โรงแรมเถื่อน ขอรัฐคุ้มครอง หวั่นถูกยึดทรัพย์แสนล้าน

ภูเก็ต

 

จี้รัฐออกกฎหมายคุ้มครองโรงแรมเถื่อน 4 หมื่นแห่งทั่วประเทศ หลังถูกปิดตายตั้งแต่ปี 2562 เมืองท่องเที่ยว “ภูเก็ต-สมุย-กระบี่-พังงา-พัทยา-เชียงใหม่” กระอักเข้าไม่ถึงแหล่งทุน-มาตรการรัฐ โดนไล่ยึดทรัพย์ ภูเก็ตโดนแล้ว 300 แห่งมูลค่า 6.8 หมื่นล้าน คาด ส.ค.นี้พุ่งแตะ 1 แสนล้าน ชี้แผนฟื้นท่องเที่ยว-เศรษฐกิจเดินต่อไม่ได้

นายนัทธี ถิ่นสาคู รองประธานคณะกรรมาธิการท่องเที่ยว สภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการแก้ไขปัญหาด้านการท่องเที่ยวภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และกรุงเทพมหานคร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กลุ่มผู้ประกอบการโรงแรมขนาดเล็กไม่ต่ำกว่า 40,000 แห่งทั่วประทศ ซึ่งไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ แต่เป็นตัวหลักในการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก และไม่สามารถเปิดดำเนินการได้

ทั้งนี้ เนื่องจากโรงแรมกลุ่มนี้ไม่ได้รับความคุ้มครองให้เปิดกิจการตามประกาศของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 6/2562 เรื่องการส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานการประกอบธุรกิจโรงแรมบางประเภท ที่สิ้นสุดเมื่อ 18 สิงหาคม 2564

จ่อปิดตาย 4 หมื่นแห่ง

โดยประกาศดังกล่าวมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาการประกอบธุรกิจโรงแรมโดยผิดกฎหมาย และดึงกลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้เข้ามาอยู่ในระบบ เพื่อควบคุมและดูแลด้านความปลอดภัย รวมถึงสนับสนุนส่งเสริมธุรกิจโรงแรม และกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นโดยผ่อนปรนให้โรงแรมที่ให้บริการเฉพาะห้องพัก และโรงแรมที่ให้บริการห้องพักและห้องอาหารได้รับการยกเว้นการบังคับใช้กฎกระทรวง และทำการปรับปรุงให้เป็นไปตามกฎหมายภายใน 3 ปีหลังประกาศ

“หลังจาก 18 สิงหาคม 2564 หรือสิ้นสุดมาตรการ 3 ปีแล้ว โรงแรมกลุ่มนี้ไม่สามารถเปิดดำเนินธุรกิจได้ เดือดร้อนอย่างหนัก โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวหลัก ทั้งกรุงเทพฯ ภูเก็ต สมุย พังงา กระบี่ พัทยา เชียงใหม่ ฯลฯ บางแห่งกลับมาเปิดให้บริการเพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มทยอยเข้ามา แต่สุดท้ายก็โดนหน่วยงานของกระทรวงมหาดไทยจับกุมในข้อหาเปิดบริการโดยไม่มีใบอนุญาตทันที” นายนัทธีกล่าว

ภูเก็ตถูกยึดทรัพย์ 6.8 หมื่นล้าน

จากการรวบรวมข้อมูลของคณะทำงานของคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว สภาผู้แทนราษฎร พบว่า ณ ต้นเดือนกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา พบว่า เฉพาะจังหวัดภูเก็ตเพียงจังหวัดเดียวมีจำนวนโรงแรมที่ไม่มีใบอนุญาตกว่า 9,000 แห่ง (มีใบอนุญาตเพียงแค่ 700-800 แห่ง) โดยขณะนี้มีผู้ประกอบการที่ถูกยึดทรัพย์ไปแล้วกว่า 300 แห่ง คิดเป็นมูลค่าสินทรัพย์รวมกว่า 68,000 ล้านบาท

เช่นเดียวกับในจังหวัดท่องเที่ยวหลักอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ, กระบี่, พังงา, สมุย (สุราษฎร์ธานี), พัทยา (ชลบุรี), เชียงใหม่ ฯลฯ ที่เกิดปรากฏการณ์สินทรัพย์ถูกยึดเหมือนกับในจังหวัดภูเก็ตเช่นกัน ซึ่งขณะนี้คณะทำงานอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล และประเมินมูลค่าความเสียหายของกลุ่มโรงแรมขนาดเล็กทั่วประเทศต่อไป

“ตอนนี้มีโรงแรมที่ภูเก็ตอยู่ในกระบวนการจะถูกยึดทรัพย์ในอีก 1-2 เดือนข้างหน้าอีกไม่ต่ำกว่า 100 แห่ง ทำให้คาดว่ามูลค่าของสินทรัพย์ที่ถูกยึดจะพุ่งเกิน 1 แสนล้านบาทในเดือนสิงหาคม 2565 นี้”

จี้หาแนวทางช่วยเหลือโดยด่วน

นายนัทธีกล่าวว่า จากประเด็นปัญหาดังกล่าวนี้ ตนในฐานะรองคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว สภาผู้แทนราษฎร ได้ประชุมร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไปแล้ว อาทิ ตัวแทนรัฐบาล (นายวิษณุ เครืองาม) ตัวแทนฝ่ายโยธา ตัวแทนผังเมือง ฯลฯ ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นว่าความเดือดร้อนของผู้ประกอบการดังกล่าวนี้เป็นประเด็นที่รัฐบาลต้องรีบหาแนวทางช่วยเหลือโดยเร่งด่วน เนื่องจาก 4 ปัจจัยหลัก ดังนี้

1.ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาที่ผู้ประกอบการเหล่านี้ได้รับความคุ้มครองให้เปิดดำเนินการนั้น ยังไม่ทันที่ผู้ประกอบการจะดำเนินการปรับปรุงก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดเสียก่อน 2.ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ไม่ได้รับอานิสงส์จากงบฯ 22,400 ล้านบาทที่ภาครัฐนำมาช่วยเหลือภาคธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยวผ่านแคมเปญ “เราเที่ยวด้วยกัน” และ “ทัวร์เที่ยวไทย”

3.แม้ว่ารัฐบาลจะทยอยเปิดประเทศตั้งแต่กลางปี 2564 แต่หลักการเปิดจองที่พักจำกัดไว้เฉพาะโรงแรมที่ได้รับตราสัญลักษณ์มาตรฐาน SHA และ SHA Plus เท่านั้น และ 4.ผู้ประกอบการไม่สามารถถึงแหล่งเงินทุนได้ สถาบันการเงินไม่ปล่อยกู้ เนื่องจากโรงแรมกลุ่มนี้ไม่มีกฎหมายรองรับให้เปิดดำเนินการได้

“เราประชุมหารือเรื่องนี้ตั้งแต่ปลายปี 2564 ตอนนั้นที่ประชุมบอกว่าขอเวลาหาแนวทาง 6 เดือน แต่ท่านรองวิษณุ (เครืองาม) บอกว่าให้ดำเนินการภายใน 1 เดือนได้หรือไม่ แต่สุดท้ายเรื่องก็เงียบหายไป เราจึงทำหนังสือเรียนถามความคืบหน้าถึงนายกรัฐมนตรีผ่านรองวิษณุไปอีกครั้งเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้รับแจ้งว่าได้ส่งหนังสือให้ทางหน่วยงานของกระทรวงมหาดไทยพิจารณาแล้ว” นายนัทธีกล่าว

ขอ 3 ปีต้อนรายเล็กเข้าระบบ

นายนัทธีกล่าวต่อไปว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 คณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว สภาผู้แทนราษฎร ได้ส่งหนังสือด่วนถึงรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) อีกครั้ง เรื่องแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่พักขนาดเล็กตามมติที่ประชุมคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว ครั้งที่ 73 โดยมีสาระดังนี้

1.ให้มีการออกกฎหมายเพื่อกำหนดแนวทางหรือมาตรการทดแทนหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 6/2562 เรื่อง มาตรการส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานการประกอบธุรกิจโรงแรมบางประเภท ซึ่งสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2564 เพื่อให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กสามารถประกอบการต่อไปได้ จนกว่าจะมีการออกกฎหมายใหม่มารองรับ โดยขอให้กฎหมายใหม่นี้มีผล 3 ปี คือ ตั้งแต่สิงหาคม 2565-สิงหาคม 2568

2.ให้มีการแก้ไขและปรับปรุงพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547 ให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพจริง โดยเฉพาะที่พักขนาดเล็กในปัจจุบัน 3.ให้มีการแก้ไขและปรับปรุงกฎกระทรวง กำหนดประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2551 หมวด 1 สถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมและประเภทโรงแรมข้อ 1 เพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบและแนวทางประกอบธุรกิจโรงแรมที่พักขนาดเล็กทุกประเภทในปัจจุบัน

และ 4.การยกร่างแก้ไขและปรับปรุงกฎกระทรวง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม รวมถึงความขัดแย้งในสังคมนั้นควรกำหนดให้ตัวแทนจากผู้ประกอบการขนาดเล็กเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการยกร่างด้วย

กระทบแผนฟื้นท่องเที่ยว-เศรษฐกิจ

นายนัทธีกล่าวต่อไปว่า ส่วนตัวประเมินว่ารัฐบาลต้องมีข้อสรุป แนวทางการแก้ปัญหาและช่วยเหลือผู้ประกอบการออกมาภายในเดือนสิงหาคม 2565 นี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีเวลาปรับปรุงโรงแรมสัก 2-3 เดือน และสามารถกลับมาเปิดให้บริการได้ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2565 นี้ ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวพอดี

“หากเรายังไม่สามารถสรุปแนวทางช่วยให้ผู้ประกอบการรายเล็กกลุ่มนี้ให้กลับมาเปิดได้ทันช่วงไฮซีซั่นปีนี้ธุรกิจตายหมดแน่นอน เมืองท่องเที่ยวจะกลายเป็นเมืองร้าง เพราะโรงแรมเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีแขกประจำที่เดินทางมาทุกปีไม่ต่ำกว่า 40-50% ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มพักนาน และไม่ใช่กลุ่มที่พักโรงแรม 5 ดาว” นายนัทธีกล่าว

และว่า ที่สำคัญโรงแรมกลุ่มนี้เป็นเสมือนเส้นเลือดฝอยของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยที่ช่วยให้ซัพพลายเชนในเซ็กเตอร์อื่น ทั้งรถเช่า ร้านอาหาร ฯลฯ มีรายได้ และตอบโจทย์เรื่องการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นตามนโยบายรัฐบาลด้วย

ดังนั้น หากโรงแรมขนาดเล็กซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการฟื้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวล้มหายตายจากไป แผนการฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจโดยรวมไม่มีทางเดินต่อได้แน่นอน