ค้าชายแดนหนองคาย 6 หมื่นล้านเดี้ยง กักตัว 14 วัน ธุรกิจชะงัก

ปิดด่านกระทบ - ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจค้าชายแดนในจังหวัดหนองคาย กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมาตรการปิดด่านชายแดนไทย-สปป.ลาว บริเวณจังหวัดหนองคาย เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19

ผู้ประกอบการและนักธุรกิจหนองคาย ยื่นหนังสือถึงรัฐบาลให้ช่วยเจรจาผ่อนปรนการดำเนินการทำธุรกิจกับ สปป.ลาวหลังได้รับผลกระทบจากการปิดด่านพรมแดนและมาตรการกักตัวโควิด-19 ของทั้งสองประเทศ หวั่นส่งผลกระทบยอดค้าชายแดนระหว่างไทย-ลาว ปีละกว่า 6 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะมาตรการกักตัวไป-กลับ 14 วัน ทำให้ไม่สะดวกต่อการทำธุรกิจ

นางมนนิภา โกวิทศิริกุล ประธานหอการค้าจังหวัดหนองคาย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจค้าชายแดนในจังหวัดหนองคาย กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมาตรการปิดด่านชายแดนที่เข้มงวด เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อนักธุรกิจชายแดนที่จังหวัดหนองคาย ซึ่งบางคนไม่สามารถทำธุรกิจกับนักธุรกิจชาวลาวได้เหมือนปกติ ประกอบกับมาตรการที่รัฐบาลทั้งสองประเทศกำหนด โดยเฉพาะมาตรการกักตัวทั้งไปและกลับคราวละ 14 วัน ทำให้ไม่สะดวกต่อการทำธุรกิจ รวมถึงนักธุรกิจหลายคนยังค้าขายได้ แต่ไม่สามารถนำเงินกลับเข้าประเทศได้ ประกอบกับค่าธรรมเนียมธนาคารต่างประเทศมีอัตราสูง และทางธนาคารใน สปป.ลาวขาดสภาพคล่อง ยิ่งส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจในระบบด้วย นอกจากนี้ ยังประสบปัญหาด้านการกระจายผลผลิตทางการเกษตร

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการค้าชายแดนรายหนึ่ง เปิดเผยว่า การปิดจุดผ่อนปรนด่านท่าเรือหายโศก และด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 ห้ามไม่ให้คนข้าม ให้เฉพาะรถขนส่งสินค้าข้ามด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 ได้ ทำให้ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการค้าชายแดนทันที เนื่องจากผู้ประกอบการชาวลาวไม่สามารถนำเงินสดข้ามมาฝากที่ธนาคารฝั่งไทย เพื่อที่จะโอนต่อจ่ายค่าสินค้าให้กับผู้ประกอบการไทยได้ ผู้ประกอบการไทยจะข้ามไปเพื่อเก็บเงินก็ไม่ได้ เนื่องจากจะต้องถูกกักตัวทั้งฝั่ง สปป. และกลับมาฝั่งไทยก็จะต้องถูกกักตัวอีก ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยไม่มีเงินหมุนเวียน ผู้ประกอบการชาวลาวบางรายได้ใช้วิธีการฝากเงินมากับรถขนส่งสินค้าที่มีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ให้นำเงินมาฝากบัญชีที่ฝั่งไทยให้เพื่อที่จะได้โอนต่อจ่ายค่าสินค้าให้กับผู้ประกอบการไทย แต่ก็มีส่วนน้อยที่เลือกวิธีการนี้ เพราะเป็นวิธีการที่เสี่ยงมาก จึงอยากให้ทางรัฐบาลแก้ไขปัญหาเรื่องเหล่านี้โดยด่วน รวมถึงการเข้าไปเจรจากับรัฐบาล สปป.ลาวเรื่องมาตรการกักตัว

“ที่ผ่านมาการจ่ายเงินในการค้าขายชายแดนระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้ประกอบการชาวลาว ส่วนใหญ่จ่ายกันเป็นเงินสด หรือผู้ประกอบการชาวลาวได้นำเงินสดข้ามมาเปิดบัญชีไว้ที่ธนาคารในฝั่งไทยโดยเฉพาะธนาคารในจังหวัดหนองคาย ทั้งที่ตั้งอยู่นอกห้างสรรพสินค้า และตั้งอยู่ภายในห้างสรรพสินค้า เมื่อมีการซื้อ-ขายสินค้ากันจะใช้การโอนเงินจากบัญชีที่เปิดไว้ที่ประเทศไทย ทำให้ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ซึ่งหากเป็นการโอนเงินจากธนาคารใน สปป.ลาวจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมสูง คือโอนไม่เกิน 1 ล้านบาทจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 1,200-1,500 บาท และยังมีข้อจำกัดปลีกย่อยอีกมากที่ยุ่งยาก ทำให้ผู้ประกอบการไม่ค่อยเลือกใช้การโอนเงินแบบนี้ เนื่องจากการค้าชายแดนส่วนใหญ่มีมูลค่าหลักหมื่นหลักแสนบาทเท่านั้น ไม่ค่อยมีถึงหลักล้านบาท กำไรก็ไม่ได้มากมาย หากต้องเสียค่าธรรมเนียมแพงจะไม่เหลืออะไรเลย”

ทางด้านนายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางจังหวัดได้รับทราบปัญหาของผู้ประกอบการและนักธุรกิจในจังหวัดหนองคาย ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดด่านชายแดนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แล้ว ได้ขอให้ภาคเอกชนในจังหวัดทั้งหอการค้า สภาอุตสาหกรรมฯ สมาคมส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดหนองคาย รวมไปถึงภาคเอกชนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ประชุมสรุปปัญหาและความต้องการส่งให้กับทางจังหวัด เพื่อทางจังหวัดจะได้ส่งต่อไปยังรัฐบาลเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขหรือให้การช่วยเหลือต่อไป

รายงานข่าวจากด่านศุลกากรหนองคายระบุว่า ในปีงบประมาณ 2562 ด่านศุลกากรหนองคายมียอดมูลค่าการนำเข้า-ส่งออกระหว่างไทยกับ สปป.ลาวรวม 64,910.74 ล้านบาท เทียบกับปีงบประมาณ 2561 ที่มีมูลค่าการนำเข้า-ส่งออกรวม 60,474.070 ล้านบาท เพิ่มมากขึ้นถึง 4,436.67 ล้านบาท โดยแยกเป็นมูลค่าการส่งออก 55,326.684 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2561 ถึง 3,670.638 ล้านบาท และนำเข้าจาก สปป.ลาว 9,584.056 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2561 เพียง 766.032 ล้านบาท ซึ่งในปีงบประมาณ 2561 มีมูลค่ารวม 60,474.070 ล้านบาท แยกเป็นมูลค่าส่งออก 51,656.046 ล้านบาท และนำเข้าจาก สปป.ลาว 8,818.024 ล้านบาท

สำหรับสินค้าที่ส่งออกไป สปป.ลาวนั้น ส่งออกมากที่สุด คือ น้ำมันเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ที่มีมูลค่าส่งออก 9,454.87 ล้านบาท อันดับ 2 เป็นรถยนต์นั่งพร้อมเครื่องปรับอากาศขับเคลื่อน 4 ล้อ มูลค่าส่งออก 3,973.50 ล้านบาท และอันดับ 3 เป็นเครื่องดื่มรวมน้ำอัดลม มูลค่าการส่งออก 1,380.47 ล้านบาท ส่วนสินค้านำเข้าสูงสุด คือ พลังงานไฟฟ้า ที่มีมูลค่าสูงถึง 5,649.50 ล้านบาท อันดับ 2 เป็นชุดสายไฟสำเร็จรูป/สายเคเบิล มีมูลค่า 778.89 ล้านบาท และอันดับ 3 เป็นพื้นรองเท้าด้านนอกและสันรองเท้าทำด้วยยาง/พลาสติก มีมูลค่านำเข้า 384.92 ล้านบาท


จากข้อมูลของด่านศุลกากรหนองคายยังพบอีกว่า หลังจากที่จังหวัดหนองคายและ สปป.ลาวได้ปิดจุดผ่อนปรนและจุดผ่านแดนชั่วคราว รวมไปถึงด่านท่าเรือหายโศกในเขตเทศบาลเมืองหนองคายมาตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2563 ห้ามการผ่านเข้า-ออกทั้งรถทั้งคน รวมไปถึงห้ามขนส่งสินค้า ทำให้รถขนส่งสินค้าที่ผ่านเข้า-ออกด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 จังหวัดหนองคาย เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 20% และวันที่มีรถขนส่งสินค้ามากที่สุด คือ วันจันทร์และวันศุกร์ มีจำนวน 600-700 คัน ส่วนในวันธรรมดาจะมีจำนวน 30-400 คัน