โรงงานข้าวโพดหวานผลผลิตลดแห่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

ข้าวโพด

โรงงานแปรรูปข้าวโพดหวานอ่วม เกษตรกรภาคเหนือตอนบน “เชียงใหม่-เชียงราย-ลำปาง-สุโขทัย” ลดพื้นที่ปลูก 40% แห่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ราคาพุ่งกว่าเท่าตัว ทำผลผลิตขาดแคลน แถมต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้น ทั้งกระป๋องปรับราคาขึ้นต่อเนื่อง-ค่าระวางเรือราคาสูง-ตู้คอนเทนเนอร์ขาด-แรงงานติดเชื้อโควิด-19 กระทบกำลังการผลิต ต้นทุนการเพาะปลูกสูงขึ้น 30% ปุ๋ยปรับตัวสูงขึ้น 51-178% สารเคมีปรับขึ้น แต่ปรับราคาขายสินค้ายาก

นายองอาจ กิตติคุณชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) หรือ SUN จ.เชียงใหม่ ผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวโพดหวานแปรรูปและผลิตภัณฑ์แปรรูปสินค้าเกษตรอื่น ๆ และประธานกลุ่มผู้ผลิตข้าวโพดหวาน สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมการส่งออกข้าวโพดหวานกระป๋องในช่วงไตรมาส 1 (ม.ค.-มี.ค. 65) ปริมาณลดลงร้อยละ 14.8

ขณะที่มูลค่าขยายตัวร้อยละ 0.3 ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการอ่อนค่าของค่าเงินบาท แต่ยังมีความท้าทายหลายด้านที่กดดันให้ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้น เช่น ผลผลิตขาดแคลน เกษตรกรหันไปปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ราคาขยับสูงขึ้น กระป๋องปรับราคาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ค่าระวางเรือทรงตัวในราคาสูง ตู้คอนเทนเนอร์หมุนเวียนในระบบไม่เพียงพอ แรงงานติดเชื้อโควิด-19 กระทบต่อกำลังการผลิต แม้ต้นทุนการผลิตจะปรับตัวสูงขึ้นมาก แต่ด้วยสถานการณ์เงินเฟ้อที่เป็นภัยคุกคามเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน การปรับขึ้นราคาสินค้าจึงทำได้ยากมาก

นายองอาจกล่าวว่า สัดส่วนการปลูกข้าวโพดหวานของไทย มีพื้นที่ปลูกมากที่สุดอยู่ในภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง และสุโขทัย เป็นต้น โดยปีนี้พบว่า ภาพรวมพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดหวานลดลงราว 15-40% เนื่องจากปัจจุบันราคารับซื้อข้าวโพดหวานหน้าโรงงานอยู่ที่ประมาณ 5.50 บาท/กก. เกษตรกรหันไปปลูกพืชอื่นซึ่งตอนนี้มีราคาสูงแทน เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (ราคา 13.25 บาท/กก.) ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พบว่า จำนวนเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในปี 2565/66 เพิ่มขึ้นจากปี 2564/65 ราว 1.3% เนื้อที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น 1.3% และปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น 2.4%

ขณะเดียวกัน แรงงานของภาคอุตสาหกรรมข้าวโพดหวาน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยวส่วนใหญ่เป็นแรงงานผู้สูงอายุ ไม่มีแรงงานรุ่นใหม่เข้ามาทดแทน ส่งผลให้ภาพรวมแรงงานภาคการเกษตรหายไปราว 5% และด้านอุตสาหกรรม ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และขาดแคลนแรงงานช่วงหนึ่ง ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด และสามารถนำเข้าแรงงานได้แล้ว จึงผ่อนคลายปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้

นายองอาจกล่าวต่อไปว่า ต้นทุนการเพาะปลูกสูงขึ้นราว 20-30% มีปัจจัยมาจากปัญหาราคาปุ๋ยปรับตัวสูงขึ้นราว 51-178% และสารเคมีที่ปรับราคาสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2564 ขณะที่ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นราว 10-20% มีปัจจัยมาจากราคากระป๋องปรับตัวสูงขึ้นราว 30% และราคาวัตถุดิบสูงขึ้นราว 15% นอกจากนี้เหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ยังส่งผลกระทบต่อการชำระเงินของคู่ค้าในหลายประเทศ

สำหรับปริมาณผลผลิตในเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ ต่ำกว่าแผนที่วางไว้ราว 31% สาเหตุหลักมาจากวัตถุดิบที่ป้อนเข้าโรงงานมีปริมาณน้อย เนื่องจากเป็นช่วง low season และผลผลิตบางส่วนได้รับความเสียหายจากการที่ฝนมาเร็ว อีกทั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลให้ขาดแคลนแรงงาน โรงงานจึงต้องปรับลดกำลังการผลิต

ด้านเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานยังมีปริมาณเพียงพอต่อรอบการเพาะปลูกที่จะถึงนี้ เนื่องจากผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์เน้นการจำหน่ายในประเทศเป็นหลัก และยืนยันว่ายังไม่ปรับขึ้นราคาเมล็ดพันธุ์ รวมถึงได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ให้มีจุดเด่นเพิ่มขึ้น เช่น ความสามารถต้านทานต่อโรคใบไหม้แผลใหญ่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บเกี่ยวผลผลิต และแก้ปัญหาด้านแรงงานแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดหวาน

นอกจากนี้ ผู้ผลิตข้าวโพดหวานกระป๋องได้ร่วมมือกับผู้ผลิตเครื่องจักรทางการเกษตร พัฒนารถเก็บเกี่ยวข้าวโพดหวานต้นแบบได้สำเร็จ และนำมาทดลองใช้ในพื้นที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ 2-3 ไร่ต่อชั่วโมง และใช้แรงงานเพียง 3 คนในการควบคุมการเก็บเกี่ยว ทำให้ประหยัดเวลาและลดการใช้แรงงานได้มาก

อีกทั้งได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตจากคราวละ 4 แถว เพิ่มเป็น 5-6 แถว และติดตั้งระบบเพื่อจัดการด้านความสะอาดหลังเก็บเกี่ยวด้วย เนื่องจากราคาปุ๋ยเม็ดแพงขึ้นมาก การนำโดรนเข้ามาช่วยในการฉีดพ่นปุ๋ยน้ำ ทำให้ลดต้นทุนในส่วนนี้ได้ราว 10 เท่า

โดยได้ทดลองปรับวิธีการใช้ปุ๋ยจากเดิมที่ต้องใช้เม็ดปุ๋ยหวานไร่ละ 50 กิโลกรัม เป็นการใช้ปุ๋ยเม็ดหว่านไร่ละ 10 กิโลกรัม ร่วมกับการให้ปุ๋ยน้ำทางใบ พบว่าการใช้ปุ๋ยเม็ดร่วมกับการให้ปุ๋ยน้ำทางใบ มีประสิทธิภาพที่ดีกว่าและให้ปริมาณผลผลิตมากกว่า ไม่ว่าจะต้องเผชิญความท้าทายมากเพียงใด


การนำเทคโนโลยีมาปรับปรุงใช้อย่างเหมาะสมตลอดโซ่การผลิต ภายใต้ความร่วมมืออย่างจริงจังและจริงใจของทุกภาคส่วนในโซ่อุปทานนี้ เราจะก้าวผ่านทุกอุปสรรคได้ โดยต้องพัฒนาไม่หยุดยั้งจึงจะสร้างความยั่งยืนให้แก่อุตสาหกรรมได้