5 จังหวัดอีสานแห่ทำนาปรังล้านไร่ หวั่นฝนทิ้งช่วงเสียหายเขื่อนหลักน้ำไม่พอ

5 จังหวัดอีสานตอนกลาง “ขอนแก่น-ร้อยเอ็ด-มหาสารคาม-กาฬสินธุ์” แห่ปลูกข้าว-พืชไร่กว่า 1.2 ล้านไร่ หลังแล้งหนักมากว่า 2 ปี ผู้ว่าฯขอนแก่นชี้ชลประทานตั้งเป้าแผนบริหารน้ำให้ปลูกไม่เกิน 8.4 แสนไร่ เผย 3 เขื่อนขนาดใหญ่ “เขื่อนจุฬาภรณ์-เขื่อนอุบลรัตน์-เขื่อนลำปาว” มีปริมาณเพียงพอเฉลี่ยรวมเกิน 60% แต่เตือนให้เฝ้าระวังการใช้น้ำและฝนทิ้งช่วง

นายสมศักดิ์ จังตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2564 เกษตรกรในพื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 6 หรือพื้นที่ในเขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนจุฬาภรณ์ และเขื่อนลำปาว ได้แก่ จังหวัดชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ สามารถทำนาปรังและปลูกพืชฤดูแล้งได้ในรอบ 2-3 ปี โดยที่ผ่านมานั้นไม่สามารถทำได้เลย เพราะมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ แต่ปัจจุบันได้ประเมินสถานการณ์น้ำแล้ว

อย่างเขื่อนอุบลรัตน์ในจังหวัดขอนแก่นการบริหารจัดการน้ำเพื่อใช้อุปโภคบริโภคเป็นไปตามแผน สามารถปล่อยน้ำให้กับประชาชนใช้ได้วันละ 5-6 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คาดว่าเมื่อถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 หรือปลายฤดูแล้งจะเหลือปริมาณน้ำมากกว่าปี 2563 ประมาณ 900 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับพื้นที่จังหวัดขอนแก่นจะอาศัยการใช้น้ำจาก 2 แหล่งน้ำขนาดใหญ่เป็นหลัก คือ เขื่อนอุบลรัตน์และเขื่อนจุฬาภรณ์ เพื่อปลูกข้าวนาปรัง ไม้ผล อ้อย และพืชไร่ฤดูแล้งชนิดอื่น โดยพื้นที่ทางทิศตะวันตกของจังหวัดขอนแก่นจะอาศัยน้ำจากเขื่อนจุฬาภรณ์ ส่วนพื้นที่ต้นน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์มาจนถึงลำน้ำชีเกษตรกรก็เริ่มทำการเพาะปลูกแล้ว

“คณะทำงานเราคาดการณ์ปริมาณน้ำและการบริหารจัดการทุกปี ตั้งแต่เดือนธันวาคมจนถึงเดือนเมษายนเป็นเวลา 6 เดือนหรือ 180 วัน ในปีนี้คาดว่าสามารถปล่อยน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ลงไปถึงตอนล่างของแม่น้ำชีในจังหวัดมหาสารคาม

และในปีนี้เขื่อนอุบลรัตน์มีน้ำเยอะกว่าเขื่อนลำปาวในจังหวัดกาฬสินธุ์ที่มีน้ำน้อยพอสมควร การปล่อยน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์จะช่วยพื้นที่ซึ่งอาศัยน้ำจากเขื่อนลำปาวได้ในระดับหนึ่ง”

ทั้งนี้ ข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ สำนักงานชลประทานที่ 6 ระบุว่า สถานการณ์การเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2563/64 ในเขตโครงการชลประทานขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าในเขตสำนักงานชลประทานที่ 6

มีแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง 2563/64 รวมทั้งสิ้น 848,483 ไร่ คิดเป็น 35.33% (ของพื้นที่ชลประทาน 2,401,664 ไร่) แยกเป็นข้าว 641,112 ไร่,พืชไร่, พืชผัก, อ้อย และไม้ยืนต้น 192,986 ไร่ บ่อปลาและอื่น ๆ 14,385 ไร่ มีผลเพาะปลูกรวม 827,437 ไร่ คิดเป็น 97.52%

พื้นที่ชลประทานที่ดูแลรับผิดชอบโดยกรมชลประทาน สำนักงานชลประทานที่ 6 มีแผนเพาะปลูกพืช 489,487 ไร่ คิดเป็น 39.17% (ของพื้นที่ชลประทาน 1,249,530 ไร่) มีผลเพาะปลูกรวม 546,746 ไร่ คิดเป็น 111.70%

และพื้นที่ชลประทานที่ดูแลโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท. สำนักงานชลประทานที่ 6 มีแผนเพาะปลูกพืช 358,996 ไร่ คิดเป็น 31.16% (ของพื้นที่ชลประทาน 1,152,134 ไร่) มีผลเพาะปลูกรวม 280.691 ไร่ คิดเป็น 78.19%

ด้านนายพงษ์ศักดิ์ ชินคีรี เกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับภาพรวมจังหวัดกาฬสินธุ์ในปี 2564 ไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งอย่างแน่นอน จากการประเมินปริมาณน้ำในเขื่อนลำปาวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 พบว่าเขื่อนลำปาวมีปริมาณน้ำ 680.56 ล้าน ลบ.ม. มีความสามารถปล่อยน้ำได้วันละ 4.50 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับน้ำในเขตชลประทาน 3 แสนไร่ ทำการเกษตรได้ 198,441 ไร่

แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าว 193,364 ไร่ พื้นที่ปลูกพืชไร่พืชผัก 121 ไร่ บ่อปลา 1,567 ไร่ และบ่อกุ้ง 3,389 ไร่ ใน อ.ยางตลาด อ.ฆ้องชัย อ.กมลาไสย อ.เมือง และ อ.ร่องคำ เฉลี่ยปริมาณน้ำมีอยู่ในปัจจุบัน 34.37% สามารถปลูกข้าวนาปรังรวมกว่า 220,000 ไร่ น้อยกว่าปีที่ผ่านมาที่ปลูกประมาณ 3 แสนไร่

“ในปีที่ผ่านมามีน้ำอยู่ในเขื่อนลำปาว 984 ล้าน ลบ.ม. หรือ 49% ของความจุอ่าง ซึ่งมากกว่าปีนี้ แต่ก็ไม่ถือว่าอยู่ในภาวะแล้ง เพราะหากเกิดภาวะแล้งน้ำในเขื่อนจะเหลือเพียง 20% ขณะเดียวกันพื้นที่การเกษตรทั้งจังหวัดมีอยู่ประมาณ 3 ล้านไร่ แบ่งเป็นปลูกข้าวในจังหวัดประมาณ 1.5 ล้านไร่

และพืชไร่ชนิดอื่นที่ต้องใช้เครื่องสูบน้ำเพื่อสูบน้ำจากเขื่อนลำปาวไปยังพื้นที่เกษตรที่การปล่อยน้ำอาจไปไม่ถึง ซึ่งทางภาครัฐได้มีการประชาสัมพันธ์ถึงเกษตรกรเพื่อสร้างการรับรู้และให้คำแนะนำเกษตรกรไปแล้ว”

แหล่งข่าวจากร้อยเอ็ด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้ทางชลประทานขอความร่วมมือชาวนาไม่ให้ปลูกข้าวนาปรัง เนื่องจากพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังทั้งหมดอยู่ท้ายเขื่อน ทำให้มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ แต่ปัจจุบันชาวนาปลูกข้าวนาปรังไปแล้วกว่า 154,717 ไร่ ซึ่งก็น่าเห็นใจ เพราะช่วงปีที่ผ่านมาชาวนาประสบภัยแล้งอย่างสาหัส ข้าวและพืชอื่นเสียหายมาก ทำให้ขาดรายได้

ชลประทานที่ 6 ตั้งเป้าปลูกพืชฤดูแล้ง 8.4 แสนไร่

นับเป็นโอกาสครั้งสำคัญในรอบ 2 ปีสำหรับเกษตรพื้นที่ลุ่มน้ำชีที่เพิ่งได้มีโอกาสปลูกพืชฤดูแล้ง เพราะที่ผ่านมาประสบกับฝนทิ้งช่วง น้ำในอ่างเก็บน้ำมีน้อย ซึ่งไม่สามารถสร้างรายได้จากการเกษตรที่เป็นอาชีพหลักได้เลย โดยเฉพาะการปลูกข้าวนาปรัง ทว่าในปีนี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้น

“ศักดิ์ศิริ อยู่สุข” ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 เปิดเผย“ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้แหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่ 3 แห่งในเขตรับผิดชอบ คือ เขื่อนจุฬาภรณ์ปัจจุบันมีน้ำอยู่ประมาณ 60% ของความจุอ่าง

เขื่อนอุบลรัตน์อยู่ที่ประมาณ 49-50% ส่วนเขื่อนลำปาวในปีนี้มีปริมาณน้ำเพียง 30-40% น้อยกว่าปีที่ผ่านมา แต่ภาพรวมช่วงปลายฝนเดือนกันยายน-ตุลาคมมีการเก็บน้ำไว้ใช้รวมแหล่งน้ำต่าง ๆ ที่กระจายอยู่ในพื้นที่ประมาณ 60 กว่าแห่งใน 5 จังหวัด

เก็บน้ำเอาไว้ได้มากกว่า 60% ขึ้นไป ส่วนปี 2563 ที่ผ่านมารวมเพียง 20-25% เท่านั้น สถานการณ์จึงถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี

“ปีที่ผ่านมาเราตั้งเป้าให้ประชาชนปลูกพืชฤดูแล้งได้เพียง 4 แสนไร่เท่านั้น ส่วนปีนี้วางแผนไว้ 8.8 แสนไร่มากกว่าปีที่แล้วเป็นเท่าตัว แต่ปัจจุบันประเมินเบื้องต้นเกษตรกรกลับเพาะปลูกมากถึง 1.2 ล้านไร่

เราเข้าใจว่าเกษตรกรพยายามเพาะปลูกเพื่อหารายได้ แต่เราก็ต้องกำหนดแผนการปล่อยน้ำและปริมาณที่เหมาะสมไว้ด้วย ไม่สามารถปล่อยน้ำให้เต็มพื้นที่ได้ เพราะมีพื้นที่นอกเหนือจากการควบคุมอยู่อีกมากเกินกว่า 3 แสนไร่ ซึ่งมีสถานีสูบน้ำไฟฟ้าที่อยู่ลำน้ำชีทั้ง 2 ฝั่งตั้งแต่จังหวัดมหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร”

“ศักดิ์ศิริ” บอกว่า กังวลเรื่องการแย่งน้ำกันอยู่บ้าง อยากให้ประชาชนคอยรับฟังเจ้าหน้าที่เป็นระยะ เพราะจำเป็นต้องปล่อยน้ำจากเขื่อนเพื่อนำไปใช้อุปโภคบริโภค เพื่อการผลิตน้ำประปาเป็นอันดับแรก

ส่วนพืชเกษตรและการปลูกข้าว จะมีช่วงเวลาผลัดกันใช้ไปเป็นระยะอย่างแน่นอน ทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้ปล่อยทิ้งขว้าง ถึงกระนั้นก็อยากให้ประชาชนช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัด แม้ปีนี้คาดการณ์ว่าจะมีฝนเริ่มมาตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน แต่อย่างไรก็ตาม อาจมีฝนทิ้งช่วงอีกก็เป็นไปได้