดอยมณีพฤกษ์ จังหวัดน่าน ได้บอกเล่าเกี่ยวกับการทำธุรกิจกาแฟของเกษตรกรต้นน้ำ ในตลาดกาแฟทางเลือกไว้อย่างน่าสนใจ

“วิชัย” เล่าให้ “ประชาชาติธุรกิจ” ฟังว่า กาแฟเดอม้งเริ่มทำมาตั้งแต่ปลาย 2558 โดยเข้ามาจับเรื่องการปลูกกาแฟในพื้นที่ใต้ร่มไม้ใหญ่ พร้อม ๆ กับกลุ่มเกษตรกรในดอยมณีพฤกษ์ ก่อนจะจัดทำแบรนด์ “เดอม้ง” เนื่องจากต้องการนำเอกลักษณ์ของชาติพันธุ์ม้ง มาเสนอให้เป็นที่รู้จัก โดยใช้กาแฟเป็นสื่อกลาง ทั้งนี้ กลุ่มของกาแฟเดอม้งนั้นจะมีครัวเรือนชาติพันธุ์ม้งเป็นสมาชิกอยู่ 33 ครัวเรือน แม้จะยังมีครัวเรือนที่ไม่ได้เป็นสมาชิก แต่มีการขายกาแฟเข้ากลุ่ม โดยมีรายได้รวมกันไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อปี จากนั้นกระจายต่อให้สมาชิกในชุมชน กลายเป็นรายได้ต่อครัวเรือนประมาณ 100,000-200,000 บาทต่อปี โดยผลิตภัณฑ์ที่วางขายนั้นจะแบ่งเป็นกาแฟสารสำหรับร้านกาแฟที่ซื้อไปคั่วด้วยสูตรเฉพาะ ราคา 500 บาทต่อกิโลกรัม กาแฟคั่วสำเร็จ 1,200-1,500 บาทต่อกิโลกรัม

กลุ่มเดอม้งนั้นจะเน้นการปลูกกาแฟอราบิก้า สามารถผลิตและแปรรูปกาแฟสารได้ 5 ตันต่อปี แบ่งเป็นกาแฟคาติมอร์ธรรมดา 50% ซึ่งส่งขายให้ร้านกาแฟในจังหวัดน่านทั้งหมด และอีก 50% เป็นสายพันธุ์พิเศษที่มีรสชาติแตกต่างกันออกไป

“กาแฟพิเศษของเดอม้งมี 4 ตัว ประกอบด้วย 1.คาติมอร์แบบพิเศษ ที่จัดทำเป็นสเปเชียลคาติมอร์ ให้รสชาติความเปรี้ยวหวานขึ้นอยู่กับการทำโปรเซสในการแปรรูป ถ้าเป็นฮันนี่โปรเซสจะออกรสเปรี้ยวหวานค่อนข้างชัด รวมถึงมีลักษณะของรสชาติเปลี่ยนไปตามสวนที่ปลูก เช่น ออกโทนโกโก้ 2.ทิปปิก้า มีแคแร็กเตอร์ที่ชัดคือกลิ่นโทนช็อกโกแลต มีรสเปรี้ยวน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น 3.จาวา รสเปรี้ยวหวานผลไม้ แต่ให้ความเป็นผลไม้กลาง ๆ เหมาะกับคนชอบกาแฟกลาง ๆ 4.เกอิชา กาแฟพันธุ์พิเศษ มีความเปรี้ยว หวานชัด แบบส้มสายน้ำผึ้ง ทั้งยังมีกลิ่นดอกไม้สีขาวหอมละมุน แต่สามารถผลิตได้เพียงปีละไม่ถึง 100 กิโลกรัม”

กาแฟสายพันธุ์พิเศษทั้ง 4 รูปแบบนี้ นอกจากขายผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตแล้ว ก็จะขายส่งให้กับสโลว์บาร์ หรือร้านกาแฟทางเลือก สำหรับคอกาแฟในกรุงเทพฯ เช่น นานาคอฟฟี่ เดอะสแควร์ บางใหญ่ และแกลเลอรี่ คาเฟ่ ร้านกาแฟดริปที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เป็นต้น

ส่วนการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักนั้น วิชัยเล่าว่า ที่ผ่านมาจะเป็นการออกงานอีเวนต์ใหญ่ ๆ เช่น ที่ห้างสรรพสินค้าเอ็มควอเทียร์ กรุงเทพฯ ส่วนในจังหวัดน่านเดิมออกทุกอีเวนต์ แต่ช่วงหลังจำเป็นต้องลดการออกอีเวนต์ขนาดเล็กลง และเลือกออกเฉพาะอีเวนต์ที่จำเป็น เพื่อนำต้นทุนเวลามาพัฒนาผลิตภัณฑ์ น่าจะทำให้ประสบความสำเร็จเรื่องยอดขายมากกว่า

 

ทั้งนี้ จุดเด่นของกาแฟแบรนด์เดอม้ง คือ การผลิตที่เน้นความเป็นธรรมชาติ เป็นออร์แกนิกล้วน มีการใช้ปุ๋ยหมักทำเอง มีส่วนผสมจากเปลือกกาแฟ กากกาแฟ มูลสัตว์ และฟางข้าว แต่มีหลายสูตรสำหรับการเน้นสารต่าง ๆ เช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม เป็นต้น ทั้งยังเป็นกาแฟที่ปลูกในป่า หรือปลูกใต้ร่มไม้ใหญ่ตามธรรมชาติ

ยิ่งไปกว่านั้นดอยมณีพฤกษ์พื้นที่ปลูกของกาแฟเดอม้ง ยังมีลักษณะเด่นสำคัญ คือ มีดินภูเขาไฟ ที่เหมาะสมกับการปลูกกาแฟ เพราะมีแร่ธาตุโพแทสเซียมสูง ซึ่งมีเพียง 2 พื้นที่ คือ ดอยช้าง กับดอยมณีพฤกษ์ เท่านั้น ทั้งยังมีอากาศหนาวเย็น สลับฝนตลอดทั้งปีทำให้กาแฟจากดอยมณีพฤกษ์มีทั้งกลิ่นและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!