พิษโควิดทุบทุเรียนไทย 4 รอบ จีนสั่งแบน 11 ล้ง-ชาวสวนลุ้นราคาขึ้น

ตรวจทุเรียน

จีนตรวจเจอโควิดทุเรียนไทย 4 รอบเดือน เม.ย. 65 รวม 11 ล้ง แบน ระงับนำเข้า 5 วัน ทูตเกษตรออกโรงเตือนเลี่ยงส่งผลไม้ผ่านทางบก 2 ด่าน ท่าเรือ 1 ด่าน อากาศ 1 ด่าน “ด่านโหยวอี้กวน-ด่านตงซิง-ท่าเรือเซี่ยงไฮ้-สนามบินเซี่ยงไฮ้” จี้ป้องกันโควิดปนเปื้อน ชาวสวนลุ้นทุเรียนเกรด AB ขึ้นจาก 110-120 บาท เป็น 140-145 บาท/กก. เร่งหาสาเหตุกลุ่มล้งโดนระงับใช้เส้นทางเรือ

แหล่งข่าวจากวงการส่งออกทุเรียน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ส่งออกทุเรียนไปตลาดจีนค่อนข้างน่าเป็นห่วง เนื่องจากจีนตรวจพบเชื้อไวรัสโควิด-19 ปนเปื้อนในทุเรียนเป็นครั้งที่ 4 ของเดือน เม.ย. 2565

โดยครั้งที่ 3 ตรวจเมื่อวันที่ 27 เม.ย. ด้วยวิธี RT-PCR พบโควิด-19 ปนเปื้อนที่ผลทุเรียน บรรจุภัณฑ์ ผนังตู้คอนเทนเนอร์ด้านในจากโรงคัดบรรจุ (ล้ง) 5 รายในจังหวัดจันทบุรี แบ่งเป็นล้ง ต.เขาวัว อ.ท่าใหม่ 3 ราย, ล้ง ต.พลิ้ว อ.แหลมสิงห์ 1 ราย และล้ง ต.ท่าช้าง อ.เมือง 1 ราย

ซึ่ง 1 ใน 5 ล้งที่ตรวจพบเป็นการพบซ้ำในรายเดิม จากที่เคยปนเปื้อนครั้งที่ 2 จำนวน 6 ราย (1.บริษัท จินซังเชง จำกัด 2.บริษัท บุญลือรุ่งเรืองเจริญทรัพย์ จำกัด (สาขา 2) 3.นายประพัฒน์ สราญธรรม 4.บริษัท ซันเฟรช อินเตอร์ฟรุ๊ต จำกัด 5.นางสาววีรยา ปล้องเงิน (สาขา 2) 6.บริษัท พงสินณัฐญากรภานิช จำกัด)

และครั้งที่ 4 พบเมื่อวันที่ 30 เม.ย.จำนวน 1 ล้ง ซึ่งทางการจีนสั่งระงับการนำเข้า 5 วัน เฉพาะล้งที่ตรวจพบ ไม่ได้ระงับการนำเข้าทุเรียนไทยทั้งหมด ส่งผลให้ชาวสวนยังขายได้ในราคาที่ดี โดยเฉพาะเกรด AB ราคา 140-145 บาท/กก.

นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 (สวพ.6) เปิดเผยว่า ในเดือน เม.ย.หน่วยบัญชาการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ด่านโมฮาน แจ้งรายงานทุเรียนนำเข้าจากไทยมีผลตรวจกรดนิวคลีอิกเป็นบวก 3 ครั้ง และกรมวิชาการเกษตร สั่งล้ง 11 แห่ง (ซ้ำ 1 โรง) ระงับส่งออก 5 วัน โดย สวพ.6 และทีมเล็บเหยี่ยว กรมวิชาการเกษตร ได้เร่งดำเนินการกับล้งทั้ง 11 แห่ง

โดย 1.ร่วมกับฝ่ายปกครอง สาธารณสุข เกษตรจังหวัด เข้าตรวจสอบมาตรการ GMP+ และมาตรการสาธารณสุข หาสาเหตุการปนเปื้อน 2.ตรวจ ATK แรงงาน 100% หากพบติดโควิด ทางสาธารณสุขจะดำเนินการตามมาตรการของจังหวัดที่ประกาศไปแล้ว 3.ตู้สินค้าที่คงค้างต้องรื้อฆ่าเชื้อทั้งหมด 4.ตู้สินค้าที่ค้างอยู่หน้าด่านปลายทาง ผู้ประกอบการต้องลากกลับมาฆ่าเชื้อใหม่ 5.ผู้ประกอบการต้องทำความสะอาดโรงคัดบรรจุ (big cleaning) 6.สุ่มสวอปเพื่อนำไปตรวจหาเชื้อในห้องปฏิบัติการของ สวพ.6

อนึ่ง ผลผลิตทุเรียนภาคตะวันออกปี 2565 มีทั้งหมด 740,000 ตัน ส่งออกไปตลาดจีนแล้ว 130,000 ตัน คิดเป็น 15% ของผลผลิต (แบ่งเป็นส่งออกทางบก 49,706.16 ตัน ทางเรือ 66,494.59 ตัน ทางอากาศ 15,204.32 ตัน)

ด้านนายณัฐกฤษฎ์ โอฬารหิรัญรักษ์ ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุรายใหญ่ อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี กล่าวว่า สถานการณ์ทุเรียนอยู่ในสภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการตรวจเชื้อปนเปื้อนโควิด-19 ตลอดเวลา ราคาผลผลิตยังคงถือว่าอยู่ในระดับดีทีเดียว จากกิโลกรัมละ 110-120 บาท พุ่งขึ้น 140-145 บาท เนื่องจากหลายปัจจัย

เช่น ตลาดจีนมีความต้องการสูง และปีนี้ผลผลิตส่วนใหญ่คุณภาพดี มีการควบคุมคุณภาพทุเรียนอ่อน จาก สวพ.6 และการควบคุมแมลงศัตรูพืชจากทางด่านตรวจพืชจันทบุรี การส่งออกช่วงนี้จำนวน 300-400 ตู้ และส่วนใหญ่ไปทางเรือ แม้ว่าค่าขนส่งจะแพงกว่าทางบก และใช้ระยะเวลามากกว่า ถ้าไม่มีปัญหามาตรการ Zero COVID กระทบ คาดว่าราคาน่าจะสูงกว่านี้

ทางด้านนางวนิดา ประสาร เจ้าของโรงแพคเจ๊ติ๋ม อ.นายายอาม จ.จันทบุรี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วง 25 เม.ย-5 พ.ค. ล้งรู้อยู่แล้วว่าเป็นช่วงที่ทุเรียนราคาดี ขณะที่ตลาดปลายทางมีความต้องการสูง และผู้ส่งออกต้องการปิดตู้ จึงทำให้ราคาทุเรียนแพงขึ้น ราคา AB อยู่ที่ กก.ละ 135-140 บาท (ขนาด 2-5 กก.) ซึ่งการแย่งกันซื้อทุเรียนของกลุ่มนายหน้าทำให้ราคาสูงเกินจริง ชาวสวนจะสับสนมาก

“ปีนี้ราคาทุเรียนขึ้นลงแรง และเข้มงวดเรื่องทุเรียนอ่อน ทำให้การเหมาสวนล่วงหน้าน้อยมาก จะซื้อขายกันในราคาหน้าแผง หน้าล้งเป็นรายวัน ราคาที่สูงขึ้นนี้คาดว่าจะมีการปรับลงหลังวันที่ 10 พ.ค. ไปแล้วที่จะมีทุเรียนออกมาถึง 70% แต่คาดว่าราคาไม่น่าจะต่ำมาก”

นายสันติสุข ภูมิเงิน หัวหน้าด่านตรวจพืชเชียงของ กล่าวว่า ขณะนี้จีนจะตรวจเข้มข้นมาก เมื่อตรวจพบเชื้อโควิดจะระงับการนำเข้าล้งนั้นทันที ระยะเวลา 5 วัน แต่ในทางปฏิบัติล้งต้องจัดทำมาตรการแก้ไขและส่งกลับมาให้ทางการจีนพิจารณาอนุมัติ อาจใช้เวลาเป็นเดือน จะกระทบหนัก อย่างไรก็ตาม ถ้าเหตุการณ์ปกติไม่มีโควิด-19 ด่านโมฮาน เป็นด่านที่ขนส่งทุเรียนได้รวดเร็วประมาณ 3 วันถึงตลาดคุนหมิง และตู้ผ่านได้จำนวนมาก ตอนนี้ตู้ผ่านด่านได้วันละ 90-100 ตู้ จากปีก่อนช่วงพีกวันละ 200 ตู้ ทั้งนี้ ตลาดจีนยังเชื่อมั่นและต้องการบริโภคทุเรียนไทย

รายงานข่าวจากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงปักกิ่ง แจ้งสถานะของด่านนำเข้าผลไม้ไทย ณ วันที่ 29 เม.ย. 2565 ว่า ปัจจุบันด่านจีนเปิดให้บริการแล้วทั้งหมด แต่แนะนำผู้ส่งออกควรหลีกเลี่ยงด่านทางบก 2 แห่ง คือ โหย่วอี้กวน และตงซิง รวมถึงหลีกเลี่ยงด่านท่าเรือและสนามบินของเมืองเซี่ยงไฮ้ โดยให้ตรวจสอบข้อมูลการขนส่งให้รอบคอบ

ทั้งมีข้อแนะนำผู้ส่งออกที่จะไปใช้ด่านรถไฟผิงเสียง และด่านโมฮาน ต้องป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโควิดเคร่งครัด หากพบการปนเปื้อนจะโดนระงับการนำเข้า ส่วนด่านเสิ่นเจิ้นวาน, ท่าเรือชินโจว, ท่าเรือเสอโข่ว, ท่าเรือหนานซา และสนามบินเสิ่นเจิ้นยังขนส่งผลไม้ได้ปกติ

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จีนยังนำเข้าผลไม้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะทุเรียนปีนี้นำเข้าไม่น้อยกว่าปีที่แล้วคือ 1 แสนล้านบาท ฤดูกาลปีนี้ ทางจีนขอให้ล้ง ผู้ส่งออกไทย ปฏิบัติตามมาตรการ Zero-COVID ขณะนี้มี 11 ล้งที่ถูกแบนไม่ให้ส่งออกไปจีน ซึ่งเราให้เวลา 5 วันรีเช็กสินค้า ปรับปรุงแก้ไข ขอให้ล้งที่ไม่ได้ทำตามระเบียบดูเป็นตัวอย่าง

ส่วนมาตรการการส่งออก กรมวิชาการเกษตรยังยึด 2 มาตรการหลัก 1.มาตรการ GAP Plus ในสวนเกษตรกร 2.มาตรการ GMP Plus เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว เพราะเข้มงวดมากแล้ว ผู้ส่งออกก็ปฏิบัติเข้มงวดมาก ซึ่งเป็นมาตรการที่กรมวิชาการเกษตรทำร่วมกับศุลกากรแห่งชาติจีน (GACC) ที่ให้คำแนะนำ เพื่อเน้นย้ำมาตรการตรวจสอบโควิดและแมลงศัตรูพืชหน้าด่านนำเข้าจีนและยังคงตรวจเช็กในโรงคัดบรรจุ รวมทั้งบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการตรวจสอบคุณภาพผลผลิตทุเรียน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค โดยไม่ให้ตัดทุเรียนอ่อนโดยเด็ดขาด

นอกจากนี้ได้สั่งการให้ทีมเล็บเหยี่ยวของกรมวิชาการเกษตรเข้มงวดตรวจสอบคุณภาพและตรวจตามมาตรการป้องกัน COVID-19 รวมทั้งตรวจสอบศัตรูพืชอย่างเข้มงวดด้วย

รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุ กระทรวงอยู่ระหว่างเสนอของบฯกลาง 50 ล้านบาท ให้กรมวิชาการเกษตรจัดตั้งห้องปฏิบัติการตรวจสอบรับรองปัจจัยการผลิตและสินค้าเกษตรเพื่อการนำเข้าและส่งออกในพื้นที่ภาคตะวันออก ณ สวพ 6. เพื่อรองรับการตรวจสอบเชื้อโควิด-19 และสารพิษตกค้าง ทั้งสนับสนุนและอำนวยความสะดวกการส่งออกผลไม้ภาคตะวันออกให้รวดเร็วยิ่งขึ้น ให้บริการเกษตรกร และผู้ประกอบการอย่างมีประสิทธิภาพ