74 จังหวัดจัดระเบียบสายสื่อสาร โคราชทุ่ม 2.4 พัน ล.ดึงสายไฟลงดิน

เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2562 ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่ 74 จังหวัดทั่วไทย โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) เริ่มลุยคิกออฟ “จัดระเบียบสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า” ที่แสนรกรุงรัง เพื่อสร้างทัศนียภาพที่สวยงาม สร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยส่วนรวม รวมทั้งยังก่อให้เกิดความมั่นคงในระบบจำหน่ายไฟฟ้าของ PEA ตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทย โดยจะดำเนินการรื้อถอนสายสื่อสารและอุปกรณ์สื่อสารที่ไม่ได้รับอนุญาตติดตั้งบนเสาไฟฟ้าของ PEA พร้อมดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำการละเมิดนั้น

นครศรีฯจัด 14 จุดเสร็จปี’63

สำหรับจังหวัดนครศรีธรรมราช มีโครงการจัดระเบียบสายสื่อสารทั้งจังหวัด 14 จุด โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. 62 ตามแผนคาดว่าจะเสร็จสิ้นประมาณกลางปี 2563

โดยนายขจรเกียรติ รักพานิชมณี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า เนื่องจากทาง PEA เห็นว่าปัญหาความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยของสายสื่อสารโทรคมนาคมเป็นปัญหาที่ถูกสั่งสมมานานและขาดการดูแล ส่งผลต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและความไม่สวยงาม ดังนั้น PEA ในฐานะที่เป็นเจ้าของเสาไฟฟ้าที่ให้บริการพาดสายและติดตั้งอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้ง 74 จังหวัดทั่วประเทศ อำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการสื่อสารโทรคมนาคม โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนร่วมกัน เช่น การบูรณาการใช้ทรัพย์สิน คือเสาไฟฟ้าร่วมกัน เป็นการบริหารการใช้งานทรัพยากรที่มีอย่างขีดจำกัด, การใช้สายเคเบิลใยแก้วนำแสงหรือโครงสร้างดิจิทัลพื้นฐานร่วมกัน และจะเป็นแรงบันดาลใจทุกภาคส่วนนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้กับระบบโครงข่ายโทรคมนาคม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของโครงข่ายลดจำนวนสายสื่อสารลง

ภูเก็ตรื้อสายบนเสา 3,120 ต้น

ในส่วนจังหวัดภูเก็ตได้วางเป้าหมายการดำเนินงานในระยะแรก จำนวนเสาไฟฟ้า 1,765 ต้น แล้วเสร็จในปี 2562 ระยะที่สอง จำนวน 6 เส้นทาง รวม 1,355 ต้น แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2563 โดย PEA เลือกดำเนินการในเส้นทางที่มีสายเกิน 300 มิลลิเมตรขึ้นไป และมีอุปกรณ์สื่อสารอยู่แล้ว จะเลือกมาดำเนินการก่อนในปีนี้ เส้นทางหลักคือถนนแม่หลวน ต้องแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2562 และถนนเทพกระษัตรี ต้องแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2562 และให้แต่ละค่ายสื่อสารที่มีจำนวน 12-13 โอเปอเรเตอร์นับหลายพันเส้น ให้ไปมาร์กสายที่ใช้งาน ถ้าสายใดไม่ได้มาร์กไว้ถือว่าเป็นสายตายต้องเอาลงทั้งหมดเพื่อลดจำนวนสายที่มีอยู่บนเสาไฟฟ้า ต่อจากนั้นจะเป็นกระบวนการยุบรวมสายสื่อสารให้มีสายคงเหลือเป็นไปตามมาตรฐานของ PEA ในที่สุด

โดยนายวิชาญ แพร่นาม ผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ด้วยสภาพความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยของสายสื่อสาร เป็นปัญหาที่สะสมมาเป็นระยะเวลานาน ยากต่อการแก้ไขให้สำเร็จลุล่วงในเวลาอันรวดเร็วโดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเพียงลำพัง ที่ผ่านมา PEA ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาด้วยหลากหลายวิธี ทั้งการนำสายลงใต้ดินและการแก้ไขปัญหาสายบนเสา แต่การนำสายลงใต้ดิน ต้องใช้งบประมาณสูง จึงทำได้เพียงพื้นที่สำคัญ ๆ บางส่วนเท่านั้น โดยมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาที่เสาไฟฟ้าเป็นหลัก เพื่อเป็นมาตรฐานการดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งประเทศ โดยทาง PEA เริ่มดำเนินการไปก่อน ส่วนค่าใช้จ่ายจะหารือกันในภายหลัง โดยค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งจะเรียกเก็บจากเจ้าของสายสื่อสาร แต่ละค่ายต้องรับผิดชอบ

โคราชทุ่ม 2.4 พัน ล.ดึงลงดิน

ด้านจังหวัดนครราชสีมาเร่งดำเนินตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560 ให้ PEA ดำเนินโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าใน 4 เมืองใหญ่ ระยะที่ 1 ได้แก่ เทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลนครนครราชสีมา เมืองพัทยา และเทศบาลนครหาดใหญ่ ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (2559-2563) วงเงินลงทุน 11,668.56 ล้านบาท

โดยนายนุกูล ตูพานิช ผู้ช่วยผู้ว่าการก่อสร้างและบริหารโครงการ PEA กล่าวว่า ในส่วนของเทศบาลนครนครราชสีมาได้รับวงเงินลงทุน 2,433,000,000 บาท

นายจาตุรงค์ สุขะเสน ผู้อำนวยการไฟฟ้าเขต PEA เขต 3 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า แผนการดำเนินงานเทศบาลนครราชสีมา ระยะที่ 1 แบ่งเป็น 6 ลอต รวม 17.37 วงจรกิโลเมตร โดยปี 2562 การเดินหน้าโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ ระยะที่ 1 ลอตที่ 1 และ 2 ในเขตพื้นที่เทศบาลนครราชสีมา รวมระยะทาง 4.24 กิโลเมตร ในช่วงระยะเวลาดำเนินการจะขุดวางท่อร้อยสายและติดตั้งโครงข่าย เปิดผิวดิน และปิดช่องทางการจราจรบางส่วน ตามช่วงเวลาก่อสร้างในเวลากลางคืน 21.00 น.-04.00 น. จะไม่กระทบต่อการจราจร จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ไม่เกินเดือนกันยายน 2563

นายศรีธร ญาณะนันท์ ผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงรายละเอียดและเส้นทาง ดังนี้ การดำเนินงานจะแบ่งออกเป็นทั้งหมด 6 ลอต ในปี 2562 PEA จะดำเนินการ 2 ลอต เริ่มจากลอตที่ 2 ก่อน ซึ่งได้เริ่มงานเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2562 ลอตที่ 2 ประกอบด้วย ถนนสุรนารี ถนนบุรินทร์ ถนนพิบูลละเอียด ถนนโพธิ์กลาง ถนนจอมสุรางค์ยาตร์ รวมระยะทาง 2.58 วงจรกิโลเมตร เริ่มจากถนนจอมสุรางค์ยาตร์ และถนนโพธิ์กลาง ซึ่งสถานะปัจจุบันกำลังดำเนินการอยู่ระหว่างนี้ สำหรับลอตที่ 1 ได้แก่ ถนนชุมพลและถนนราชดำเนิน รวมระยะทาง 1.66 วงจรกิโลเมตร ตั้งเป้าหมายจะแล้วเสร็จภายในปี 2563