โคโรน่า-ภัยแล้ง ฉุดเศรษฐกิจภาคเหนือทรุด “หนี้ครัวเรือน” พุ่ง 80%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือ ไตรมาส 4 ปี 2562 โดยฉายภาพประเด็นสำคัญของเศรษฐกิจทั้งระบบที่หดตัวอย่างต่อเนื่องทุกภาคการผลิต และยังคงมีผลมาถึงไตรมาสที่ 1 ปี 2563 โดยเฉพาะปัจจัยเสี่ยงเรื่องภัยแล้ง ที่จะเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจให้ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ไวรัสโคโรน่า คืออีกปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่จะส่งผลให้ธุรกิจท่องเที่ยวของภาคเหนือหดตัวอย่างมีนัยสำคัญ

นายโอรส เพชรเจริญ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ เปิดเผยว่า จากภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/2562 ที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประเทศไทยถือเป็นฐาน Supply Chain ที่สำคัญ เมื่อเผชิญกับปัจจัยภายนอกประเทศทั้งสถานการณ์การกีดกันทางการค้า สถานการณ์ Brexit ที่ยังไม่ชัดเจนมากนัก ประกอบกับสถานการณ์ภัยแล้ง และ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ที่ยังไม่ประกาศใช้ จึงส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในภาพรวมชะลอตัว โดยพบว่าภาคการส่งออก การบริโภคภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม การลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ อยู่ในภาวะชะลอตัวและหดตัวต่อเนื่อง

ทั้งนี้ จากภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยรวม ก็ทำให้เศรษฐกิจภาคเหนือ ไตรมาส 4 ปี 2562 ชะลอตัวเช่นเดียวกัน ตามกำลังซื้อที่ไม่เข้มแข็ง การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลดลง ทั้งในกลุ่มสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันและสินค้าคงทน จากกำลังซื้อที่อ่อนแรงตามปัจจัยด้านรายได้ของลูกจ้างทั้งในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังแผ่วอยู่ ขณะที่รายได้ภาคเกษตรหดตัวจากผลผลิตสำคัญ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอ้อยโรงงาน ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ซึ่งข้าวและอ้อยโรงงานมีสีดส่วนการผลิตราว 70% ของผลผลิตเกษตรในภาคเหนือ มีผลผลิตลดลง 2.8%

ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวชะลอลง จากปัจจัยด้านวัตถุดิบทางการเกษตรที่ลดลงจากภัยแล้งและความต้องการจากต่างประเทศที่ลดลง โดยเฉพาะหมวดชิ้นส่วนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนการลงทุนภาคเอกชนก็อยู่ในภาวะหดตัวต่อเนื่อง จากสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศที่อยู่ในภาวะชะลอตัว เห็นชัดเจนคือภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยทรงตัวในระดับต่ำ การลงทุนใหม่ลดลง โดยพื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างหดตัวลง 9% และมีอุปทานคงค้างสะสมยังอยู่ในระดับสูงทั้งอาคารพาณิชย์และคอนโดฯ ขณะเดียวกันด้านรายจ่ายลงทุนของภาครัฐก็มีบทบาทจำกัดต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ปี 2563 ยังไม่ประกาศใช้

สำหรับภาคการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ แต่แผ่วลงจากนักท่องเที่ยวจีนเป็นสำคัญ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว ทำให้ชาวจีนเดินทางออกนอกประเทศลดลง ขณะที่นักท่องเที่ยวชาติอื่น อาทิ เกาหลีใต้และไต้หวันขยายตัวดี จากการมีเส้นทางการบินใหม่ที่เปิดมายังภาคเหนือเพิ่มขึ้น

นายโอรสกล่าวต่อว่า แนวโน้มเศรษฐกิจภาคเหนือในระยะต่อไป โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 1 ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเผชิญหลายด้าน ประการแรกคือ ภาระหนี้ครัวเรือนของประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 80% ต่อ GDP ซึ่งสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของภาคเหนือได้ขยับสูงขึ้นถึง 80% แล้วเช่นกันในขณะนี้ โดยพบว่าตัวเลขหนี้ครัวเรือนของภาคเหนือสูงมาโดยตลอด ส่วนใหญ่เป็นหนี้จากบัตรเครดิตและสินเชื่อเงินสด ซึ่งเมื่อมีหนี้เพิ่มขึ้น การใช้จ่ายก็ลดลง สินค้าก็ขายได้น้อยลง กระทบการใช้จ่ายด้านอื่นๆเป็นลูกโซ่ เป็นปัจจัยที่ค่อนข้างน่ากังวล

ประการที่สอง ความเสี่ยงเรื่องรายได้ภาคเกษตร ซึ่งประเมินว่าไตรมาส 1 นี้ รายได้เกษตรกรจะไม่ดีนัก จากปัญหาภัยแล้งที่จะทำให้ผลผลิตลดลง โดยเฉพาะข้าวนาปรัง

ประการที่สามคือ ภาคการท่องเที่ยวที่ต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงจากผลกระทบของไวรัสโคโรน่า ที่จะส่งผลอย่างมากต่อธุรกิจท่องเที่ยวทั้งระบบ โดยนักท่องเที่ยวจีนเป็น 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เข้ามาเชียงใหม่และภาคเหนือ ถือเป็นสัดส่วนตลาดขนาดใหญ่ ซึ่งเมื่อนักท่องเที่ยวจีนหายไป รายได้การท่องเที่ยวในส่วนนี้ก็จะหายไป 1 ใน 3 นับเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่จะส่งผลให้ธุรกิจท่องเที่ยวของภาคเหนือหดตัวอย่างมีนัยสำคัญ และน่าห่วง