บริษัทลูก “อัครา” โผล่เมืองจันท์ ขออาชญาบัตรพิเศษเหมืองทอง

เหมืองทอง
แฟ้มภาพ

เมืองจันท์รุมค้าน “ริชภูมิ ไมนิ่ง”บริษัทลูก อัครา รีซอร์สเซส ดอดขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทอง หวั่นทำลายสิ่งแวดล้อมวิถีเกษตร ปนเปื้อนแหล่งน้ำ EEC ซ้ำรอยเหมืองอัครา กระทรวงอุตฯแจ้งจนถึงขณะนี้ยังไม่ได้ให้ใบอนุญาต คัดค้านในพื้นที่ทำได้ อุตฯจังหวัดแค่ปิดประกาศ เครือข่ายประชาชนยันค้านมาตลอด

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานความเคลื่อนไหวของชาวจังหวัดจันทบุรีที่รวมพลังกันออกมา “ต่อต้าน” การขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำของบริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง ตามคำขอที่ 8/2549 กับ 9/2549 เนื้อที่ 14,650-0-0 ไร่ รวม 2 แปลง ใน ต.พวา-สามพี่น้อง อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี หลังจากที่อุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรี (น.ส.กาญจนา ทัพป้อม) ได้ปิดประกาศไว้ในท้องที่ จนปรากฏกระแสการต่อต้านคัดค้านทั้งจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรภาคเอกชน ภาคประชาชนชาวจังหวัดจันทบุรีอย่างกว้างขวาง

ล่าสุด ประชาชนใน 2 ตำบล (พวา-สามพี่น้อง) ร่วมกับสภาเกษตรกรจังหวัดจันทบุรี ส.ส.จังหวัดจันทบุรี และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เตรียมยื่นหนังสือ “คัดค้าน” การออกอาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำต่อ สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นสิทธิที่ผู้เกี่ยวข้องสามารถกระทำได้

ริชภูมิ บริษัทลูก อัครา

จากการตรวจสอบของ “ประชาชาติธุรกิจ” พบว่า บริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง แท้ที่จริงแล้วเป็นบริษัทที่อยู่ในเครือของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กับกลุ่มคิงสเกท แคปปิตอล ออสเตรเลีย ซึ่งกำลังมีข้อพิพาทกับรัฐบาลไทย ในกรณีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 72/2559 สั่งระงับการอนุญาตให้สำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ การต่ออายุประทานบัตรและการต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมแร่ทองคำของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส ในพื้นที่รอยต่อของจังหวัดพิจิตร-เพชรบูรณ์-พิษณุโลก มาตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2559 โดยคดีนี้กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ ที่กลุ่มคิงสเกทฯ ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลไทย

ทั้งนี้ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส และกลุ่มคิงสเกท แคปปิตอล ได้เข้าไปถือหุ้นในบริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง ผ่านบริษัทต่าง ๆ ถึง 3 ทอด โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง ได้แก่ บริษัท อิสระ ไมนิ่ง (99.9988%) ในขณะที่บริษัท อิสระ ไมนิ่ง ผู้ถือหุ้นใหญ่ก็คือ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) (51%) กับบริษัท คิงสเกท แคปปิตอล ออสเตรเลีย (49%) มีสถานที่ตั้งบริษัทอยู่ในเลขที่เดียวกันคือ 99 หมู่ที่ 9 ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร อีกทั้งยังมีกรรมการบริษัทเป็นบุคคลชุดเดียวกัน คือ นายรอส อเล็กซานเดอร์ คอยส์, นายสิโรจ ประเสริฐผล, นายเจมี่ ลี กิ๊บสัน และนายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ เฉพาะ 3 คนแรกยังดำรงตำแหน่งกรรมการ ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม คำขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำทั้งประเทศจากการตรวจสอบข้อมูลมีอยู่ประมาณ 13 บริษัท คิดเป็นจำนวนแปลง 167 แปลง เนื้อที่ 1,428,412-2-00 ไร่ เฉพาะกรณีของบริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง เคยยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษไว้ 4 จังหวัด ประกอบไปด้วย ระยอง-พิษณุโลก-จันทบุรี-ลพบุรี เนื้อที่ประมาณ 127,687 ไร่

ยังไม่ได้อาชญาบัตรพิเศษ

มีรายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมว่า จนถึงขณะนี้ บริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง ยังไม่ได้รับอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษ ตามที่บริษัทได้ยื่นขอไว้ตั้งแต่ปี 2549 และเมื่อปี 2560 ทางกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการทำเหมืองแร่ทองคำ ทางบริษัท ริชภูมิฯ ก็ไม่ได้เข้ามาดำเนินการใด ๆ ต่อ ส่วนการปิดประกาศคำขออาชญาบัตรพิเศษในพื้นที่นั้น เป็นเพียงขั้นตอนที่อุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรี แจ้งให้มีการปิดประกาศเพื่อชุมชนในพื้นที่รับทราบ

สำหรับขั้นตอนการขออาชญาบัตรพิเศษ ซึ่งมีอายุการดำเนินการได้ถึง 5 ปีนั้น ผู้ยื่นขอจะต้องเสนอ “ผลประโยชน์พิเศษ” ให้แก่รัฐ ด้วยการให้เงินตอบแทนแก่รัฐเพื่อตอบแทนการออกอาชญาบัตรพิเศษ ในอัตราแปลงละ 100,000 บาท และเงินตอบแทนแก่รัฐตามจำนวนพื้นที่ในอัตราไร่ละ 20 บาท และเมื่อเอกชนยื่นขออาชญาบัตรพิเศษแล้ว จะต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นชุมชนในพื้นที่ก่อน

จากนั้นเมื่อผ่านแล้วและได้รับอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ (เจ้าของกรรมสิทธิ์ เช่น เจ้าของโฉนด กรมป่าไม้) โดยทางเจ้าหน้าที่จะต้องได้รับการยืนยันจากทางพื้นที่ เช่น กำนัน ว่าไม่มีการคัดค้านจากชุมชนในพื้นที่ หลังจากนั้น ทางกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จึงจะมีการอนุมัติอาชญาบัตรพิเศษให้เพื่อที่เอกชนผู้ยื่นขอจะเข้าดำเนินการขุดสำรวจได้ทันที

“ในขั้นตอนการขออาชญาบัตรพิเศษไม่ปรากฏมีคนคัดค้าน แต่ภายหลังกลับมีการคัดค้านจากชุมชนเกิดขึ้น เราก็จะต้องใช้แนวทางรัฐศาสตร์ในการบริหารจัดการด้วยการอธิบายให้ชุมชนเข้าใจ ขณะเดียวกันตามสิทธิของเอกชนเองก็ยังสามารถดำเนินการขุดสำรวจแร่ทองคำได้อยู่ เพียงแต่ในทางปฏิบัติต้องขอให้ทั้ง 2 ฝ่าย พยายามทำความเข้าใจร่วมกันก่อน ส่วนกรณีที่ว่าระหว่างการสำรวจหากพบมีแร่ที่ต้องการ อธิบดีกพร.สามารถอนุญาตให้ขุดแร่ขึ้นมาได้เลยนั้น ยังทำไม่ได้ เพราะเอกชนต้องไปเริ่มกระบวนการขอประทานบัตร ซึ่งมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนอีกยาว แน่นอนว่าถ้าชุมชนไม่เอาด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่เอาด้วย ก็ยากที่จะได้ประทานบัตร” แหล่งข่าวกล่าว

ตะวันออกไม่เอาเหมืองแร่

นายธีระ วงษ์เจริญ ประธานสภาเกษตรกรจันทบุรี กล่าวว่า ในนามของสภาเกษตรกรจันทบุรีได้ยื่นหนังสือคัดค้านถึงอุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรี ไปแล้วเมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา ถือเป็นการยืนยันคำคัดค้านเดิมที่เคยมีการสำรวจแร่ทองคำในพื้นที่เมื่อปี 2558

“ตอนนี้คนภาคตะวันออกเค้าไม่เอาเหมืองแร่ทองคำ เราเห็นตัวอย่างแล้วจากการทำเหมืองทองคำของบริษัท อัคราฯ ที่จังหวัดพิจิตร ได้เกิดความเสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้ พวกเราจึงขอคัดค้านจนกว่าจะมีการยกเลิกการทำเหมืองในจังหวัดจันทบุรี”

สอดคล้องกับ นายเฉลิมพล ศักดิ์คำ นายกเทศมนตรีตำบลท่าช้าง อ.เมืองจันทบุรี จ.จันทบุรี กล่าวว่า ได้นัดหมายให้ประชาชนในจังหวัดจันทบุรีมารวมตัวกันเพื่อทำความเข้าใจและลงชื่อคัดค้าน เพราะชาวจันทบุรีไม่เห็นด้วยในเรื่องสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย และจันทบุรีเป็นเมืองเกษตรกรรม จากนั้นจะนำหนังสือคัดค้านพร้อมรายชื่อส่งให้ สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อดำเนินการต่อไป

ด้านนายจารึก ศรีอ่อน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดจันทบุรี เขต 2 ก็ได้ยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ คัดค้านการขออาชญาบัตรพิเศษของบริษัทริชภูมิ ไมนิ่ง เช่นกัน เนื่องจากจังหวัดจันทบุรีเป็นเมืองเกษตรกรรม การกระทำการใด ๆ อันจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเกิดการปนเปื้อนในแหล่งน้ำจะกระทบทั้งภาคตะวันออก เพราะแหล่งน้ำในจันทบุรีต้องส่งน้ำในอ่างเก็บน้ำไปช่วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)