กุหลาบถุงวาเลนไทน์ขายดี เกษตรเล็งปรับตัวเพิ่มสายพันธุ์

เกษตรกรยิ้มรับทำรายได้หลักแสน จากออร์เดอร์ต้นกุหลาบถุงพุ่งรับวันวาเลนไทน์ ขณะที่หลายปัจจัยทำยอดขายลดลง ทั้งภาวะเศรษฐกิจ การเกิดโรคระบาด การแข่งขันสูง รวมไปถึงงานอีเวนต์ที่ชะลอตัว ระบุกุหลาบยังเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ต้องปรับตัวขยายตลาดเพิ่มความหลากหลายให้มากขึ้น

นางสุนีรัตน์ จันดา เจ้าของสวนน้อยพรรณไม้ ชุมชนดอนกลาง อ.เมือง จ.หนองคาย เปิดเผยว่า หลังจากปรับตัวลดการตัดดอกกุหลาบขาย แล้วหันมาเพาะต้นกุหลาบลงถุงขายแทนตั้งแต่ปี 2564 ส่งผลให้เดือนมกราคม 2565 มียอดสั่งจองกุลาบถุงเป็นจำนวนมากทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ สปป.ลาว โดยทางสวนน้อยพรรณไม้ปลูกกุหลาบพวงสีแดงและสีชมพูกว่า 10,000 ต้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า ซึ่งราคาขายส่งอยู่ที่ถุงละ 17 บาท ขายปลีกถุงละ 20 บาท ในแต่ละวันสามารถจัดจำหน่ายได้นับร้อยถุง สร้างรายได้นับแสนบาท

“ทางสวนปลูกกุหลาบมานานกว่า 50 ปี การทำต้นกุหลาบลงถุงขายพบว่าตลาดมีแนวโน้มการเติบโตสูงขึ้นเท่าตัว 100% จึงงดการตัดดอก หันมาทำกุมหลาบถุงอย่างจริงจัง ช่วงใกล้วาเลนไทน์ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และวัยรุ่น ตอนนี้หลายคนมองว่าการมอบกุหลาบทั้งต้นก็นับเป็นการแสดงออกอีกรูปแบบหนึ่ง ที่มีคุณค่าทางใจไม่น้อยกว่าการให้เป็นดอกและเป็นช่อ ผู้รับยังสามารถนำไปปลูกเพื่อความสวยงามอยู่ได้นานกว่าแบบเป็นช่ออีกด้วย”

ด้านนายสุรพันธ์ โลมา เจ้าของสวนกุหลาบแม่ยุพิน ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สวนกุหลาบแม่ยุพิน เป็นสวนกุหลาบอีกหนึ่งแห่งที่ปลูกกุหลาบเพื่อการขายส่งมานานกว่า 10 ปี มีพื้นที่ปลูก 10 ไร่ ปัจจุบันมีตลาดขายส่งหลัก ได้แก่ ปากคลองตลาด สุโขทัย และโคราช

ในช่วง 2 ปีที่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ยอดขายต้นกุหลาบลดลงมากกว่า 30% เนื่องจากมีการจัดงานอีเวนต์หรือกิจกรรมต่าง ๆ ลดลง ทำให้ไม่มีการนำต้นหรือดอกกุหลาบไปประดับตกแต่งการจัดงาน ซึ่งทางสวนก็ได้ปรับตัวหันมาทำตลาดออนไลน์ตั้งแต่ปี 2564 ที่ผ่านมา ผ่านช่องทาง Shopee และ Lazada แต่ยอดขายไม่ค่อยดีนัก การแข่งขันสูง โดยเฉพาะเรื่องราคา สัดส่วนการทำตลาดออนไลน์จึงมีเพียง 2% เท่านั้น ฉะนั้นยังคงเน้นตลาดขายส่งเป็นหลัก

สำหรับภาพรวมตลาดช่วงปีใหม่ในมกราคม 2565 ตลาดเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง มียอดการสั่งซื้อต้นกุหลาบอาทิตย์ละ 2 คันรถปิกอัพ เฉลี่ยขนส่ง 1,500-1,600 ต้นต่อ 1 คันรถ (รวม 2 คัน 3,000-3,200 ต้น) มียอดขายรวมประมาณ 120,000 บาท กระทั่งเข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ยอดการสั่งซื้อเริ่มลดลง โดยเฉพาะในช่วงใกล้เทศกาลวาเลนไทน์ปีนี้ พบว่าตลาดไม่คึกคัก สวนกุหลาบแม่ยุพินมียอดขายเหลือเพียง 1 คันรถต่ออาทิตย์เท่านั้น

“สาเหตุหลักอาจเป็นเพราะยังมีการระบาดของโควิด-19 เพิ่มขึ้น ทำให้กิจกรรมการจัดงานหรืออีเวนต์ที่ต้องใช้ดอกกุหลาบชะลอการจัดงานออกไป ประกอบกับตลาดปลายทางมีการแข่งขันสูงเรื่องราคา รวมถึงภาวะเศรษฐกิจที่คนมีความระมัดระวังในการใช้จ่าย ซึ่งดอกกุหลาบจัดอยู่ในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย อาจทำให้การตัดสินใจซื้อดอกกุหลาบเพื่อมอบให้กันในวันวาเลนไทน์ปีนี้มีความยากขึ้น”

นายสุรพันธ์กล่าวต่อไปว่า สวนกุหลาบแม่ยุพินจะไม่เน้นทำตลาดในจังหวัดเชียงใหม่ เพราะในพื้นที่จังหวีดเชียใหม่มีสวนกุหลาบเป็นจำนวนมาก การแข่งขันค่อนข้างสูง จึงต้องมุ่งทำตลาดขายส่งไปยังพื้นที่อื่น นอกจากปากคลองตลาด สุโขทัย และโคราช ที่เป็นตลาดขายส่งหลักแล้ว ในปีนี้อาจขยายตลาดในประเทศเพิ่มเติม

ขณะที่ต้นทุนการผลิตก็เพิ่มขึ้น อาทิ ปุ๋ย จากเดิมราคากระสอบละ 1,000 บาท หลังปีใหม่ก็ปรับขึ้น 1,200 บาทต่อกระสอบ ทำให้ทางสวนต้องปรับราคาขายต้นกุหลาบเพิ่มขึ้นตามไปด้วย จากเดิมราคาต้นละ 30 บาท เป็นต้นละ 40-50 บาท และต้องปรับปรุงการผลิตให้ต้นกุหลาบมีความแข็งแรงมากขึ้น พร้อมหาสายพันธุ์ใหม่ ๆ เข้ามาเพิ่มเติม นอกเหนือจากกุหลาบสายพันธุ์อังกฤษที่กำลังเป็นที่นิยม เพื่อเพิ่มความหลากหลายของสินค้า