ชง ประยุทธ์ ขยายเขตเศรษฐกิจพิเศษ จูงใจนักลงทุนเพิ่มจังหวัดชายแดน

ประยุทธ์

“มุกดาหาร-ตราด-สระแก้ว-หนองคาย” ชงขอขยายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ หวังจูงใจนักลงทุน หลังผ่านไป 7 ปี ยังไม่ได้รับความสนใจมากนัก มีผู้ขอรับส่งเสริมการลงทุนรวม 91 โครงการ เงินลงทุน 24.15 ล้านบาท “มุกดาหาร” ขอเพิ่ม อ.เมือง 1 ตำบลเฉียด 6 หมื่นไร่ “ตราด” ขอเพิ่ม 3 อำเภอ พื้นที่ 1 ล้านไร่ “สระแก้ว” ขอเพิ่มพื้นที่ 3 ตำบล 5 หมื่นไร่ “หนองคาย” ขอเพิ่มพื้นที่ 2 ตำบล 2 หมื่นไร่

แหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการของคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) เมื่อเร็ว ๆ นี้ จังหวัดมุกดาหาร ตราด สระแก้ว และหนองคาย ได้ทำเรื่องขอขยายขอบเขตพื้นที่เพิ่มเติมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) 4 จังหวัด เนื่องจากผ่านมา 7 ปี เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนดังกล่าวยังไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร และยังมีปัญหาเรื่องการลงทุนที่ไม่มากนัก โดยจากข้อมูลระหว่างปี 2558-มิถุนายน 2564 พบว่ามีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ รวม 91 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนเพียง 24.15 ล้านบาท

โดยในส่วนของจังหวัดมุกดาหาร มีการเสนอขอเพิ่มพื้นที่ 1 ตำบล ใน อ.เมืองมุกดาหาร คือ ต.คำป่าหลาย พื้นที่ 59,375 ไร่ เนื่องจากเป็นพื้นที่ติดต่อกับตำบลที่มีการประกาศเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร และเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ เหมาะสมกับการลงทุนภาคอุตสาหกรรม มีโรงงานต่าง ๆ มาก

และอนาคตจะเป็นที่ตั้งของสนามบิน และเส้นทางรถไฟรางคู่ ซึ่งจะทำให้ขนาดพื้นที่รวมของเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีทั้งสิ้นประมาณ 420,917 ไร่ จากเดิมพื้นที่เดิมมี 5 ตำบล ใน อ.เมืองมุกดาหาร คือ ต.ศรีบุญเรือง ต.มุกดาหาร ต.บางทรายใหญ่ ต.คำอาฮวน และ ต.นาสีนวล 2 ตำบลใน อ.ดอนตาล คือ ต.โพธิ์ไทร ต.ดอนตาล มีพื้นที่ 361,542 ไร่

ขณะที่จังหวัดตราดเสนอขอเพิ่มพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อ.เมืองตราด อ.บ่อไร่ อ.เขาสมิง พื้นที่ 1,436,125 ไร่ เนื่องจากพื้นที่เดิมมีขนาดเล็กและส่วนใหญ่ไม่ใช่ของรัฐ ทำให้ติดขัดเรื่องการขอรับสิทธิและประโยชน์ และเพื่อให้การเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมมีศักยภาพมากขึ้น

โดย อ.เขาสมิง เป็นที่ตั้งสนามบิน พื้นที่ติดชายแดนกัมพูชา อ.บ่อไร่ มีจุดผ่อนปรนทางการค้าเนิน 400 บ้านม่วง ต.นนทรี อ.เมืองตราด มีด่านช่องทางธรรมชาติ บ้านท่าเส้น ต.แหลมกลัด และเป็นทางผ่านไปยังพื้นที่ใกล้เคียงเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะทำให้ขนาดพื้นที่รวมเพิ่มเป็น 1,467,500 ไร่ จากพื้นที่เดิม 3 ตำบลใน อ.คลองใหญ่ คือ ต.คลองใหญ่ ต.ไม้รูด ต.หาดเล็ก มีขนาดพื้นที่เพียง 31,375 ไร่

จังหวัดสระแก้ว เสนอขอเพิ่มพื้นที่ 3 ตำบล ใน อ.อรัญประเทศ คือ ต.บ้านใหม่หนองไทร ต.ฟากห้วย ต.อรัญประเทศ พื้นที่ 53,262 ไร่ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยง การใช้ประโยชน์ เชิงพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมมากยิ่งขึ้น ขนาดพื้นที่รวมจะเพิ่มขึ้นเป็น 260,762 ไร่ จากพื้นที่เดิม 3 ตำบล ใน อ.อรัญประเทศ คือ ต.ท่าข้าม ต.บ้านด่าน ต.ป่าไร่ 1 ตำบลใน อ.วัฒนานคร คือ ต.ผักขะ มีพื้นที่รวม 207,500 ไร่

และจังหวัดหนองคาย เสนอขอเพิ่มพื้นที่ 2 ตำบล ใน อ.เมืองหนองคาย คือ ต.เมืองหมี ต.ปะโค พื้นที่ 22,026 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ติดริมแม่น้ำโขง ติดกับด้านฝั่งลาวที่มีพื้นที่ SEZ 5 เขต จะทำให้พื้นที่ อ.เมืองหนองคาย เป็นเขต SEZ เกือบเต็ม ปัจจุบันมีการจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในพื้นที่ดังกล่าว เช่น โรงงานเอ็นเทคโพลิเมอร์ (ยางพารา) โรงงานนาคิเทค (พลาสติก) โรงสีข้าวสมบูรณ์พืชผลการเกษตร โรงงานพรีเมียร์ควอลิตี้สตาร์ (แป้งมัน) และจะทำให้ขนาดพื้นที่รวมเพิ่มเป็น 318,068 ไร่ จากเดิมที่มีพื้นที่ใน 12 ตำบล ใน อ.เมืองหนองคาย คือ ต.ค่ายบกหวาน ต.ในเมือง ต.บ้านเดื่อ ต.พระธาตุบังพวน ต.โพธิ์ชัย ต.โพนสว่าง ต.มีชัย ต.เวียงคุก ต.สีกาย ต.หินโงม ต.หนองกอมเกาะ ต.หาดคำ 1 ตำบลใน อ.สระใคร คือ ต.สระใคร รวม 296,042 ไร่

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการได้มอบให้กระทรวงมหาดไทยและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงความเป็นไปได้และความเหมาะสม กำหนดพื้นที่เพิ่มเติมในระดับตำบลของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 4 จังหวัด เพื่อนำเสนอข้อสรุปให้ กพศ. ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณา และเสนอให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบออกประกาศกำหนดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนต่อไป