42 โรงงานอุตสาหกรรมตรังผนึกจังหวัดทำ MOU นำ Bubble & Seal สกัดโควิด

42 โรงงานอุตสาหกรรมตรังผนึกจังหวัดทำ MOU นำ Bubble & Seal สกัดโควิด

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564 นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานการลงนามทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือการนำมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ในโรงงานอุตสาหกรรมแบบมีส่วนร่วม (Bubble and Seal) ระหว่างจังหวัดตรัง กับผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดตรัง ณ ห้องนครินทร์ (ชั้น 1) โรงแรมเรือรัษฎา อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง

นายขจรศักดิ์เปิดเผยว่า ตามที่จังหวัดตรังได้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ในพื้นที่ต่าง ๆ รวมถึงในสถานประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ในโรงงานอุตสาหกรรม ลดการปิดโรงงานอุตสาหกรรม ลดการขาดรายได้ของผู้ใช้แรงงาน ลดผลกระทบต่อผู้ประกอบการและควบคุมไม่ให้แพร่กระจายสู่ชุมชน

จังหวัดตรังและผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดตรัง ได้ตกลงร่วมกันเพื่อดำเนินการภายใต้กรอบแนวทางการดำเนินงาน อาทิ การปฏิบัติการ Bubble and Seal การแยกและรักษาพนักงานที่ป่วยหรือมีอาการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน การตรวจระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 และการสนับสนุนให้พนักงานใช้มาตรการ DMHTTA

“ในวันนี้มีหน่วยงานภาคราชการและเอกชน ประกอบด้วย จังหวัดตรัง โดยผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง อุตสาหกรรมจังหวัดตรัง ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทีอาร์พีเอช และผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง MOU ว่าด้วยความร่วมมือมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ในโรงงานอุตสาหกรรมแบบมีส่วนร่วม Bubble and Seal

โดยมีสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดตรัง พร้อมด้วยหัวหน้าสำนักงานจังหวัดตรัง ร่วมเป็นพยาน และมีสถานประกอบการเข้าร่วมลงนามในครั้งนี้จำนวน 42 ราย ทั้งนี้ จังหวัดตรัง มีโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหมด 413 แห่ง มีพนักงาน 2 หมื่นกว่าคนเศษ โรงงานที่มีคนงานมากกว่า 100 คนมีอยู่ 41 แห่ง” นายขจรศักดิ์กล่าว

ด้านนายประชา งามรัตนกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า วันนี้เป็นอีกวันหนึ่งที่ภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดตรัง ได้แสดงพลังความสามัคคี โดยการมีส่วนร่วมที่จะพาจังหวัดตรังของเราให้ผ่านพ้นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไปด้วยกัน เราระดมกันไม่กี่วันหลังจากเกิดการแพร่ระบาดในโรงงานศรีตรังโกลฟส์ และนาเมืองเพชรพาราวู้ด ซึ่งตนก็ได้มีส่วนร่วมในการเข้าไปแก้ปัญหากับทางจังหวัดและดูแล้วจะเป็นคลัสเตอร์ที่มีการแพร่ระบาดมากขึ้น ดังนั้นภาคอุตสาหกรรมต้องมีส่วนร่วมในการเข้าไปแก้ปัญหานั้น เพื่อให้ภาพของภาคอุตสาหกรรมเป็นภาพที่ดี

นายประชากล่าวต่อไปว่า ตนเองได้พูดคุยกับทางประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาครตลอดหลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่สมุทรสาครและมาเกิดที่ตรัง และก็ได้เห็นว่าการนำมาตรการบับเบิลแอนด์ซีลมาใช้ในการจัดการในสถานที่ติดเชื้อได้ โดยการแยกผู้ติดเชื้อออก และทำการควบคุม ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะที่จะรับผิดชอบต่อสังคม

“ตรังเป็นเมืองเกษตร เรามีอุตสาหกรรมการเกษตรต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมกลางน้ำ แล้วส่งต่อไปให้กับปลายน้ำ มาตรการบับเบิลแอนด์ซีลเหมาะสำหรับนำมาใช้กับโรงงาน ซึ่งจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมทำงานต่อไปได้ไม่เสียหาย ยกเว้นแต่มีบางโรงงานที่เป็นสินค้าปลายน้ำอันนี้ก็ต้องไปอยู่อีกมาตรการหนึ่งที่ไม่สามารถจะมาเข้าร่วมโครงการกับเราได้

ทั้งนี้โรงงานทั้ง 42 รายที่มาในวันนี้ก็สามารถที่จะทำตามมาตรการนี้ได้ ถือเป็นอีกครั้งหนึ่งที่เป็นความร่วมมือของส่วนราชการและเอกชนที่จะร่วมกันแก้ปัญหาให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ซึ่งในครั้งนี้ถือว่าเป็นการแสดงพลังของภาคอุตสาหกรรมที่ถือว่าเร็วมาก” นายประชากล่าว

นายประชากล่าวต่อไปอีกว่า การทำ MOU ในครั้งนี้มี 42 โรงงาน และยังมีอีกหลายโรงงานที่กำลังจะตามมาก็จะทำ MOU กันต่อไป เพราะเป็นเส้นทางที่เราตกลงกันเพื่อที่จะนำไปปฏิบัติในหลักการมาตรการบับเบิลแอนด์ซีลซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือของคนในจังหวัดตรังที่เราจะฝ่าวิกฤตตรงนี้ออกไป ซึ่งโครงการนี้จะแล้วเสร็จใน 28 วันหรือเลยไปไม่เกิน 30 กว่าวัน

ในช่วงเวลานี้เราคิดว่าจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้เพราะมีผู้ประกอบการเข้ามาร่วมโครงการกันมาก ตนเชื่อว่าคลัสเตอร์ที่เกิดขึ้นในโรงงานจังหวัดตรังจะคลี่คลายไปหลังจากที่ดำเนินการบับเบิลแอนด์ซีลแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับการฉีดวัคซีนที่กำลังดำเนินการอยู่

“ภาคเอกชนเราไม่ได้รอที่จะไปรับวัคซีนที่ภาครัฐจัดให้ ขณะนี้กำลังเชื่อมโยงกับทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ให้เราได้ซื้อวัคซีนเบื้องแรกมา ที่ตรังเราจองไปเบื้องต้นแล้ว 10,000 โดสในราคา 888 บาทต่อโดส ซึ่งเป็นหนทางที่ภาคเอกชนกำลังดำเนินการอยู่โดยไม่ได้นิ่งดูดายเพื่อที่จะควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาบวกกับมาตรการของบับเบิลแอนด์ซีล เชื่อว่าในส่วนของภาคอุตสาหกรรมก็สามารถที่จะพาจังหวัดให้ผ่านวิกฤตนี้ไปได้อย่างราบรื่น” นายประชากล่าว