อีแอ่นบ้านทำประมูลรังนกถ้ำ “พัทลุง-ตราด” 6 ครั้งวืด

รังนก

ธุรกิจรังนกบ้านทำรายได้ ธุรกิจรังนกถ้ำวูบ “พัทลุง-ตราด” เปิดสัมปทาน 6 ครั้ง ไร้วี่แววผู้ยื่นซอง เตรียมปรับราคากลางเปิดประมูลครั้งที่ 7 ด้านชมรมเลี้ยงนกแอ่นภาคตะวันออกเผย “ไทย-กัมพูชา-เวียดนาม” แห่เลี้ยงรังนกบ้าน ทำตลาดหลักจีนเปลี่ยนมาเลือกกินรังนกบ้านราคาถูกกว่ารังนกถ้ำ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานจากจังหวัดพัทลุงว่า กรณีสัมปทานจัดเก็บรังนกอีแอ่น ต.เกาะหมาก อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง ในพื้นที่ 7 เกาะ ที่ผ่านมา คณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นจังหวัดพัทลุงได้ประกาศประมูลหาผู้รับสัมปทานรายใหม่ทั้งหมด 6 ครั้ง

แต่ยังไม่มีใครมายื่นประมูล รวมถึงกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่มีข่าวว่าอยู่ระหว่างรวมตัวระดมทุน จึงต้องประชุมพิจารณาเพื่อเปิดพิจารณาราคากลางในการเปิดประมูลครั้งที่ 7 ต่อไป

ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจรายงานจากจังหวัดตราดว่า ทางจังหวัดตราดสัญญาสัมปทานรังนกถ้ำได้สิ้นสุดและมีการเปิดประมูลเช่นกัน หลังจากบริษัท นำซิง รังนก (ประเทศไทย) จำกัด

สิ้นสุดสัญญาสัมปทานปี 2558 (15 สิงหาคม 2554-15 สิงหาคม 2558) ในพื้นที่ 2 เกาะ คือเกาะรังนกใหญ่ เกาะตุ๊น ต.เกาะหมาก อ.เกาะกูด จ.ตราด มูลค่าของสัญญาสัมปทาน 3,003,800 บาท เว้นระยะเวลาเกือบ 4 ปี (2559-2561)

คณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่น จ.ตราด ชะลอเพื่อตรวจสอบปริมาณรังนก และปี 2562-2563 ประกาศการประมูลครั้งที่ 1-3 ไม่มีผู้ยื่นซองประมูล

และเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2563 มติคณะกรรมการประกาศลดราคาประมูลขั้นต่ำลง 10% คงเหลือราคาประมูล 2,700,000 บาท ครั้งที่ 4-6 และล่าสุดผลการประชุมคณะกรรมการเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564

นายภิญโญ ประกอบผลผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ประธานกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่น จ.ตราด ได้เตรียมจัดประมูลรังนกอีแอ่นครั้งที่ 7 โดยมติคณะกรรมการปรับลดราคาประมูลขั้นต่ำลงอีก 10% รวม 20% ของราคาประมูลเดิม

เหลือ 2,400,000 บาท และยืนราคาประมูลไป 3 ครั้ง (ครั้งที่ 7-9) ซึ่งการประมูลครั้งที่ 7 อยู่ในระหว่างจังหวัดประกาศเปิดประมูล

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่น เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การประมูลครั้งต่อไปไม่น่าจะมีคนสนใจมาประมูล ทั้งบริษัทรายเดิมหรือผู้เลี้ยงนกอีแอ่นใน จ.ตราด

จากการประกาศประมูลมาตลอดทั้ง 6 ครั้ง ไม่มีผู้มายื่นซองประมูล แม้ว่าจะปรับลดราคากลางเหลือ 2.4 ล้าน คาดว่ามี 2-3 สาเหตุ คือค่าธรรมเนียมใบอนุญาตสัมปทานสูง 500,000บาท

ตามระเบียบกรมป่าไม้และค่าตอบแทน 10% ของรายได้สุทธิ 2) ปริมาณรังนกที่จัดเก็บได้น้อยมาก จากการรับสัมปทานของบริษัทนำซิง รักนก (ประเทศไทย) จำกัด เพียงปีละ 2-3 กิโลกรัมเท่านั้น ซึ่งมีปริมาณลดลง จากสัมปทานก่อนหน้านั้นเก็บได้ปีละ 15 กิโลกรัม

และจากการสำรวจของคณะทำงาน 2 ครั้ง ปี 2561 พบรังนกประมาณ 20 รัง 2562 พบรังนกประมาณ 45 รัง เปรียบเทียบรังนกน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ต้องเก็บรังให้ได้ประมาณ 120 รัง ถ้า 3 ล้านบาทต้องเก็บให้ได้ ปีละ18-19 กก. และ 3) พื้นที่บริเวณทำรังนก

เกาะรังใหญ่ เกาะตุ๊นอยู่ห่างไกล ผู้รับสัมปทานต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง และอยู่ในเขตอุทยานหมู่เกาะช้าง ไม่สามารถเฝ้าระวังการเสียหายจากการลักลอบเก็บรังนกหรือศัตรูธรรมชาติ งู ค้างคาวได้

ทางด้านนายฉัตรชัย วัฒนกุล ประธานชมรมเลี้ยงนกแอ่นภาคตะวันออกเปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ปัจจุบันมีการเลี้ยงนกอีแอ่นบ้านกันมากขึ้น ทั้งในประเทศไทยและเพื่อนบ้าน กัมพูชา เวียดนาม ตลาดจีนคือตลาดหลัก

ปกติชมรมเปิดให้ซื้อ-ขายรังนกภาคตะวันออกที่ จ.จันทบุรี เดือนละ 1 ครั้ง ช่วงโควิด-19 รอบ 3 หยุดยาวมา 3-4 เดือนแล้ว ตลาดจีนยังต้องการอยู่ แต่การส่งออกชายแดนเวียดนามยังไม่อนุญาต

ทำให้เงินไม่หมุนเวียน ซื้อมาแล้วยังขายออกไปไม่ได้ ราคาตกลงจากกิโลกรัมละ 20,000 บาท เหลือ 10,000 บาท แต่ถ้ารังนกถ้ำจะได้ราคาแพงกว่ามากก็จริง แต่การรับสัมปทานรังนกถ้ำที่เกาะรังใหญ่ เกาะตุ๊น จะลำบาก ยุ่งยาก และเป็นเขตอุทยานหมู่เกาะช้าง เสี่ยงมากกว่าเลี้ยงนกบ้าน

จากนโยบายของจีนให้ประชาชนมีลูกได้ 2 คน ชาวจีนที่กำลังตั้งครรภ์นิยมทานรังนกนางแอ่นบำรุงครรภ์มาก เมื่อราคารังนกถ้ำแพงกว่ามากจะเลือกที่จะบริโภครังนกที่ถูกกว่า