เปิดเกณฑ์ใหม่คุมโรงแรมเล็ก ต่อชีวิตผู้ประกอบการ 4 หมื่นแห่ง

ประชาพิจารณ์ยกร่างกฎหมายใหม่ยกเว้นโรงแรมขนาดเล็กไม่เกิน 10 ห้อง ไม่เกิน 30 เตียง ไม่เข้าข่ายโรงแรม ผ่อนปรนธุรกิจแพ เต็นท์ กระโจม เพิงเป็นสถานที่พักที่มีรูปแบบพิเศษ ให้ประกอบกิจการโรงแรมได้ ด้านผู้ประกอบการโรงแรมขนาดเล็ก เสนอควรกำหนดที่ 20 ห้อง ไม่เกิน 40 เตียง หวั่นผ่านเกณฑ์เพียง 10%

กรณีที่โรงแรมขนาดเล็กประมาณ 40,000 แห่งทั่วประเทศ ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรม ตามพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2551 ดังนั้นทางกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จึงได้แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2551 ขึ้น

โดยยกร่างกฎกระทรวงกำหนดประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. …ฉบับใหม่ขึ้นมา เพื่อให้สถานที่พักขนาดเล็กบางส่วนจัดเป็นสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมให้เกิดความเหมาะสม และกำหนดหลักเกณฑ์ความปลอดภัยในห้องพัก และกำหนดมาตรฐานของสถานที่พักที่มีรูปแบบพิเศษ

เช่น โฮลเทล แพ เต็นท์ กระโจม เพิง หรืออาคารอื่นใดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน และห้องพักที่ให้บริการแบบห้องพักรวมโดยคิดค่าบริการรายคน ให้สามารถนำมาประกอบกิจการโรงแรมได้อย่างถูกกฎหมาย และได้เปิดรับฟังความคิดเห็นร่างกฎกระทรวงดังกล่าวทางออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 1-15 กรกฎาคม 2565

โดยสาระสำคัญพอสรุปได้ว่า ข้อ 1ให้สถานที่พักที่มีจำนวนห้องพักในอาคารเดียวกันหรือหลายอาคารวมกันไม่เกิน 10 ห้อง และมีจำนวนผู้พักรวมกันทั้งหมดไม่เกิน 30 คน ไม่ถูกกำหนดเป็นโรงแรม ขณะที่กฎกระทรวงฯ พ.ศ. 2551 ระบุไม่เกิน 4 ห้อง และมีจำนวนผู้พักรวมกันไม่เกิน 20 คน

ข้อ 2 แก้ไขเพิ่มเติมโรงแรมประเภท 1 โรงแรมที่ให้บริการเฉพาะห้องพัก และให้มีห้องพักไม่เกิน 50 ห้อง จากเดิมไม่มีการกำหนด นอกจากนี้ เพิ่มเติม กิจการแพ สิ่งปลูกสร้างลอยน้ำ ต้องจัดให้มีเสื้อชูชีพเท่าจำนวนผู้พักของแต่ละห้องพัก

เพื่อกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับผู้พัก, จัดให้มีแสงสว่างเพียงพอ, หากมีการประกอบอาหาร และให้บริการอาหารบนแพ ต้องมีถังดับเพลิง มีถังเก็บเศษอาหาร ส่วนเต็นท์ กระโจม เพิง ต้องมีแสงสว่างเพียงพอในห้องพักและทางเดิน

ข้อ 5 เพิ่มเติมว่า โรงแรมประเภท 1 และประเภท 2 ต้องจัดให้มีห้องน้ำ และห้องส้วมอย่างเพียงพอสำหรับผู้พัก, ต้องมีเลขประจำเตียงกำกับไว้ทุกเตียง, ห้องพักที่เป็นเต็นท์ กระโจม เพิง ต้องจัดอุปกรณ์ที่ล็อกห้องพักจากภายในและภายนอก เพื่อให้มีมาตรฐานความปลอดภัย

ข้อ 9 แก้ไขเพิ่มเติมแพ สิ่งปลูกสร้างลอยน้ำ ต้องมีหลักฐานแสดงว่า ได้รับอนุญาตให้ใช้อาคารสถานที่เป็นโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงได้ยกเลิกข้อกำหนดข้อ 18 ที่ระบุว่า โรงแรมประเภท 1 และข้อ 19 ที่ระบุว่า โรงแรมประเภท 2 ต้องมีห้องพักไม่เกิน 50 ห้อง ห้องพักทุกห้องต้องมีพื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 8 ตารางเมตร ไม่รวมห้องน้ำ ห้องส้วม และระเบียงห้องพัก และมีห้องน้ำและห้องส้วมที่ถูกสุขลักษณะอย่างเพียงพอสำหรับผู้พัก

ข้อ 20 โรงแรมประเภท 3 และประเภท 4 เดิมกำหนดให้ห้องพักทุกห้องต้องมีพื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 14 ตร.ม. ไม่รวมห้องน้ำ ห้องส้วม และระเบียงห้องพัก และมีห้องน้ำ ห้องส้วมที่ถูกสุขลักษณะในห้องพักทุกห้อง แก้ไขเพิ่มเติมเป็น กรณีมีห้องพักไม่เกิน 80 ห้อง ให้มีสถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ โรงแรมที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อนุญาตให้ตั้งสถานบริการได้ทุกประเภท ส่วนโรงแรมนอกเขตพื้นที่ให้ตั้งสถานบริการได้ตามมาตรา 3(5) แห่ง พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ. 2509 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.สถานบริการ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2546

ชงแยกกฎหมายคุมโรงแรมเล็ก

นายมโนสิทธิ์ แจ้งจบ นายกก่อตั้งสมาคมที่พักบูติกจังหวัดภูเก็ต เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างกฎกระทรวงกำหนดประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรมฉบับใหม่ทางสมาคมที่พักบูติกจังหวัดภูเก็ตได้เข้าประชุมร่วมกับทางสมาคมฯและภาคีต่าง ๆ

ประกอบด้วยสมาคมธุรกิจการค้าที่พักบูติกไทย, กลุ่มล่ามช้างจังหวัดเชียงใหม่, สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จ.ชลบุรี, สมาคมท่องเที่ยวเกาะเสม็ด จ.ระยอง, สมาคมธุรกิจท่องเที่ยว จ.เชียงใหม่, สมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร, สมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา,

ผู้ประกอบการจังหวัดสตูล ชมรมธุรกิจโฮสเทลแห่งประเทศไทยได้ตกลงตอบแบบแสดงความคิดเห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่สามารถออกกฎกระทรวงฉบับนี้ได้จริงและรวดเร็วที่สุด

กรณีที่กำหนดให้สถานที่พักที่มีจำนวนห้องพักในอาคารเดียวกันหรือหลายอาคารรวมกันไม่เกิน 10 ห้อง และมีจำนวนผู้พักรวมกันทั้งหมดไม่เกิน 30 คนนั้น ความเห็นออกมา 2 ลักษณะ ความเห็นแรกคิดว่า ควรกำหนดที่ 20 ห้อง ไม่เกิน 40 คน

เพื่อให้สอดรับกับความเป็นจริงของต้นทุนในการดำเนินการและเพิ่มโอกาสเพื่อการส่งกิจการต่อสู่ทายาทรุ่นต่อไป และสอดคล้องกับคำวินิจฉัยพร้อมข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน ขณะที่อีกส่วนเห็นควรกำหนดที่ 29 ห้อง เพื่อให้สอดคล้องกับเพดานสูงสุดของกิจการที่พักขนาดเล็ก ตามเกณฑ์มาตรฐาน IEE ที่มีการประกาศใช้ในบางพื้นที่

“ในส่วนตัวเห็นว่าการกำหนดเช่นนี้จะมีโรงแรมขนาดเล็กผ่านเกณฑ์แค่ 10% เท่านั้น” นายมโนสิทธิ์กล่าวและว่า

กรณีโรงแรมที่มีลักษณะเป็นแพ สิ่งปลูกสร้างลอยน้ำ เห็นควรระบุเรื่องถังเก็บเศษอาหารเป็นสัดส่วนไปเลย และไม่ต้องระบุจำนวนถัง เช่น ขนาดถังไม่น้อยกว่า 40 ลิตร ต่อ 15 คน

กรณีที่กำหนดให้ ห้องพักที่ให้บริการแบบห้องพักรวมตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร โดยคิดค่าบริการเป็นรายคนต้องจัดให้มีเลขที่ประจำเตียงกำกับไว้ทุกเตียงเป็นเลขอารบิก เห็นควรระบุข้อกำหนดว่า บังคับใช้สำหรับห้องพักที่มีจำนวนเตียงมากกว่า 4 เตียงขึ้นไปต่อห้องประกอบไปด้วย

กรณีที่กำหนดให้ โรงแรมประเภท 3 และประเภท 4 ห้ามมีสถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ เว้นแต่ (ก) โรงแรมที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ สามารถตั้งสถานบริการได้ทุกประเภท หรือ (ข) โรงแรมที่ตั้งอยู่นอกเขตพื้นที่เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ หรือตั้งอยู่ในท้องที่งดอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ

สามารถตั้งได้เฉพาะสถานบริการตามมาตรา 3 (5) แห่งพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสถานบริการ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2546 ที่ประชุมไม่เห็นด้วย และเห็นควรให้สถานที่พักที่เป็นโรงแรมทุกประเภทสามารถมีสถานบริการได้เท่าเทียมกัน เพื่อรองรับรูปแบบการท่องเที่ยวในอนาคต

ที่ประชุมเห็นควรมีการกำหนดกฎกระทรวงสำหรับสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมแยกจากกฎกระทรวงกำหนดประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2551 เป็นอีกฉบับหนึ่ง

ร้องโรงแรมไม่ควรมี 2 มาตรฐาน

นางละเอียด บุ้งศรีทอง ที่ปรึกษานายกสมาคมโรงแรมไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธุรกิจโรงแรมในจังหวัดเชียงใหม่ช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 มีจำนวนกว่า 3,000 แห่ง โดยพบว่ามีโรงแรมที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมอย่างถูกต้องไม่ถึง 600 แห่ง ทั้งนี้ โรงแรมทั้ง 3,000 แห่งดังกล่าวอยู่ในระบบแพลตฟอร์มการขายห้องพักออนไลน์ OTA

ซึ่งมีทั้งโรงแรมขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กจำนวนราว 2,400 แห่ง ที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม โดยในจำนวนนี้มีโรงแรมขนาดเล็กที่ดัดแปลงอาคารเดิมที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบธุรกิจโรงแรมตั้งแต่แรก แต่มาดัดแปลงอาคาร ห้องพัก เพื่อให้บริการในรูปแบบโรงแรมในภายหลัง อาทิ อพาร์ตเมนต์ คอนโดมิเนียม บ้านแนวราบ รวมถึงโฮสเทล เป็นต้น

ธุรกิจโรงแรมที่ดัดแปลงอาคารเพื่อให้บริการในรูปแบบของโรงแรม โดยไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม ควรต้องเข้าสู่ระบบกฎหมายเดียวกันที่มีอยู่ปัจจุบันคือ พ.ร.บ.โรงแรม เพื่อให้บริการเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งระบบ โดยเฉพาะมาตรฐานเรื่องโซนนิ่งและความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

ทั้งนี้ หากมีกฎหมายที่เอื้อเฉพาะสำหรับโรงแรมในรูปแบบนี้ให้สามารถประกอบธุรกิจโรงแรมได้ ก็จะส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่สูงขึ้น โดยเฉพาะการแข่งขันเรื่องราคา เนื่องจากโรงแรมขนาดเล็กที่ดัดแปลงอาคารเพื่อทำธุรกิจโรงแรม มีต้นทุนที่ถูกกว่าโรงแรมที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม

รวมถึงอาจมีต้นทุนที่ถูกกว่าโรงแรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องการทำธุรกิจโรงแรมแต่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม ดังนั้นธุรกิจบริการห้องพักในรูปแบบโรงแรมทุกแห่ง ควรอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน เพื่อให้มีมาตรฐานความปลอดภัย และไม่ให้เกิดสองมาตรฐานในการทำธุรกิจโรงแรม