จ.ชุมพร ตั้งชุดเฉพาะกิจสร้างความร่วมมือกับเกษตรกร ผู้ประกอบการ และภาครัฐ สกัดทุเรียนอ่อน ผู้ว่าราชการจังหวัดระบุพื้นที่ปลูกรั้งอันดับ 2 ของประเทศ ด้านเกษตรกรปลูกเพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาด ชี้อีก 5 ปีมีแนวโน้มดี บุกฮ่องกง เกาหลีใต้ และไต้หวัน
นายธีระ อนันตเสรีวิทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เปิดเผยว่า จังหวัดชุมพรมีการเพาะปลูกทุเรียนมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ รองจากจังหวัดจันทบุรี ตัวเลขระบุในปี 2564 จังหวัดชุมพรมีพื้นที่ปลูกทุเรียน 246,580 ไร่
คาดการณ์ว่าจะมีผลผลิตไม่ต่ำกว่า 346,541 ตัน จากพื้นที่ที่ให้ผลผลิตแล้ว 207,376 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 9.8 และคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายนนี้
“จากภาวะเศรษฐกิจการเกษตรของไทยในช่วงไตรมาส 1 ปี 2564 พบว่ามีการขยายตัวขึ้นร้อยละ 1.4 ซึ่งในสาขาพืชมีการขยายตัวมากถึงร้อยละ 3.6 และทุเรียนเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 20.17
เนื่องจากทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีความต้องการของตลาดมาก ทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศโดยเฉพาะในประเทศจีน และอีก 5 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มว่าที่ฮ่องกง เกาหลีใต้ และไต้หวัน จะนำเข้ามากขึ้นจึงทำให้ทุเรียนมีราคาสูง”
เบื้องต้นความต้องการของตลาดเป็นการจูงใจให้เกษตรกรปลูกทุเรียนเพิ่มมากขึ้น แต่ช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมาชุมพรประสบปัญหาเรื่องการตัดทุเรียนด้อยคุณภาพในช่วงต้นฤดูกาล
เนื่องจากทุเรียนในช่วงดังกล่าวมีราคาสูง ทำให้เจ้าของสวนบางรายตัดผลผลิตก่อนกำหนด ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาทุเรียนทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งเกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อทุเรียนไทยในสายตาผู้บริโภค
ทั้งนี้ จังหวัดชุมพรได้ตั้งชุดเฉพาะกิจในการสกัดกั้นทุเรียนด้อยคุณภาพ โดยกำหนดแนวทางควบคุมป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด พร้อมทั้งสร้างการรับรู้ร่วมกันระหว่างเกษตรกร ผู้ประกอบการ
และภาครัฐรวม 10 ข้อ คือ 1.เก็บเกี่ยวผลผลิตตามมาตรฐานทุเรียนคุณภาพ 2.มาตรการดำเนินคดีแก่ผู้จำหน่ายทุเรียนด้อยคุณภาพ 3.การกำหนดวันเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียนจังหวัดชุมพร 4.จัดทำฐานข้อมูลจำหน่ายทุเรียนแผงริมทาง โดยมอบหมายให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดชุมพรดำเนินการ
5.จัดทำฐานข้อมูลโรงคัดแยกบรรจุได้รับมาตรฐาน GMP 6.มาตรการลงโทษล้งที่รับซื้อทุเรียนด้อยคุณภาพ โดยการตักเตือนและยึดใบอนุญาต ซึ่งมอบหมายให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ
7.กำหนดมาตรฐานทุเรียนคุณภาพ 8.บทลงโทษผู้ซื้อขายทุเรียนอ่อน 9.จัดอบรมให้ความรู้เจ้าหน้าที่เรื่องการวิเคราะห์ทุเรียนคุณภาพ และสนับสนุนเครื่องมือในการตรวจสอบ
และ 10.เกษตรกรต้องบันทึกข้อมูลการผลิต แจ้งวันทุเรียนดอกบานและคาดคะเนวันเก็บเกี่ยวผลผลิตให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. และอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) หากผู้บริโภคผู้ค้า หรือประชาชนรายใดได้รับความเดือดร้อน สามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ที่สถานีตำรวจภูธรทุกแห่ง