โรงแรมเชียงใหม่-เชียงราย-ตราดปิดเอง “โฟร์ซีซั่นส์-แชงกรี-ลา” ดิ้นรัฐอุ้มพิษโควิด

โรงแรมเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนัก ตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยมาถึงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวทั้งต่างชาติและคนไทยมาพักจนต้องหยุดกิจการชั่วคราว พนักงานตกงานจำนวนมากเพราะโรงแรมแบกรับภาระไม่ไหว ดังนั้น โรงแรมเกือบทุกจังหวัดจึงต้องการเรียกร้องให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ โดยผ่านทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดให้สั่งปิดกิจการ ซึ่งหลายจังหวัดผู้ว่าฯสั่งปิดไปแล้ว ขณะที่อีกหลายจังหวัดยังไม่เห็นด้วย แต่ล่าสุดรัฐบาลกำลังหารือที่จะออกมาตรการอีกลอตใหญ่เข้ามาช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งระบบ โดยเฉพาะบรรดาพนักงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมถึงพนักงานโรงแรม

50 รร. 5-6 ดาวเชียงใหม่ปิดตัว

นางละเอียด บุ้งศรีทอง นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคเหนือ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ขยายวงกว้างและส่งผลกระทบรุนแรงต่อผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม โดยขณะนี้โรงแรมขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก ตั้งแต่โฮสเทลถึงโรงแรมระดับ 6 ดาว มากกว่า 50 แห่ง มีการประกาศหยุดให้บริการชั่วคราว เนื่องจากผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในส่วนของพนักงานในอัตราที่สูงมาก ในสภาวะที่ไม่มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการเลย

ดังนั้น เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2563 ทางสมาคมได้ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้มีการพิจารณาสั่งปิดกิจการโรงแรมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ประมาณ 2,000 แห่ง คิดเป็นจำนวนห้องพักมากกว่า 60,000 ห้อง เพื่อให้ภาครัฐเข้ามาเยียวยาในส่วนของค่าชดเชยพนักงานที่มีจำนวนรวมกันกว่า 10,000 คน แต่จนถึงขณะนี้ทางจังหวัดยังไม่มีการสั่งปิดกิจการโรงแรม

“ปกติจังหวัดเชียงใหม่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่อปีมากกว่า 12 ล้าน แต่ปรากฏว่าตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคมนักท่องเที่ยวทยอยลดลง ดังนั้น โรงแรมที่เป็นสมาชิกของสมาคมโรงแรมไทยภาคเหนือ ซึ่งมีราว 70 โรงแรม ได้ปิดดำเนินการแล้วกว่า 90% ขณะที่โรงแรมที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคมปิดดำเนินการเกือบ 100% เนื่องจากลูกค้าเป็นศูนย์ การปิดบริการจะเป็นการหยุดค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับ”

สำหรับโรงแรมในจังหวัดเชียงใหม่ที่เริ่มหยุดให้บริการชั่วคราว ขณะนี้มีราว 50 โรงแรม โดยมีโรงแรมระดับ 5-6 ดาวรวมอยู่ด้วย อาทิ โรงแรม Four Season หยุดให้บริการชั่วคราว 1 เมษายน-31 พฤษภาคม 2563, โรงแรม Rati Lan-na Riverside Spa Resort หยุดให้บริการชั่วคราวเดือนเมษายน, โรงแรม Shangri-La หยุดให้บริการชั่วคราว 1-30 เมษายน เป็นต้น

นางละเอียด กล่าวต่อไปว่า ปกติจังหวัดเชียงใหม่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่อปีมากกว่า 12 ล้าน แต่ปรากฏว่าตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคมนักท่องเที่ยวทยอยลดลง ทั้งนี้ โรงแรมส่วนใหญ่ปิดดำเนินการชั่วคราวตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไปถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งหลังจากเดือนพฤษภาคมมองดูสถานการณ์ในระยะต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร และส่วนใหญ่ไม่ได้ระบุช่วงเวลาที่จะเปิดดำเนินการ จึงนับเป็นแรงสะเทือนของวิกฤตโควิด-19 ต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของเชียงใหม่อย่างหนัก

นางละเอียด กล่าวว่า ในส่วนของโรงแรมรติล้านนาฯ ซึ่งเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาว ก็ปิดดำเนินการชั่วคราวเช่นกัน โดยพนักงานของโรงแรมมีทั้งหมด 150 คน แบ่งให้พนักงานประมาณ 50% มาทำงาน ช่วยกันดูแลทำความสะอาดห้องพัก บริเวณอาคาร และทำแปลงผักอินทรีย์ โดยลดเงินเดือนลง 25% และเลี้ยงอาหารพนักงานทุกคน ส่วนพนักงานอีก 50% ให้ใช้วันลาและลาพักร้อน อย่างไรก็ตาม คาดว่าเดือนมิถุนายนจะเริ่มเห็นทิศทางว่าสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 จะคลี่คลายหรือไม่

ด้าน นายพิชัย จาวลา กรรมการบริหารกลุ่มจาวลาเชียงใหม่ กรุ๊ป ผู้บริหารโรงแรม B2 กล่าวว่า เครือโรงแรม B2 ทุกสาขาทั่วประเทศที่มีจำนวน 43 สาขา หยุดให้บริการชั่วคราวทุกสาขาตั้งแต่วันที่ 1-30 เมษายน 2563 เนื่องจากลูกค้าทยอยลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมีนาคม ซึ่งการหยุดให้บริการของโรงแรม B2 ในเดือนเมษายนมีมูลค่าความเสียหายกว่า 20 ล้านบาท

“เชียงราย” มีมติไม่ปิดโรงแรม

ขณะที่สมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือจังหวัดเชียงราย ได้ยื่นหนังสือต่อทางจังหวัดขอให้มีคำสั่งปิดการดำเนินการโรงแรมจำนวน 99 แห่ง เนื่องจากอัตราการเข้าพักน้อยแทบจะเกือบ 100% เพื่อทำให้ผู้ประกอบการสามารถใช้สิทธิเพื่อขอรับการเยียวยาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น ปรากฏว่าที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 มีมติ 13 เสียง ต่อ 10 เสียง เห็นว่าไม่จำเป็นต้องมีคำสั่งให้หยุดกิจการเฉพาะกลุ่มโรงแรมที่ยื่นข้อเสนอมา และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทำการเยียวยาตามความเหมาะสม

ปัจจุบัน จ.เชียงรายมีโรงแรมและที่พักรวมกันทั้งหมด 664 แห่ง มีห้องพักรวม 17,003 ห้อง แบ่งเป็นที่พักที่ขึ้นทะเบียนถูกต้อง 410 แห่ง รวมห้องพัก 13,072 ห้อง ที่พักที่ไม่ได้ลงทะเบียนอีกกว่า 254 แห่ง รวมห้องพัก 3,931 ห้อง มีลูกจ้างที่อยู่ในระบบที่ลงทะเบียนอย่างถูกต้องประมาณ 5,000 คน

โรงแรมตราดปิดกว่า 70%

ขณะที่ 3 องค์กรด้านการท่องเที่ยวจังหวัดตราดประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดตราด, สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดตราด และสมาคมโรงแรมและรีสอร์ทจังหวัดตราด ได้ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 เสนอให้มีมาตรการปิดสถานบริการที่พักทุกประเภท เพื่อให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเยียวยาพนักงานและผู้ประกอบการให้ได้รับเงินประกันสังคม มีรายได้พอจะอยู่รอดในภาวะวิกฤต แต่ถึงวันนี้ (9 เม.ย. 63) ทางจังหวัดยังไม่มีคำสั่งปิด

โดยผู้ว่าฯตราดได้แจ้งว่า ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังไม่ปรากฏการติดเชื้อในพื้นที่จังหวัดตราด จึงยังไม่มีความรุนแรงถึงขนาดเป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่ผู้ว่าฯจะใช้อำนาจสั่งปิดสถานประกอบการ หรือสถานที่ซึ่งมีคนจำนวนมากไปทำกิจกรรมร่วมกันและเสี่ยงต่อการแพร่โรค

แต่เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2563 คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดตราด ได้มีคำสั่ง “ปิดเมือง” ห้ามบุคคลทั่วไปเดินทางเข้ามาพื้นที่จังหวัดตราด หลังพบนักท่องเที่ยวชาวอินเดีย 3 คนที่มีไข้สูงเกิน 37.5 เดินทางจาก กทม.ไปถึงเกาะช้างได้

นายสุขสันต์ ก่อสง่าลักษณ์ นายกสมาคมโรงแรมและรีสอร์ทจังหวัดตราด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โรงแรม และรีสอร์ตในจังหวัดตราดได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า และได้ทยอยปิดตัวกันเพราะนักท่องเที่ยวที่จองไว้ยกเลิก ส่วนนักท่องเที่ยวใหม่ไม่เดินทางมาโดยเฉพาะตามเกาะ เช่น เกาะช้าง เกาะหมาก เกาะกูด ทยอยกันปิดตัวเองตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม และบางแห่งปิดเดือนเมษายน-พฤษภาคม เพราะมีประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และจังหวัดตราดปิดจังหวัดเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2563 มีผลทำให้โรงแรมที่พักต้องหยุดกิจการชั่วคราวกว่า 200 แห่งทั่วจังหวัดตราด หรือประมาณ 70% แต่ละแห่งมีพนักงานตั้งแต่ 2-3 คนไปถึงเกือบ 200 คน โรงแรมเล็ก ๆ โฮมสเตย์ถึงโรงแรมใหญ่ระดับ 5 ดาวที่ปิดไป เช่น ดิ เอมเมอรัลด์ โคฟ เกาะช้าง พนักงาน 160 คน ที่เหลือเป็นโรงแรม 4 ดาว เดอะอัยยะปุระ 100 คน เกาะช้างคลองพร้าวรีสอร์ท 120 คน และสปา คชารีสอร์ท 160 คน เกาะช้างพาราไดซ์ รีสอร์ท 86 คน

“ตอนนี้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวโรงแรม ที่พัก ขาดสภาพคล่อง โรงแรมใหญ่ ๆ บางแห่งต้องแบกรับค่าใช้จ่ายหลายด้านเดือนละกว่าล้านบาท ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา โดยเฉพาะค่าจ้างพนักงานบางแห่งมี 90-160 คน คาดว่าจะมีทุนสำรองกันไม่เกิน 2 เดือน ซึ่งสมาคมต้องการให้ภาครัฐมาเยียวยาเพราะเราส่งเงินประกันสังคมปีละ 1-3 ล้านบาท มียอดเงินสะสม 10-20 ล้านบาท หากจังหวัดมีคำสั่งปิดโรงแรม ผู้ประกอบการ พนักงาน จะมีสิทธิได้รับเงินประกันสังคม และมีเงินทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการเกิดสภาพคล่อง ไม่เกิดหนี้ NPL ทำให้สามารถประคับประคองกิจการไปได้ และกลับมาฟื้นฟูได้หลังวิกฤตนี้ผ่านไป” นายสุขสันต์กล่าว

จากการสำรวจของประชาชาติธุรกิจ ข้อมูลจำนวนโรงแรมจังหวัดตราดทั้งหมดประมาณ 500 แห่งปิดตัวไปแล้วประมาณ 65- 70% คือ ที่เกาะช้าง 142 แห่ง เกาะหมาก 35 แห่ง เกาะกูด 87 แห่ง และบนฝั่ง 27 แห่ง แบ่งเป็นโรงแรมระดับ 2-4 ดาว 17 แห่ง และ 1 ดาว และเกสต์เฮ้าส์ รวม 10 แห่ง