“จระเข้หัน” เจ้าแรกในไทย ส่งออกเดี้ยง-ดิ้นไลฟ์สดขายสู้พิษโควิด

ธุรกิจทำฟาร์มจระเข้ เพื่อซื้อขายเนื้อนำไปบริโภคในประเทศไทย ถือว่ายังไม่ได้รับความนิยมมากนัก คนไทยส่วนใหญ่เลี้ยงจระเข้ในเชิงอุตสาหกรรมเพื่อนำหนังไปทำกระเป๋าหรือเครื่องหนังต่าง ๆ ขณะที่ชาวต่างชาติ โดยเฉพาะคนจีนนิยมนำเนื้อจระเข้ไปปรุงอาหาร โดยเชื่อว่ามีสรรพคุณทางยา “ณัฐพากย์ คำกาศ” เจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด ณัฐพากย์ฟู้ด ผู้ผลิตแปรรูปเนื้อจระเข้ และเจ้าของร้าน “วัวหันอินเตอร์” จังหวัดลำพูน บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตั้งแต่เข้ามารับช่วงต่อธุรกิจวัวหันหมูหันของครอบครัวก็ได้เริ่มทำฟาร์มจระเข้ และเปิดตัวไอเดีย “จระเข้หัน” รวมถึงการแปรรูปเนื้อจระเข้ส่งขายไปยังตลาดคนจีนเป็นหลักจนถึงปัจจุบัน

“ณัฐพากย์” เล่าว่า เมื่อครั้งเข้ามารับช่วงต่อจากรุ่นพ่อแม่เห็นเศษเนื้อและหนังของวัวหัน และหมูหันเหลือแล้วต้องเก็บทิ้ง จึงหาวิธีการกำจัดโดยไม่ให้เสียเปล่า จึงส่งหนังวัวให้กับโรงฟอกหนังที่ จ.สมุทรปราการ จึงไปพบการเลี้ยงจระเข้ เพื่อเอาหนัง แล้วคิดว่าเศษเนื้อเรามีเหลืออยู่ จึงเริ่มต้นทดลองเลี้ยง 5 ตัว แบบลองผิดลองถูกด้วยประสบการณ์ตัวเองทั้งอาศัยถามผู้รู้บ้าง แล้วเพิ่มจำนวนเลี้ยงจริงจังขึ้นมาเรื่อย ๆ กระทั่งประมาณ 6-7 ปีที่ผ่านมาได้นำมาทำเป็น “จระเข้หัน” เจ้าแรกในประเทศไทย จนกลายเป็นกระแสฮือฮาถูกเชิญไปออกสื่อกว่า 20 รายการ

“ผมเรียนจบบริหารการจัดการ ไม่ได้เกี่ยวกับเกษตรหรือการทำฟาร์มใด ๆ ทั้งสิ้น ผมเลี้ยงจระเข้มานานกว่า 11 ปีแล้ว ตอนที่เริ่มเลี้ยงผมอายุประมาณ 21-22 ปี คนในครอบครัวไม่มีใครเห็นด้วยเลย พ่อกับแม่ห่วงเรื่องความปลอดภัย แต่เป็นความชอบส่วนตัว ผมตั้งใจและหาวิธีเลี้ยงจนได้ พอมาทำจระเข้หัน เรียกได้ว่า ในช่วงนั้นคนรังเกียจไม่เปิดใจรับเนื้อจระเข้และไม่มีมูลค่าเลย แต่มีคนสั่งกินเป็นรายแรกและถัดมาเราจึงทำไปเรื่อย ๆ ตามออร์เดอร์ คือ เราทำวัวหัน หมูหันอยู่แล้ว ผมจึงเน้นการเพิ่มมูลค่าให้จระเข้ด้วย ซึ่งการเลี้ยงไม่ยากครับ แต่ยากตรงการตลาด ตอนนี้เลี้ยงประมาณ 1 ส่วน 4 ของพื้นที่ 2 ไร่ รวม 300 กว่าตัว อัตราการเติบโตเฉลี่ยประมาณ 5% ต่อปี เรียกว่ายังเป็นฟาร์มขนาดเล็กฟาร์มหนึ่งของประเทศไทย”

ปัจจุบัน “ณัฐพากย์” ยังทำวัวหันและหมูหันในสัดส่วน 30% ทำจระเข้หันอยู่ 70% ไม่ได้ปรับเปลี่ยนเป็นจระเข้หันเต็มตัว เพราะเพิ่งเข้ามารับช่วงต่อในปีที่ 10 ของการทำวัวหันหมูหันที่ครอบครัวทำมานานกว่า 21 ปี โดยการทำฟาร์มจระเข้คือเลี้ยงเอง เพาะพันธุ์เอง แปรรูปเองเพื่อเพิ่มมูลค่า อาทิ เนื้ออบแห้ง เนื้อผัดพริกไทยดำ มีสัดส่วนที่ส่งขายตามห้างสรรพสินค้าในประเทศไทยเพียง 5% เช่น ห้างสรรพสินค้าในเครือเซ็นทรัลที่มีนักท่องเที่ยวชาวจีน และส่งขายไปยังกลุ่มประเทศเชื้อสายจีนกว่า 95% อาทิ จีน ฮ่องกง เรียกว่าการบริโภคเนื้อจระเข้ในประเทศไทยถือว่ายังต่ำ ตลาดไม่กว้างเท่าที่ควรและส่วนใหญ่กลุ่มเป้าหมายจะเน้นไปที่นักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า

ส่วนที่เป็นหนังส่งให้พาร์ตเนอร์ไปทำกระเป๋าและเครื่องหนัง และมีซากกะโหลกส่งให้กลุ่มลูกค้าเฉพาะอย่างนักสะสมที่นิยมนำไปเป็นเครื่องประดับในประเทศประมาณ 40% ไปยังโซนยุโรป 60% ในภาพรวมรายได้การทำธุรกิจทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 300,000-500,000 บาทต่อเดือน มีรายจ่ายในการดำเนินงานและดูแลฟาร์มประมาณ 70,000-100,000 บาท/เดือน

“การแปรรูปนอกจากเป็นใช้วัตถุดิบจระเข้ที่เลี้ยงในฟาร์มของตัวเองแล้ว มีการรับซื้อจากผู้เลี้ยงรายอื่นด้วย จุดคุ้มทุนของการเลี้ยงจระเข้ 1 ตัว อยู่ในช่วงอายุ 3-4 ปี ความยาวลำตัว 2 เมตรโดยประมาณ เป็นช่วงที่จระเข้โตและเหมาะสมกับการแปรรูป ใช้ได้ทั้งส่วนหนัง เนื้อ รวมไปถึงซาก ถ้าอายุจระเข้มากกว่านี้จะต้องเพิ่มอาหารและขาดทุน ที่ผ่านมาฟาร์มเลี้ยงจระเข้ขนาดใหญ่หลายแห่งในประเทศไทยส่วนใหญ่เลี้ยง เพื่อต้องการหนังไปใช้ในการแปรรูปเป็นอันดับ 1 แต่ผมมองโดยรวมว่า การเลี้ยงจระเข้สามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ตั้งแต่เลี้ยงจนถึงแปรรูป บางครั้งเชือดเองโดยอาศัยประสบการณ์ทำวัวหัน และหมูหัน”

ในช่วงโควิด-19 ระบาด “ณัฐพากย์” บอกว่า ยอดขายของตัวเองตกฮวบกลายเป็นศูนย์บาท ตลาดซบเซาจนมองว่าเป็นช่วงที่ย่ำแย่ที่สุด คนเลี้ยงจระเข้มือใหม่ ที่เพิ่งทำธุรกิจ ในปี 2563 ขาดทุน 100% ทุกราย เพราะค่าอาหาร ฟาร์มเล็กจะได้เปรียบ ฟาร์มใหญ่จะอยู่ยากเพราะค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงแต่ถ้าสายป่านยาวก็ไปรอด เพราะอาหารหลักของจระเข้เป็นเนื้อทุกชนิด คนเลี้ยงส่วนใหญ่นิยมให้เป็นพวกโครงไก่หรือหัวไก่ ต้องเป็นอาหารที่ถูกที่สุด กำไรขาดทุนอยู่ที่ราคาอาหาร และไม่ควรจะเกิน 5 บาท/กก. คาดว่าน่าจะใช้เวลาอีก 2-3 ปีในการฟื้นธุรกิจเกี่ยวกับจระเข้ หลังจากสถานการณ์ภายในประเทศดีขึ้น ตลาดเนื้อจระเข้จะกลับมาพร้อมนักท่องเที่ยวจีน ยิ่งเศรษฐกิจจีนแข็งแรงยิ่งสร้างแรงบวกในอุตสาหกรรมเลี้ยงจระเข้ของประเทศไทย

“สำหรับผมมองตลาดออนไลน์มากขึ้นเหมือนพบโอกาสในวิกฤต แม้ไม่ใช่ตลาดหลัก แต่ทำให้ขายได้ และเป็นตลาดทางเลือกใหม่ โดยผมจะทำการไลฟ์สด ทำให้มีผู้ติดตามในเพจเพิ่มขึ้น สามารถสื่อสารกับผู้บริโภคและเจาะกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติได้ง่าย อนาคตตั้งเป้าเจาะตลาดฮ่องกง ไต้หวัน และในโซนเอเชีย เราต้องเป็นคนหาโอกาสให้ตัวเอง หน่วยงานภาครัฐจึงจะยื่นโอกาสให้กับเรา สำหรับผมตอนนี้ภาครัฐจะมีกรมประมงเข้ามาให้คำปรึกษาดูแลเรื่องความปลอดภัย ส่วนการตลาด การผลิต หลายหน่วยงานมาให้ความรู้”

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันในธุรกิจจระเข้นั้นดุเดือดมาก ภาพใหญ่อาจบอกไม่ได้ว่าใครเป็นคู่แข่งของประเทศไทยในอุตสาหกรรมนี้ แต่หากเป็นการขายเนื้อจระเข้คู่แข่งของประเทศไทย คือ ประเทศเวียดนาม ซึ่งเลี้ยงอยู่จำนวนมาก แต่คุณภาพของจระเข้ไทยทั้งเนื้อและหนังอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลก สามารถไปแข่งในตลาดโลกได้


“คนที่เข้ามาในธุรกิจการเลี้ยงจระเข้ อันดับแรกต้องมองเลยว่ามีแหล่งอาหารที่ถูกแล้วหรือยัง ถ้าเป็นพวกฟาร์มหมู ไก่ อาจจะไม่มีต้นทุนในการเลี้ยงสูง โอกาสขาดทุนมีน้อยมาก และบางครั้งการทำฟาร์มไม่ได้สวยหรูเหมือนที่คนภายนอกมองไว้ คนที่จะเข้ามาเลี้ยงจระเข้ต้องมองเชิงลึก มีสายป่านยาวที่จะรอได้ไม่ต่ำกว่า 3 ปี ไม่ใช่เลี้ยงแค่ 3-5 เดือนแล้วหาย และพร้อมจะเสี่ยงเนื่องจากราคาไม่แน่นอน เลี้ยงแล้วไม่ใช่จะรวยกันทุกคน อย่างตอนนี้ราคาซื้อจระเข้จากฟาร์มสู่ฟาร์ม อายุการเลี้ยง 3-4 ปี ซื้อขายกันตัวละ 500-1,500 บาท มีโอกาสขาดทุน เมื่อแปรรูปอยู่ที่ 1,500-3,000 กว่าบาท เนื้อสด ราคา 120-230 บาทต่อกิโลกรัม”