ฝนทิ้งช่วงส่งสัญญาณวิกฤตภัยแล้ง แห่ปลูกข้าวดึงน้ำ-ทำประปากร่อย

ทีมกรุ๊ปชี้สถานการณ์น้ำ หวั่นฝนทิ้งช่วง 4 เขื่อนหลักเหลือน้ำไม่ถึง 1,000 ล้าน ลบ.ม. ชาวนายังแห่ปลูกข้าว ภาคเกษตรกระทบหนัก ต้องกันน้ำไว้ใช้และไล่น้ำเค็มไม่ให้ถึง “สำแล” แหล่งสูบน้ำประปาของคนกรุงเทพฯ ลุ้นมีพายุเติมน้ำลงเขื่อน อีสานอ่วม “เขื่อนจุฬาภรณ์-อุบลรัตน์” ต้องใช้น้ำก้นอ่าง

นายชวลิต จันทรรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ หรือ TEAMG ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำของประเทศ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในปี 2563 ว่า หลังจากไทยเข้าสู่ฤดูมรสุมเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา ปรากฏตอนนี้ร่องมรสุมพัดผ่านภาคกลาง เหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ได้เคลื่อนผ่านไปที่ประเทศจีนแล้ว ส่งผลทำให้ปีนี้มีปริมาณฝนน้อยในประเทศ ประกอบกับช่วงต่อจากนี้ไปจะเกิดปรากฏการณ์ “ฝนทิ้งช่วง” ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมต่อเนื่องไปจนถึงช่วงกลางเดือนสิงหาคม หรือหลังวันแม่ จึงจะมีปริมาณฝนกลับมาตกอีกครั้ง โดยอาจจะมีข่าวดีว่าฝนจะตกมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2563

“ปีที่ผ่านมาปริมาณฝนภาคเหนือน้อยกว่าปกติถึง 15% ภาคกลางก็แย่ มีปริมาณฝนแค่ 950 มิลลิเมตร จากปกติที่เคยมี 1,270 มิลลิเมตร จึงค่อนข้างแล้ง ส่วนปีนี้ภาคกลางฝนจะตกน้อยตอนต้นฤดู และต้องรอจนถึงหลังวันแม่ฝนจะมากขึ้น ส่วนภาคอีสานปีที่ผ่านมาฝนตกลดลง 13% จากปกติ 1,400 มิลลิเมตร ส่วนต้นฤดูปีนี้ค่อนข้างดี คาดว่าปีนี้ภาคอีสานจะมีฝนตกทั่วถึง” นายชวลิตกล่าว

ภาวนาขอพายุจรเข้าไทย

อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลต่อภัยแล้งที่เกิดตั้งแต่ปี 2562 ที่เกิดปรากฏการณ์ “น้ำน้อย ฝนน้อย” ไม่เพียงพอต่อการอุปโภค-บริโภคเป็นส่วนใหญ่ ปัจจุบันสภาพคล้ายกันนี้อาจจะเกิดขึ้นจนทำให้เกษตรกรไม่สามารถปลูกข้าวได้ตามปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่อาศัยน้ำเพื่อการเกษตรจาก 4 เขื่อนหลัก ซึ่งขณะนี้มีปริมาณน้ำใช้การได้เหลืออยู่เพียง 959 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 5 จากปกติที่ควรจะต้องมีปริมาณน้ำไว้ไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้าน ลบ.ม.ขึ้นไป ซึ่งจะมีผลทำให้กรมชลประทานต้องสั่งปิดการส่งน้ำสำหรับภาคเกษตร เพราะจะต้องเก็บน้ำไว้สำหรับใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก

“นอกจากสถานการณ์โควิดที่จะสร้างความเสียหายแล้ว ภัยแล้งก็จะเป็นสถานการณ์หนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการปลูกข้าวด้วย ตามปกติพื้นที่ปลูกข้าวภาคกลางจะมีประมาณ 14 ล้านไร่ ถึงแม้ว่ากรมชลประทานจะสั่งห้ามทำนา แต่จนถึงวันที่ 15 มกราคม ก็ยังมีการปลูกข้าวไปแล้ว 4 ล้านไร่ ทั้ง ๆ ที่ห้ามปลูก เกษตรกรไม่เชื่อฟังเจ้าหน้าที่ ทำให้น้ำใน 4 เขื่อนหลักถูกดึงไปใช้ จนปัจจุบันมีปริมาณน้ำเหลือแต่ 959 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น”

คำถามก็คือ น้ำที่้เหลืออยู่จะมีเพียงพอหรือไม่ ถ้าเกิดเหตุการณ์ฝนทิ้งช่วงและน้ำในเขื่อนเหลือน้อยลง แน่นอนว่าอาจจะแบ่งน้ำไปให้ภาคการเกษตรไม่ได้ เพราะจำเป็นต้องเก็บน้ำไว้เพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และไล่น้ำเค็มเป็นหลัก ทุกคนคงต้องเน้นเรื่องการประหยัดน้ำ เพราะถ้าต่อจากนี้ไปยังไม่มีพายุจรเข้ามาก็อาจจะมีผลต่อเนื่องไปถึงปี 2564 น้ำเพื่อการเกษตรจะมีปัญหา ซึ่งตามปกติในแต่ละปีจะมีจำนวนพายุจรประมาณ 35 ลูก แต่จะพัดผ่านมายังประเทศไทยแค่เพียง 2-3 ลูกเท่านั้น ถึงแม้ในเดือนกันยายนฝนจะกลับมาตกอีก แต่กลัวว่าจะเป็นการตกใต้เขื่อน ทำให้น้ำเอ่อมาก แต่ไม่ได้เก็บกักไว้ ดังนั้นจะต้องลดพื้นที่ปลูกข้าวในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2564 ลงมาให้ได้

ล่าสุดกรมชลประทานได้ออกมายืนยันแล้วว่า ประเทศไทยจะเผชิญกับปัญหาฝนทิ้งช่วงตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนไปจนถึงเดือนกรกฎาคม ขณะที่พื้นที่ปลูกข้าว ณ วันที่ 17 มิถุนายน 2563 มีปริมาณ 4.43 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 26% ของแผนการปลูกที่มี 16.79 ล้านไร่ โดยปริมาณน้ำในเขื่อนทั้งหมดตอนนี้อยู่ที่ 30,636 ล้าน ลบ.ม. หรือ 43% ของความจุอ่าง แต่มีปริมาตรน้ำใช้การได้เพียง 7,359 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 16% “น้อยกว่า” ปีที่ผ่านมาอยู่ถึง 5,736 ล้าน ลบ.ม.

อุบลรัตน์ใช้น้ำก้นอ่าง

สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของประเทศใน 4 เขื่อนหลักที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อลุ่มน้ำเจ้าพระยา และกรุงเทพมหานคร (ณ วันที่ 26 มิถุนายน 2563) ได้แก่ เขื่อนภูมิพล มีปริมาตรน้ำใช้การได้ 210 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 2, เขื่อนสิริกิติ์ 499 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 7 เฉพาะเขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเฉลี่ยวันละ 5-7 ล้าน ลบ.ม., เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 144 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 16 และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 105 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 11 ทั้ง 2 เขื่อนยังมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเฉลี่ยไม่ถึง 1 ล้าน ลบ.ม./วัน นับเป็นสถานการณ์น้ำที่น่าเป็นห่วงมากที่ต้นฤดูฝนมีน้ำใช้การได้รวมกันไม่ถึง 2,000 ล้าน ลบ.ม.

ส่วนสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศที่มีปริมาตรน้ำใช้การได้ “ต่ำกว่า” ร้อยละ 15 ได้แก่ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ 36 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 14, แม่มอก 8 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 9, ห้วยหลวง 19 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 14, จุฬาภรณ์ 8 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 6 เขื่อนอุบลรัตน์แย่ที่สุดติดต่อกันมาหลายปี เหลือปริมาตรน้ำใช้การได้ติดลบ -266 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ -14, ลำพระเพลิง 19 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 12, มูลบน 16 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 12, ลำแชะ 30 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 11, ลำนางรอง 14 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 12, ทับเสลา 15 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 11, กระเสียว 12 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 5, คลองสียัด 14 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 4, บางพระ 5 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 5 และเขื่อนประแสร์ 13 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 5

น้ำเค็มทะลักประปากร่อย

อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำที่ระบายออกมาจาก 4 เขื่อนหลักลดน้อยลงมาอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อการทำน้ำประปาในกรุงเทพฯ ส่งผลให้การประปานครหลวง (กปน.) ได้แสดงความห่วงใยเรื่องปัญหาน้ำเค็มหนุน จนทำให้เกิดปัญหาน้ำประปามีรสกร่อยเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งจะกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ที่ต้องใช้น้ำประปานครหลวง 10 ล้านคน ดังนั้นทางกรมชลประทานและ กปน.จึงได้มีการวางแผนบริหารจัดการสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าคลองชลประทานเพื่ออุปโภคบริโภค 180 ล้าน ลบ.ม. มาตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม และมีสูบน้ำเสริมในบางลำน้ำที่จำเป็น ประกอบกับต้องขอผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองเข้ามาอีก 500 ล้าน ลบ.ม. เพื่อนำน้ำมาไล่น้ำเค็มเป็นระยะเวลา 6 เดือน