5 องค์กรรัฐ-เอกชน ดันตั้ง “ระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสอันดามัน”

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพผนึกกฎบัตรไทย-บริษัท อันดามันพัฒนาเมือง-มอ.-บพท.ดันตั้ง “เขตระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสอันดามัน” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเวลเนส หวังแชร์ส่วนแบ่งตลาดเวลเนสโลก 10% 24,500 ล้านบาทในปี 2570

วันที่ 28 มกราคม 2565 นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนระบบนิเวศรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรม Wellness Hub กระทรวงสาธารณสุข กล่าวระหว่างการเปิดประชุมระดมความเห็นการพัฒนาเขตเศรษฐกิจเวลเนสอันดามัน (Andaman Wellness Corridor-AWC)

โดยกระทรวงสาธารณสุขในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบการจัดทำยุทธศาสตร์สุขภาพและส่งเสริมเศรษฐกิจเวลเนส ตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีในการยกระดับเศรษฐกิจเวลเนสให้เป็นสาขาหลักเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจระหว่างการระบาดและภายหลังการระบาดของโควิด-19 โดยการยกระดับสมรรถนะกิจการเวลเนสและสร้างพื้นที่เศรษฐกิจเวลเนสรองรับการบริการนักท่องเที่ยวสุขภาพซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตสูง พร้อมพัฒนามาตรฐานเวลเนสทุกสาขา

ทั้งนี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพมีนโยบายพัฒนาใบอนุญาตเวลเนสใบเดียว หรือ wellness single license เพื่ออำนวยความสะดวกให้โรงแรมและกิจการเวลเนสสามารถนำกิจกรรมเวลเนสสาขาต่าง ๆ อาทิ การแพทย์แผนไทย การแพทย์ตะวันออก งานเวชกรรมประเภทบริการความงาม สปา การฟื้นฟูสุขภาพ การดูแลผู้สูงอายุ หรือดิจิทัลเฮลท์ เข้าดำเนินการในโรงแรมได้ด้วยการขอประกอบการด้วยใบอนุญาตใบเดียว นับเป็นการลดขั้นตอนการเข้าถึงธุรกิจ สามารถเพิ่มจุดขายสุขภาพและเวชกรรมที่หลากหลายในพื้นที่โรงแรมเช่นเดียวกับต่างประเทศ

นายแพทย์ธเรศกล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จึงได้เสนอแนวคิดการพัฒนา “เขตระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสอันดามัน” เป็นพื้นที่นำร่อง โดยสร้างกระบวนการพัฒนาอย่างเป็นระบบ เป็นต้นแบบให้กับพื้นที่ท่องเที่ยวอื่น ให้เวลเนสเป็นหัวจักรในการแบ่งส่วนตลาดโลก

ด้วยพื้นที่อันดามันมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานสุขภาพ โรงแรมเวลเนสมีสมรรถนะสูง เนื่องจากในปี พ.ศ. 2564 กรม และกฎบัตรไทยได้จัดการฝึกอบรมหลักสูตรการจัดการโรงแรมส่งเสริมสุขภาพสำหรับผู้บริหาร มีโรงแรมผ่านการฝึกอบรมไปแล้วจำนวน 110 แห่ง

นอกจากนั้น จังหวัดภูเก็ตยังถูกคัดเลือกให้เป็นสถานที่จัดงาน International Wellness Expo ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณไปแล้วเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ กรมจึงร่วมกับกฎบัตรไทย มหาวิทยาลัยสงขลานรินทร์ (มอ.) และหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาพื้นที่ (บพท.) พร้อมด้วยองค์กรเครือข่ายจัดประชุมระดมความคิดเห็นการพัฒนา AWC เพื่อนำข้อเสนอจากภาคส่วนเข้าสู่การพิจารณาของคณะทำงาน Wellness Hub คณะกรรมการ Medical Hub และคณะรัฐมนตรีต่อไป

รองศาสตราจารย์ ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า บพท.ได้จัดสรรงบประมาณวิจัยเพื่อพัฒนายุทธศาสตร์การพัฒนา AWC โดยมุ่งเน้นไปยังการยกระดับสมรรถนะกิจการเวลเนสและการนำนวัตกรรมเพื่อเพิ่มการลงทุนทางเศรษฐกิจเวลเนส

ซึ่งช่วงที่ผ่านมา บพท. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เทศบาลตำบลกะรน และกฎบัตรไทย ได้ร่วมกันพัฒนาพื้นที่กะรนเวลเนสแซนด์บอกซ์ โดยมีเป้าหมายยกระดับทางกายภาพและโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ขนาดเล็กเพื่อเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่ทั่วทั้ง AWC โดย บพท.เชื่อว่า เศรษฐกิจเวลเนสจะเป็นหัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสาขาอื่นให้ขยายเติบโตเป็นลูกโซ่

ด้านนายฐาปนา บุณยประวิตร เลขานุการกฎบัตรไทยในฐานะคณะทำงานพัฒนา Wellness Hub กล่าวเสริมว่า เป้าหมายหลักของ AWC นอกจากการประกาศให้อันดามันเป็นพื้นที่พัฒนาพิเศษด้านเวลเนสแล้ว AWC ยังเป็นพื้นที่นวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทุกหน่วยงานและองค์กรเครือข่ายกฎบัตรไทย จะต้องร่วมมือกันยกระดับทางกายภาพ โครงสร้างพื้นฐาน ระบบการผลิต ระบบการบริการที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสุขภาพ

โดยมุ่งไปยังการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาคการผลิตและการบริการให้นิเวศและซับพลายเชนของอันดามันตอบสนองต่อการพัฒนาเศรษฐกิจเวลเนสอย่างแท้จริง สามารถกระจายรายได้การท่องเที่ยวสุขภาพหรือเวลเนสไปยังชุมชนท้องถิ่น สนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของท้องถิ่นและธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่สำคัญ เศรษฐกิจเวลเนสจะสร้างโอกาสในการฟื้นฟูศาสตร์การแพทย์แผนไทยหรือการแพทย์ทางเลือกหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดยเกษตรกรในพื้นที่ต้องเป็นฐานการผลิตหลักให้กับการบริการของ AWC

สำหรับการจัดประชุมระดมความคิดเห็นการพัฒนาเขตระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสอันดามันในครั้งนี้ คณะทำงานต้องการรับฟังความเห็นและรับข้อเสนอแนะประเด็นหลัก 10 ข้อ ประกอบด้วย 1.ระดับศักยภาพในอนาคตของนิเวศและซัrพลายเชนเวลเนสพื้นที่อันดามันและประเทศไทย 2.ข้อคิดเห็นอนาคตการเติบโตของเศรษฐกิจเวลเนสของโลกในช่วง 20 ปีข้างหน้า 3.แนวทางการยกระดับสมรรถนะกิจการโรงแรมส่งเสริมสุขภาพและกิจการเวลเนส รวมทั้งชุมชนเวลเนสในพื้นที่ AWC 4.แนวการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนการพัฒนาเวลเนส 5.แนวทางการพัฒนาเขตนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพร่วมกับองค์กรปกครองท้องถิ่นและหน่วยงานเกี่ยวข้อง

6.สิทธิประโยชน์และปัจจัยด้านต่าง ๆ ที่กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเวลเนสทั่วทั้งระบบ 7.บทบาทหน้าที่ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพและหน่วยงานต่าง ๆ ในการสนับสนุนการพัฒนาเวลเนส 8.กฎหมายและข้อกำหนดที่จำเป็นต่อการสนับสนุนการพัฒนานิเวศเวลเนสและการพัฒนาเขตนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ 9.ข้อเสนอแผนปฏิบัติการและแผนงานนำร่องที่ปฏิบัติได้ สามารถมองเห็นผลกระทบเชิงบวกในช่วงเวลา 1-3 ปี 10.ระดับขีดความสามารถการแข่งขันของกิจการ Thai wellness unicorn และความคาดหวังส่วนแบ่งตลาดเวลเนสไทยจากตลาดโลก

ในส่วนของเป้าหมายด้านมูลค่าเศรษฐกิจที่ต้องการของพื้นที่ AWC นั้น เฉพาะมูลค่าตลาดที่ขอแบ่งจากตลาดโลก โดยคณะทำงานได้ตั้งเป้าหมายส่วนแบ่งตลาดเวลเนสโลกไว้ที่ 24,500 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2570 หรือส่วนแบ่งของ AWC จะเท่ากับร้อยละ 10 จากการประมาณการมูลค่าเศรษฐกิจเวลเนสโลกโดย The Global Wellness Institute ในปี พ.ศ. 2570 ที่ 7.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดดไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ต่อปี สาขาที่มีอัตราการเติบโตสูงสุด

ได้แก่ สาขาบริการความงาม สาขาการดูแลผู้สูงอายุ และสาขาการแพทย์ทางเลือก ตามลำดับ หากสามารถแบ่งส่วนตลาดเวลเนสโลกได้มากกว่าร้อยละ 20 ไทยจะกลายเป็นประเทศมหาอำนาจเวลเนสของโลก