ผลักดัน “สนามบินสารสินธุ์” รอยต่อ กาฬสินธุ์-มหาสารคาม

สนามบินสารสินธุ์
ดันสนามบิน - จังหวัดกาฬสินธุ์ผนึกจังหวัดมหาสารคามผลักดันโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้าง "ท่าอากาศยาน" ร่วมกัน ใช้ชื่อเบื้องต้นว่า"ท่าอากาศยานสารสินธุ์"โดยตั้งเป้าลูกค้ากลุ่มเป้าหมายกลุ่มนักศึกษา และข้าราชการในอำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม

กกร.กลุ่มร้อยแก่นสารสินธุ์ ขานรับคณะกรรมาธิการการคมนาคมดันสร้าง “สนามบินสารสินธุ์” เล็งทำเลเป้าหมาย “อ.ยางตลาด” รอยต่อ 2 จังหวัดกาฬสินธุ์-มหาสารคาม หวังเกิดโครงการลงทุนใหม่ในพื้นที่ พร้อมชี้พื้นที่มีศักยภาพ มีจุดคุ้มทุนที่จะก่อสร้าง ตั้งเป้าลูกค้าหลัก “นักศึกษา-ข้าราชการ” สนใจใช้บริการหลายหมื่นคน

สืบเนื่องจากจังหวัดมหาสารคามหนึ่งในจังหวัดที่ได้ชื่อว่า เป็น “เมืองการศึกษา” เนื่องจากมีสถาบันการศึกษาตั้งอยู่ถึง 1,023 แห่ง นักศึกษารวม 222,511 ราย นอกจากโรงเรียนระดับประถม และมัธยมแล้ว ยังเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ส่งผลให้เงินหมุนเวียนทางเศรษฐกิจของเมืองมหาสารคามส่วนหนึ่งถูกหล่อเลี้ยงจากการจับจ่ายของนักศึกษา ข้าราชการเป็นหลัก รวมถึงเกษตรกร

ดังนั้น ภาพการลงทุนในจังหวัดส่วนหนึ่งพุ่งเป้ายังกลุ่มเป้าหมายนักศึกษา และข้าราชการ เช่น หลายค่ายยักษ์ด้านอสังหาริมทรัพย์ที่เข้าไปปักหมุดลงทุน และล่าสุดแม้แต่ “โครงการศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการก่อสร้างสนามบิน” ยังมุ่งสู่กลุ่มเป้าหมายนักศึกษาเป็นหนึ่งในผู้ใช้บริการหลัก เหตุสนามบินขอนแก่น และสนามบินร้อยเอ็ดอยู่ห่างออกไปไกล ต้องใช้เวลาเดินทางพอสมควร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมาธิการการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ได้จัดเวทีแสดงความคิดเห็น การศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้าง “ท่าอากาศยาน” ร่วมกันระหว่างจังหวัดมหาสารคามและจังหวัดกาฬสินธุ์ (ท่าอากาศยานสารสินธุ์) ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม โดยมีประชาชนชาวมหาสารคามกว่า 200 คนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น ส่วนใหญ่ให้การสนับสนุน เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเดินทางที่รวดเร็วฉับไว และปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงการเดินทางเครื่องบินได้มากขึ้น เพราะราคาค่าโดยสารไม่สูงเหมือนที่ผ่านมา หลังจากมีสายการบิน ราคาประหยัด (โลว์คอสต์)

เลือก อ.ยางตลาด ตั้งสนามบิน

สำหรับข้อกำหนดต้องมีผู้มาใช้บริการวันละไม่ต่ำกว่าวันละ 400 คน แบ่งเป็นไป200 คน กลับ 200 คน จึงจะคุ้มค่านั้นไม่น่าจะมีปัญหาเนื่องจากลูกค้าที่มาใช้บริการมาจาก 2 จังหวัด คือ จ.มหาสารคาม และ จ.กาฬสินธุ์

โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มคณาจารย์ นักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม รวมทั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ที่มีหลายหมื่นคนจะต้องมาใช้บริการสนามบินแห่งนี้เนื่องจากใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 20 นาทีถึงสนามบิน

โดยพื้นที่ก่อสร้างสนามบินน่าจะอยู่ในเขต อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ห่างจากมหาสารคาม ประมาน 30 กม.เศษเท่านั้น

นพ.กิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ ส.ส.เขต 1 จังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า การเสวนาเพื่อกำหนดเป้าหมายและกรอบการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ เพื่อให้ครอบคลุมทั้งมิติ ในด้านการตลาด ด้านเทคนิค ด้านการจัดการ ด้านการเงินและการลงทุน ด้านเศรษฐกิจและด้านสังคมและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งพื้นที่การให้บริการของจังหวัดมหาสารคามและจังหวัดกาฬสินธุ์

ในแผนแม่บทการจัดตั้งสนามบินพาณิชย์ของประเทศ ยังได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการเข้าถึงพื้นที่การให้บริการ คือจำนวนประชากรทั่วประเทศร้อยละ 80 ต้องสามารถเข้าถึงท่าอากาศยานที่มีเที่ยวบินประจำภายในประเทศได้ในระยะเวลาการเดินทางทางถนนและหรือทางรางไม่เกิน 90 นาที และจำนวนประชากรทั่วประเทศร้อยละ 80 สามารถเข้าถึงท่าอากาศยานที่มีเที่ยวบินประจำระหว่างประเทศได้ในระยะเวลารวมในการเดินทางทุกรูปแบบไม่เกิน 180 นาที

โดยข้อมูลพื้นฐาน จังหวัดมหาสารคามมีพื้นที่รวม 5,292 ตร.กม. ประชากร 963,047 คน และจังหวัดกาฬสินธุ์ มีพื้นที่รวม 6,947 ตร.กม. ประชากร 985,346 คน (โดยสำรวจไว้เมื่อปี พ.ศ. 2561) สำหรับจังหวัดมหาสารคามและจังหวัดกาฬสินธุ์นั้น อยู่ในพื้นที่การให้บริการของท่าอากาศยานขอนแก่นและท่าอากาศยานร้อยเอ็ด ซึ่งใช้เวลาในการเดินทางทางถนนเพื่อเข้าถึงท่าอากาศยานดังกล่าวประมาณ 90 นาที

การศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าอากาศยานของจังหวัดมหาสารคามและจังหวัดกาฬสินธุ์ (ท่าอากาศยานสารสินธุ์) ในครั้งนี้ เพื่อร่วมแสดงความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชนเพื่อร่วมศึกษาและวิเคราะห์ความจำเป็นและความเป็นไปได้ในการมีท่าอากาศยานแห่งใหม่ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้ง 2 จังหวัด และการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน

รวมไปถึงการรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการบินในระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) และสอดคล้องกับแผนพัฒนาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาและเห็นชอบในโครงการต่อไป

ภาคธุรกิจขานรับบูมลงทุนใหม่

นายณรงค์ เหล่าสุวรรณ ประธานหอการค้าจังหวัดมหาสารคามกล่าวว่า ทาง จ.กาฬสินธุ์ได้งบฯศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างสนามบิน แต่หากให้บริการเฉพาะลูกค้าใน จ.กาฬสินธุ์จำนวนลูกค้าที่ไปใช้บริการไม่น่าจะคุ้มค่าการลงทุน ดังนั้นจึงมีความร่วมมือกับทางจังหวัดมหาสารคาม โดยกำหนดที่ตั้งสนามบินอยู่บริเวณรอยต่อกับ จ.มหาสารคาม เพื่อความสะดวกให้ลูกค้าในพื้นที่ จ.มหาสารคาม มาใช้บริการด้วย

สำหรับภาคธุรกิจมีความเห็นชอบเนื่องจากจะได้ประโยชน์จากการมีสนามบินแห่งใหม่ เพราะปกติชาวมหาสารคาม จะไปใช้บริการที่สนามบิน จ.ขอนแก่น ระยะทางประมาณ 80 กม. และ จ.ร้อยเอ็ด ระยะทาง 50 กม. สำหรับสนามบินใหม่ระยะทางประมาณ 30 กม. เศษเท่านั้น

เรื่องนี้ได้มีการนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กลุ่มร้อยแก่นสารสินธุ์เห็นชอบแล้ว รวมทั้งเข้าที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐบาลและเอกชน (กรอ.จังหวัด) เห็นชอบเช่นกัน

ด้านนายวรวุฒิ นวสฤษฎ์กุล ที่ปรึกษาหอการค้าและที่ปรึกษาอุตสาหกรรมจังหวัดมหาสารคาม ให้ความเห็นว่า การมีสนามบินโอกาสที่จะเกิดการลงทุนธุรกิจใหม่ ๆ ขึ้นในพื้นที่มีสูง เมื่อนักธุรกิจรู้ว่าจากตัวจังหวัดไปสนามบินใช้เวลาไม่เกิน 20 นาที กลุ่มลูกค้าของมหาสารคามที่น่าจะมาใช้บริการมากขึ้นคือ นิสิต และคณาจารย์ จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพราะอยู่ใกล้ อ.ยางตลาดมาก ปัจจุบันนักศึกษาจากต่างชาติที่เข้ามาเรียนที่นี่เกือบ 300 คน

รวมทั้งนักศึกษาต่างชาติที่มาเรียนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามและคนรุ่นใหม่นิยมเดินทางโดยเครื่องบินกันมากขึ้น เพราะราคาไม่แพง มั่นใจว่าโอกาสที่จะเกิดสนามบิน ในชื่อ “ท่าอากาศยานสารสินธุ์” มีสูงเพราะฟังการเสวนาจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบินมาให้ข้อมูลไม่น่าจะมีปัญหา และกลุ่มร้อย แก่น สาร สินธุ์ จะมีสนามบินถึง 3 แห่ง