อีสานเจอวิกฤต 3 เด้งสูญหลายหมื่นล. พิษ “เศรษฐกิจ-ภัยแล้ง-ไวรัสโควิด” เบรคธุรกิจพัง

ชะลอซื้อ - หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมในจังหวัดอุดรธานี เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ทางจังหวัด โดยคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อประกาศปิดสถานที่เสี่ยงต่างๆ รวมถึงธุรกิจห้างสรรพสินค้า ยกเว้นในส่วนซุปเปอร์มาร์เก็ตให้เปิดได้ปกติ

เศรษฐกิจอีสานประสบวิกฤต 3 เด้ง พิษเศรษฐกิจซบเซา ภัยแล้ง ล่าสุดเจอโรคโควิด-19 แพร่ระบาด คาดสูญหลายหมื่นล้าน หลังรัฐบาลออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชงจังหวัดประกาศปิดสถานที่เสี่ยงต่าง ๆ ทั้งสถานบริการ สถานบันเทิง ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารห้ามนั่งกิน ฯลฯ พร้อมสั่งปิดด่านชายแดนประเทศเพื่อนบ้านทุกทิศ หวังสกัดการแพร่ระบาด ทำวงจรขับเคลื่อนธุรกิจทุกจังหวัดชะงัก ยอดรายได้ทั้งอีสานวูบ “ห้างดังตั้งงี่สุนอุดรฯ” ชี้ไวรัสทำเศรษฐกิจดิ่งลง 20-30% ลากยาว

นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หอการค้าไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือปัจจุบันถือว่าอยู่ในสภาวะย่ำแย่ หลังจากที่ประสบปัญหาซบเซาจากพิษเศรษฐกิจโลก ซึ่งได้รับผลกระทบทั้งประเทศ ตอนนี้มีการระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 เพิ่มเข้ามา การจับจ่ายใช้สอยของผู้คนเริ่มลดน้อยลง จังหวัดในแถบชายแดนปิดด่าน ตรวจคนเข้าออกอย่างเข้มงวดมากกว่าเดิม ก่อนหน้านี้ด้านการค้าขายมีผู้คนบางตา อย่างในจังหวัดอุดรธานี ประชาชนจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาซื้อสินค้าลดลงมาก ส่วนคนไทยเองก็กักตัวอยู่ในบ้าน ทุกคนล้วนกังวลเกี่ยวกับการติดเชื้อ คาดว่าสถานการณ์นี้จะสร้างมูลค่าความเสียหายให้กับเศรษฐกิจของภาคอีสานหลายหมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจของภาคอีสานเคยถูกคาดการณ์ไว้ว่าจะโตขึ้นประมาณ 2% แต่หลังประกาศเคอร์ฟิวออกมาน่าจะติดลบดิ่งลง 5% อย่างน้อยหรือมากกว่านั้น เพราะภาคการค้าทุกอย่างหยุดชะงัก ภาคธุรกิจปิดตัว ด่านชายแดนถูกปิดลงไปด้วยเช่นกัน ทำให้เศรษฐกิจในช่วงนี้จะส่งผลกระทบซบเซาระยะยาวไปจนถึงสิ้นปี 2563

“ตอนนี้ทุกคนไม่ได้คิดถึงภาวะเศรษฐกิจเท่าไหร่ แต่กังวลเกี่ยวกับการติดเชื้อ ไม่ออกนอกบ้าน กักตัวหลบภัยไวรัสเพื่อเอาตัวรอด ไม่ต่างจากสงครามโลกครั้งที่ 2 หลายหน่วยงานปฏิบัติตามมาตรการรัฐอย่างเคร่งครัด ซึ่งพื้นที่ในภาคอีสานยังถือว่าควบคุมได้อยู่ หากเป็นอย่างนี้ต่อไปคาดว่าเศรษฐกิจจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ แต่อย่าลืมภัยแล้งที่กำลังจะมาถึง หลังจากการระบาดของไวรัสจบลง จะหนักยิ่งกว่า ทำให้ราคาข้าวของแพงขึ้น ส่งผลกระทบเริ่มตั้งแต่เกษตรกรไปจนถึงทุกระบบเศรษฐกิจ ซึ่งน่าเป็นห่วงอย่างมาก”

ขอนแก่นซบงดสัมมนา-อีเวนต์

นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า สำหรับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดนั้น เหตุการณ์ดังกล่าวต้องถือว่าขอนแก่นได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะทุกคนต่างรับรู้ว่าจังหวัดขอนแก่นถูกขับเคลื่อนด้วยอีเวนต์ งานประชุมสัมมนา จัดนิทรรศการ เป็นเมืองไมซ์ซิตี้ ตอนนี้ยากที่จะประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ถือว่าเป็นภาวะที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทางจังหวัดได้ส่งสัญญาณไปถึงนักธุรกิจเอกชนชาวขอนแก่นแล้วว่า อย่าก้มหน้ายอมแพ้ ในวันหนึ่งสถานการณ์ต้องจบ เมื่อจบแล้ว ต้องเตรียมการอย่างไรต่อไป

นางสาวเกษรา สุภัทรพาหิรผล ประธานชมรมผู้ประกอบการค้าอาหารจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า ตั้งแต่เศรษฐกิจซบเซาก่อนหน้านี้ ทำให้ยอดขายลดลงมาเรื่อย ๆ 20-30% เมื่อมาประสบกับโรคโควิด-19 ผู้ประกอบการร้านอาหารต้องลดปริมาณการสั่งวัตถุดิบเพื่อมาทำอาหารด้วย เพราะลูกค้าลดลงกว่า 50% เคยมีรายได้หลักหมื่นบาทต่อวัน ปัจจุบันลดเหลือเพียงหลักพันบาทต่อวัน แม้ยังขายได้บ้าง แต่ถือว่าลำบาก บางร้านรับงานอีเวนต์ถูกยกเลิก เพราะงานถูกเลื่อนตามประกาศ มีร้านอาหารจานเดียวบางแห่งที่ขายได้บ้าง ซึ่งผู้บริโภคใช้บริการดีลิเวอรี่ แม้ร้านอาหารยังเปิดให้บริการได้ตามปกติ แต่เรียกได้ว่าอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องประคับประคองช่วยกันไป

“ตั้งงี่สุน” ชี้ ศก.พัง การค้าดิ่ง

นายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ผู้บริหารตั้งงี่สุน จังหวัดอุดรธานี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา มาจนถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส ทำเศรษฐกิจดิ่งลง 20-30% ของ GDP ฉะนั้นเรื่องเศรษฐกิจในปี 2563 ไม่ดีแน่นอน วันนี้ธุรกิจการบินได้รับผลกระทบกันหมด คนเดินทางไปมาหาสู่กันน้อย ขณะที่ประเทศไทยมีรายได้อันดับ 1 มาจากการท่องเที่ยว ตอนนี้ทุกอย่างหยุด เงินนอกประเทศไม่เข้ามา ส่วนด้านการค้า คนเกิดอาการแพนิก วิตกกังวล

ตั้งแต่มีข่าวผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ประกาศควบคุมสถานการณ์ ในวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา ผู้คนตื่นตระหนกและแห่ซื้อของไม่ขาดสาย ในจังหวัดอุดรธานีกว่า 80% เป็นกลุ่มที่ซื้อของเข้าบ้าน อีก 20% เป็นลูกค้ากลุ่มร้านค้าจากต่างอำเภอที่ซื้อของเข้าร้าน หลังจากนั้นทุกอย่างก็ช้าลง คนบางตา ยอดขายต่อวันหายไป 15-20% เป็นเรื่องปกติ แต่อย่าคาดหวังว่าธุรกิจจะดี ประคองไว้ให้ได้ก่อนดีที่สุดแล้ว

“ตอนนี้ผมพยายามประคองธุรกิจอยู่ โดยราคาสินค้ายังเท่าเดิม แต่ต้องบอกว่าในภาวะนี้ บางบริษัทแย่จริง ๆ ลดเงินเดือน และปลดพนักงาน แต่บางบริษัทยังอยู่ได้ มีกำไรเยอะ แต่กลับอาศัยจังหวะนี้ไปลดค่าใช้จ่าย ซึ่งไม่มีคุณธรรมเกินไป มีกำไรควรต้องช่วยกัน เพราะรอรัฐบาลอย่างเดียวไม่ได้ ปีนี้บริษัทซัพพลายเออร์หลายแห่งอาจจะไม่มีกำไร แต่อย่าลืมว่าคุณได้กำไรมาเป็นสิบปีแล้ว แต่คนก็ยังซื้อของกันอยู่ ต่อให้เป็นแบบนี้ไปสิ้นปีถึงปีหน้า 2564 เราก็ไม่เจ๊งหรอก”

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งรายได้อาจหายไป จากธุรกิจโรงแรม ร้านอาหารที่ถูกปิดลงไปตามประกาศ รวมถึงส่วนที่ส่งผ่านด่านชายแดนไปที่ สปป.ลาว เมียนมา กัมพูชา ส่วนนี้กระทบแน่นอน และราคาสินค้าอาจจะแพงขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน เพราะคาดว่ามีการลักลอบนำข้ามไปอยู่จากกลุ่มที่ฉวยโอกาสยามวิกฤต

“นอกจากการระบาดของไวรัสโควิดแล้ว ปีนี้ภัยแล้งจะมาซ้ำเติมแน่นอน เป็นเหมือนทุกปีที่เศรษฐกิจจะเงียบ ส่วนมาตรการรัฐกระตุ้นได้บ้าง แต่สุดท้ายไปไม่สุด และปีนี้ปีหน้ากำไรหรือเปล่าไม่รู้ รู้เพียงแต่ว่าต้องประคองตัวไปก่อน ไม่ต้องคิดเยอะครับ สู้อย่างเดียว ตอนนี้คนกักตุนสินค้ามีแรงกระตุ้นในการซื้อ แต่อีก 1-2 เดือนจะเป็นอย่างไร ผมก็ไม่กล้าทำนาย หากทุกอย่างมันร่วงลงจะเห็นได้ชัด สมมติว่าถ้าผ่านการระบาดของไวรัสช่วงนี้ไปได้ แต่จะมั่นใจได้อย่างไรว่ามันจะไม่กลับมาอีก”