จีนออกหนังสือเตือนครั้งแรก ทุเรียนไทยติดโควิด ห้ามผ่านด่านโมฮาน

ทุเรียน

จีนออกหนังสือเตือนเป็นทางการครั้งแรก หากพบโควิดใน “ทุเรียนไทย” อีก จะแบนห้ามผ่านด่านโมฮานอีก ผู้ว่าฯจันทบุรีเผย “ทูตเกษตร-ทูตพาณิชย์” เจรจาทางการจีน ขอให้ระงับเฉพาะ 6 ล้งที่ตรวจพบโควิด 5 วัน ไม่ระงับทุเรียนไทยทั้งหมด

วันที่ 27 เมษายน 2565 นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า วานนี้ (26 เม.ย. 65) มีข่าวการตรวจพบเชื้อโควิด-19 ในตู้ทุเรียนไทย 8 ตู้ที่ส่งเข้าด่านโมฮาน ซึ่งตอนแรกมีข่าวว่าทางการจีนจะปิดด่าน 5 วัน แต่ทางทูตเกษตรและทูตพาณิชย์ของไทยได้มีการเจรจาขอให้ทางการจีนขออะลุ่มอล่วยว่าถ้าปิดด่าน 5 วันจะได้รับผลกระทบอย่างมากต่อสินค้าไทยที่ส่งออกไปเข้าคิวรออยู่ จนได้ข้อสรุปตรงกันว่า

ให้ระงับการนำเข้าเฉพาะผู้ประกอบการล้งที่ส่งสินค้าไปตรวจพบเชื้อ 6 ราย เป็นเวลา 5 วัน เพื่อให้ไปปรับปรุงคุณภาพ แต่ในอนาคตหากจีนตรวจพบเชื้อโควิดจากทุเรียนไทยอีก จีนจะเพิ่มมาตรการเข้มข้นขึ้นอีก ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นจะไม่ได้เสียหายเฉพาะล้งที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการหรือหละหลวม แต่จะทำให้ล้งที่ทำตามมาตรฐาน รวมถึงสวนทุเรียนได้รับความเดือดร้อนไปด้วย

ทุเรียน

สำหรับล้ง 6 แห่งที่ตรวจพบเชื้อโควิด แบ่งเป็นล้งในอำเภอเมือง 2 แห่ง อำเภอแหลมสิงห์ 1 แห่ง อำเภอท่าใหม่ 1 แห่ง อำเภอมะขาม 2 แห่ง

“การติดเชื้อไม่ได้พบเพียงตู้เดียว แต่พอถึง 8 ตู้ ทางการจีนตรวจตั้งแต่ผลทุเรียน กล่องบรรจุ ตู้คอนเทนเนอร์ คนขับรถ บริเวณจุดสัมผัสในรถถูกตรวจด้วย ทุกคนต้องตระหนักช่วยกัน ตอนนี้ทางการจีนมองว่า ผู้ประกอบการไทยไม่ได้ทำตามมาตรการที่ได้ประชาสัมพันธ์ไป

ผมจึงขอวิงวอนขอความร่วมมือทุกคนช่วยกันตั้งแต่ต้นทางสวนให้ระมัดระวังเรื่องการปนเปื้อนโควิด ตั้งแต่คนทำหน้าที่ตัดทุเรียนจะต้องมีผลการตรวจ ATK ซึ่งผมมีกำหนดไว้ในคำสั่ง อยากให้เจ้าของสวนเลือกคนตัดที่ผ่านการตรวจ ATK ภายในระยะเวลา 72 ชั่วโมง เพื่อให้การสัมผัสทุเรียนที่ขั้ว ที่เปลือก จะได้ปลอดเชื้อโควิด มีการสวมหน้ากากตลอด มีการล้างมือตลอด

เมื่อตัดทุเรียนลงมาจากต้นแล้ว ต้องใช้แรงงานที่ผ่านการตรวจ ATK มาแล้ว ก่อนส่งมาล้ง เมื่อมาถึงล้งต้องวางมาตรการที่เข้มงวด เพื่อที่จะให้มั่นใจว่าทุเรียนทุกผล สามารถออกไปอย่างปลอดเชื้อได้”

ทั้งนี้จากการลงตรวจเยี่ยมตามล้งต่าง ๆ พบว่ามีผู้ประกอบการปฏิบัติตามมาตรการของจังหวัด หรือบางแห่งมีการเพิ่มมาตรการเข้มงวดตรวจ ATK คนงานทุก 3 วันก็มี ยกตัวอย่างล้งดี ๆ เช่น ล้ง RSK, ล้งเดอะลิส ที่ไปตรวจเยี่ยมมา ขั้นตอนกระบวนการต่าง ๆ การทำความสะอาดการฉีดยาฆ่าเชื้อ คนงานพนักงานมีการสวมถุงมือ มีการตรวจ ATK ตามคำสั่งทุก 7 วัน และให้สุ่มตรวจ

แต่ล้งเดอะลิส ตรวจ ATK ทุก 3 วัน และตรวจทุกคนเลย อย่างนี้น่าชื่นใจ บางล้งได้ใช้อุโมงค์น้ำยาผ่านสายพานเล็ก ๆ มีการพ่นน้ำยารอบลูกทุเรียน มีการพลิกให้ทุเรียนโดนน้ำยารอบลูกก่อนบรรจุลงกล่องเป็นมาตรการดี ๆ

นายสุธีกล่าวต่อไปว่า ตอนนี้การตัดทุเรียนจากข้อมูลจากเกษตรจังหวัดจันทบุรี ตอนนี้ตัดทุเรียนไป 15% ประมาณ 70,000 กว่าตัน ยังเหลือทุเรียนกว่า 80% ต้องช่วยกันรักษาคุณภาพทุเรียน และทุเรียนอ่อนอย่าส่งออกไป มือตัดคนไหนไปตัดทุเรียนอ่อนลงมา แจ้งมาทางจังหวัดจะดำเนินคดีกับคนตัด และจะให้ดำเนินคดีทั้งกระบวนการ ล้งอาจไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ที่ผ่านมาพยายามอบรมให้มีความรู้การดูทุเรียนอ่อน

นอกจากนี้ในส่วนการเปิดบริการตรวจสอบทุเรียนอ่อนก่อนตัด ที่ผ่านมามีชาวสวนส่งตัวอย่างมาตรวจ 4,638 ตัวอย่าง พบทุเรียนอ่อน 34% ทุเรียนผ่าน 65% แสดงว่าชาวสวนที่นำทุเรียนมาตรวจก่อนดำเนินการตัดต้องการรับผิดชอบต่อผู้บริโภค ต้องขอชื่นชม

สำหรับปริมาณการส่งออกทุเรียนไปต่างประเทศรวมทุกจังหวัดจันทบุรี ระยอง ตราด ตอนนี้ส่งออกไปแล้ว 95,000 ตัน จากทุเรียนทั้งหมดที่คาดการณ์ 7 แสนกว่าตัน

นายสุธีกล่าวถึงภาพรวมสถานการณ์โควิดในจังหวัดจันทบุรีว่า เป็นข่าวดีตัวเลขในรอบสัปดาห์ 7 วันพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 911 คน ไม่รวมการตรวจ ATK พบเฉลี่ยต่อวัน 130 คน ถือว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 3 ถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่ยังมีผู้ติดเชื้อในชุมชนอีกมาก มีผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการมีถึง 50% ซึ่งอาจแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นได้ ขอให้ทุกคนช่วยกันระมัดระวังปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิดอย่างเคร่งครัด

รายงานข่าวจากฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว รายงานว่า ทางศูนย์บัญชาการส่วนหน้าในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด่านโมฮานได้ออกหนังสือเลขที่ 2022-122 ประกาศเรื่องทุเรียนนำเข้ามีผลตรวจโรคโควิด-19 เป็นบวก

ทุเรียน

ระบุถึงกลุ่มผู้บริหารงานด้านการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโรคอำเภอ (เหมิ่งล่า) ระบุว่า ตามงานสุ่มตรวจประจำของศูนย์ด่านโมฮานตรวจพบสินค้าทุเรียนนำเข้ามีผลตรวจเป็นบวกหลายครั้งติดต่อกัน จึงขอรายงานเรื่องที่เกี่ยวข้องกลุ่มผู้บริหารงานด้านการป้องกันอำเภอเหมิ่งล่า ระบุใจความสำคัญว่า

เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2565 มีรถขนส่งทุเรียนนำเข้าข้ามแดนผ่านด่านโมฮาน จำนวน 82 คัน ต้นทางจากประเทศไทย โดยมีรถจำนวน 6 คัน ผลตรวจกรดนิวคลีอิกโควิด-19 เป็นบวก อัตราผลตรวจเป็นบวกคิดเป็นร้อยละ 7.32 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 66.67 ของจำนวนรถที่มีผลตรวจเป็นบวกในวันเดียวกัน

รถที่มีผลตรวจเป็นบวกจำนวน 9 คัน ส่วนที่พบมีทั้งผนังตู้ด้านใน บรรจุภัณฑ์ด้านนอก และตัวสินค้า โดยระบุบริษัทผู้รับสินค้าในประเทศจีนที่เกี่ยวข้อง 6 บริษัท และบริษัทผู้ยื่นพิธีการศุลกากรที่เกี่ยวข้อง จำนวน 6 บริษัท และมีสวนผลไม้และโรงคัดบรรจุที่เกี่ยวข้อง 6 แห่ง ได้แก่

1) สวน AC 03-9001-36472511111 โรงคัดบรรจุ DOA 50000 10 012294 N/M
2) สวน AC 03-9001-36290748111 โรงคัดบรรจุ DOA 50000 99 010879 N/M
3) สวน AC 03-9001-36478981111 โรงคัดบรรจุ DOA 50000 99 010691 N/M
4) สวน AC 03-9001-36479360111 โรงคัดบรรจุ DOA 50000 10 012153 N/M
5) สวน AC 03-9001-36502524111 โรงคัดบรรจุ DOA 50000 10 011872 N/M
6) สวน AC 03-9001-36538424111 โรงคัดบรรจุ DOA 50000 99 011545 N/M

กำหนดมาตรการที่ต้องดำเนินการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมกับแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของฝ่ายไทยกำหนดให้ปรับปรุงแก้ไขปัญหาทุเรียนนำเข้าที่มีอัตราผลตรวจเป็นบวกที่สูงภายใน 5 วันทำการ เมื่อครบกำหนดเวลาปรับปรุงแก้ไข ยังคงเกิดปัญหาที่คล้ายคลึงกัน จะดำเนินการมาตรการป้องกันอย่างฉุกเฉินและระงับสินค้าทุเรียนนำเข้าตามประกาศ เลขที่ 103 ของสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน และประกาศระงับสินค้านำเข้าตามชนิดสินค้าตามเอกสารของศูนย์ด่านโมฮาน โม่เฉียดจื่อฟา (2021) เลขที่ 48

แหล่งข่าวจากจังหวัดจันทบุรีระบุว่า ที่ผ่านมาทางการจีนไม่เคยทำหนังสือเตือนอย่างเป็นทางการ แต่ครั้งนี้ทำหนังสือเตือนอย่างเป็นทางการ และการระบุว่า เมื่อครบกำหนดเวลาปรับปรุงแก้ไข ยังคงเกิดปัญหาที่คล้ายคลึงกัน จะดำเนินการมาตรการป้องกันอย่างฉุกเฉินและระงับสินค้าทุเรียนนำเข้าตามประกาศ เลขที่ 103 ของสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน

และประกาศระงับสินค้านำเข้าตามชนิดนั้นหมายถึงการห้ามทุเรียนไทยเข้าจีนทางด่านโมฮาน ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วกับผลไม้ส่งออกของประเทศเวียดนาม