ทุเรียนแสนล้าน ลุ้นระทึกพบโควิด จีนปิดด่าน ราคาสะวิงลงหนัก

ทุเรียน

ความเข้มงวดในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 บนบรรจุภัณฑ์และตัวสินค้าทุกชนิด ตามนโยบาย “Zero-COVID” ของรัฐบาลจีน ได้คงส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการส่งออกทุเรียนไทยในฤดูกาลนี้ โดยล่าสุดทางการจีนได้สั่ง “ระงับ” การนำเข้าทุเรียนไทยเป็นครั้งที่ 2 ที่ด่านโมฮาน เป็นเวลา 5 วัน ระหว่างวันที่ 25-29 เมษายน 2565 หลังจากตรวจพบเชื้อโควิดในตู้คอนเทนเนอร์บรรจุทุเรียนถึง 8 ตู้

จากที่ก่อนหน้านี้ในช่วงสงกรานต์ระหว่างวันที่ 12-14 เมษายน 2565 ทางการจีนก็ได้ตรวจพบเชื้อโควิด-19 บริเวณบรรจุภัณฑ์และขั้วทุเรียนไทยที่ส่งไป 4 ตู้ และได้สั่งระงับการนำเข้าไป 3 วัน ขณะที่ผลผลิตทุเรียนบนต้นของไทยก็กำลังทยอยสุกรอการตัดลงมา ส่งผลให้ความหวังที่จะสร้างรายได้จากการส่งออกมูลค่านับแสนล้านบาทจากประเทศไทยไปจีนในปีนี้ ยังต้องลุ้นกันวันต่อวัน

ปิดด่าน 5 วัน ราคาทุเรียนสะวิงลง

นโยบาย Zero-COVID ของจีนส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อการส่งออกผลไม้ไปจีน โดยเฉพาะ “ทุเรียนและมังคุด” ที่กำลังทยอยออกตามมาติด ๆ ในเดือนพฤษภาคม ล่าสุดด่านโมฮาน ซึ่งเป็นด่านพรมแดนลาว-จีน ที่นิยมขนส่งมากที่สุด ต้องสั่งระงับการนำเข้าทุเรียนไทยจำนวน 5 วัน คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อราคาทุเรียนไทย “สะวิงลง” อย่างรุนแรง ประกอบกับปีนี้ผู้ประกอบการไม่กล้าตัดสินใจที่จะซื้อทุเรียนล่วงหน้า หรือเหมาสวนอย่างแต่ก่อน เพราะเสี่ยงต่อการขาดทุน ดังนั้นทางรอดทุเรียนไทยไปจีนอย่างเดียวตอนนี้คือ ต้องปลอดโควิดเท่านั้น

นายชายพงษ์ นิยมกิจ ประธานหอการค้า จ.จันทบุรี กล่าวว่า Zero-COVID คือปัญหาใหญ่ที่สุดของระบบการส่งทุเรียนไปตลาดจีนตอนนี้ เพราะด่านจะระงับการนำเข้า จะมีปัญหาต่อราคารับซื้อทุเรียนจากเกษตรกรที่สะวิงขึ้นลงแรง เพราะเมื่อด่านอนุมัติให้นำเข้าทุเรียนได้ ตลาดจีนยังต้องการทุเรียนปริมาณมาก แต่เมื่อเกิดปัญหาการขนส่งชะงักลง ราคาทุเรียนก็จะดิ่ง ช่วงนี้ตลาดทุเรียนในจีนยังเป็นของไทย ทุเรียนเพื่อนบ้านเวียดนาม มาเลเซียยังไม่ออก แต่ต้องทำให้ปลอดโควิด-19 ให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้จีนตรวจพบและระงับการนำเข้า

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการได้หันไปใช้การขนส่งทุเรียนทางเรือมากขึ้น แม้จะตรวจโควิด-19 เข้มเช่นเดียวกับด่านทางบก แต่มีต้นทุนต่ำกว่า แม้จะมีเมืองถูกล็อกดาวน์ เช่น เซี่ยงไฮ้ แต่จีนก็ยังมีท่าเรือที่จะขนส่งได้หลายเมือง ซึ่งผู้ประกอบการขนส่งทางเรือได้เตรียมความพร้อมให้บริการ ทั้งตู้คอนเทนเนอร์ เที่ยวเรือ ส่วนการขนส่งทางระบบรางรถไฟลาว-จีนในปีนี้ น่าจะเป็นการทดลองมากกว่า ยังช่วยขนส่งทุเรียนได้ไม่มากนัก ส่วนทางเครื่องบินก็ต้นทุนสูงมาก

“ราคาทุเรียนปีนี้จะสะวิงตามสถานการณ์การระงับการนำเข้าของด่าน ถ้าตรวจพบเชื้อโควิดราคาจะดิ่งลง เมื่อสถานการณ์ปกติราคาทุเรียนก็จะขึ้นมาใหม่ เกษตรกรต้องเตรียมใจรับความเสี่ยงระยะสั้นจากโควิด-19 หากราคาไม่สูงเท่ากับ 5-6 ปีก่อน แต่ถ้าระยะยาวเน้นคุณภาพทุเรียนทั้งโรคพืช แมลง และไม่ตัดทุเรียนอ่อน เชื่อว่าเมื่อโควิด-19 หายไป ทุเรียนไทยยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดจีน” นายชายพงษ์กล่าว

จี้รัฐสั่งปิดล้งที่ฆ่าเชื้อไม่ได้

นายสัญชัย ปุระณะชัยคีรี นายกสมาคมการค้าและการส่งออกผลไม้ไทย กล่าวถึงปัญหาการระงับการนำเข้าทุเรียนไทยทางด่านโมฮานว่า จีนตรวจเจอเชื้อปนเปื้อนโควิด-19 มากถึง 70% จากล้งจำนวน 6 ล้ง และให้ผู้ประกอบการแก้ไขมีระยะเวลา 5 วันทำการ ซึ่งส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการมาก เพราะทุเรียนหลายตู้กำลังอยู่ระหว่างการเดินทางไปที่ด่าน ถ้าไม่แน่ใจต้องนำทุเรียนมาเคลียร์ให้โควิดเป็นศูนย์ ถ้าทำไม่ได้ ทุเรียนจะนำเข้าไปจีนไม่ได้ และคาดว่าทุกด่านมีมาตรการเดียวกัน รวมทั้งทางเรือด้วย

ดังนั้น รัฐบาลไทยต้องมีมาตรการบริหารจัดการโควิด-19 ชัดเจน ถ้าตรวจพบโควิด-19 ที่ “ล้ง” ไหน ต้องหยุดดำเนินธุรกิจ ฆ่าเชื้อทำระบบใหม่ให้ได้ ทำไม่ได้ต้องปิดล้ง เพราะถ้าจีนตรวจพบโควิด-19 มากขึ้น ๆ ก็จะระงับการนำเข้าทุเรียนไทยทั้งหมด “นั่นคือความเสียหายทั้งประเทศ”

อย่างไรก็ตาม ล้งที่มีการบริหารจัดการดีมีเพียง 15% โอกาสที่เชื้อโควิด-19 ปนเปื้อนติดไปจึงมีสูง ถ้าด่านโมฮานระงับการนำเข้าหมายถึงปริมาณตู้ทุเรียน 80-100 ตู้/วัน ผ่านด่านจีนไม่ได้ และการส่งออกต้องเตรียมปรับไปขนส่งทางเรือแทน แต่ถ้าทางเรือตรวจเจอโควิดอีกก็จะถูกสั่งระงับการนำเข้าทุเรียนไทยเช่นกัน

หวั่นทุเรียน 3.7 แสนตันเคว้ง

ทางด้าน นายสัญชัย โกสัลล์วัฒนา นายกสมาคมผู้ผลิตทุเรียนไทย กล่าวว่า ทุเรียนในภาคตะวันออกปีนี้คาดการณ์จะมีผลผลิต ประมาณ 732,330 ตัน “ตอนนี้เพิ่งส่งออกได้ 20%” ดังนั้นการระงับนำเข้าทุเรียนไทยที่ด่านโมฮาน ส่งผลกระทบทั้งผู้ประกอบการขนส่งและราคาทุเรียนของเกษตรกร

ยกตัวอย่าง ผู้ส่งออกลงทุนตู้ละเฉลี่ย 3 ล้านบาท ถ้าตรวจพบเชื้อโควิด-19 ต้องนำไปทำลาย ส่วนบางรายที่กำลังเดินทางไปด่านโมฮานอาจจะต้องวกกลับมาขนส่งทางเรือก็ยิ่งทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น ขณะที่เดือนพฤษภาคมทุเรียนเริ่มสุกแก่ต้องตัดแล้ว เกษตรกรจะรอแขวนไว้เหมือนช่วงการปิดด่านโมฮานครั้งแรกกลางเดือนเมษายนไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ปริมาณทุเรียนที่ออกในเดือนพฤษภาคม ประมาณ 50% จำนวนมากถึง 370,715 ตัน การกระจายทุเรียนเพื่อบริโภคภายในประเทศทำอย่างไรก็ไม่หมดก็จะเกิดปัญหาราคาทุเรียนตกต่ำแน่นอน ด่านโมฮานระงับการนำเข้าเมื่อกลางเดือนเมษายน รถผ่าน 14 ตู้ ตรวจเจอโควิด 4 ตู้ ระงับการนำเข้า 3 วัน แต่ครั้งนี้รถผ่าน 10 ตู้ ตรวจเจอโควิด-19 ถึง 8 ตู้ ถูกสั่งระงับการนำเข้า 5 วัน

และหากว่ายังตรวจพบเชื้อโควิด-19 อีก อาจจะระงับการนำเข้าเพิ่มเป็น 1 เดือน หรือระงับการนำเข้าทุเรียนทั้งหมดเลยก็ได้ ถ้าจีนยังไม่ผ่อนปรนเรื่องการตรวจโควิด-19 อย่างเข้มข้น และทางรัฐบาลไทยไม่สามารถกำจัดโควิด-19 ให้เป็นศูนย์ได้ ก็จะต้องตรวจพบเชื้ออีกและมีการระงับการนำเข้า เพราะปริมาณทุเรียนส่งออกมากขึ้น ทางออกที่ดีที่สุดตอนนี้คือ ขนส่งทุเรียนทางเรือ แต่ตอนนี้เรือที่ส่งออกสินค้ารวม ๆ กันไปรอขึ้นท่าเรือที่เซี่ยงไฮ้ เป็น 1,000 ลำ ท่าเรือตรวจโควิด-19 และขึ้นได้วันละ 200 ตู้/วันเท่านั้น (รวมสินค้าทุกชนิด)

“ทางออกที่ดีที่สุดตอนนี้คือทางเรือ แต่ก็ต้องไปรอขึ้นท่าที่เซียงไฮ้ ที่ด่านทางบกโมฮาน ที่เคยส่งออกได้ 80-100 ตู้ต่อวัน ก็ถูกระงับการนำเข้าบ่อย ๆ ด่านโหยวอี้กวนผ่านทางเวียดนามที่ไทยใช้เป็นหลัก ตอนนี้ทุเรียนไทยแทบเข้าไม่ได้เลย หนทางขนส่งทุเรียนไทยไปจีนจึงริบหรี่ลง ยิ่งถ้าเป็นช่วงเดือนพฤษภาคมที่จะมีการส่งออกทุเรียน 700-1,000 ตู้ต่อวัน ถ้าจีนไม่ผ่อนปรนโควิด-19 และไทยยังมีมาตรการไม่ชัดเจน การแก้ปัญหาจะยากมาก แม้จะมีมาตรการ GAP Plus และ GMP Plus ระบบห้องเย็น (cold chain) แต่ต้องแก้ไขโรงคัดบรรจุทั้งหมด” นายสัญชัยกล่าว