จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ซีอีโอบุญรอดบริวเวอรี่ เสียชีวิต อายุ 65 ปี

จุตินันท์ภิรมย์ภักดีเสียชีวิต

“จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี” ซีอีโอบุญรอดบริวเวอรี่ เสียชีวิตแล้ว ที่สหรัฐฯ ขณะมีอายุ 65 ปี 

วันที่ 13 กันยายน 2565 นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี หรือ “คุณนิดหน่อย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด และประธานคณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย เสียชีวิตลงแล้ว เมื่อเวลา 23.50 น. วันที่ 12 ก.ย.65 ตามเวลาท้องถิ่นประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ เวลา 10.52 น. วันที่ 13 กันยายน 2565 ตามเวลาประเทศไทย

นายจุตินันท์ ได้ถึงแก่กรรมอย่างสงบที่โรงพยาบาลในนครบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา อายุ 65 ปี หลังจากเดินทางไปรักษาอาการป่วยที่บอสตัน สหรัฐอเมริกา

ภาพจากเฟซบุ๊ก จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี

ในช่วงระหว่างการรักษาอาการป่วยของนายจุตินันท์ มีการดูแล และให้กำลังใจอย่างใกล้ชิดจากครอบครัว โดยได้มีการอัพเดทการรักษาอย่างต่อเนื่องผ่านทางอินสตาแกรม

สำหรับรายละเอียดทั้งหมดจะมีการแถลงการณ์อย่างเป็นทางการในเวลาต่อไป

จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี
ภาพจากอินสตาแกรม หม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี

ด้าน “เสธ.ยอด” พล.ต.อินทรัตน์ ยอดบางเตย นายกกิตติมศักดิ์สมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย และประธานกิตติมศักดิ์สหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ ในฐานะประธานสหพันธ์สมาคมกีฬาชาติ หรือ ฟอนซ่า ระบุว่า “ขอแสดงความเสียใจกับพี่น้อง จีรนุช และครอบครัวภิรมย์ภักดีอย่างสุดซึ้งกับการจากไปของพี่นิดหน่อย จุตินันท์ ขอให้ดวงวิญญาน ของพี่นิดหน่อยไปสู่สุขคติในสัมปรายภพที่สงบและสวยงามนะครับ”

“คุณจุตินันท์ เสียชีวิตที่สหรัฐอเมริกา เมื่อเวลาประมาณ 11 โมงตามเวลาประเทศไทยครับ ยังไม่ทราบกำหนดการบำเพ็ญกุศล เสียใจกลับครอบครัวและเพื่อน ด้วยครับ”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรดานักกีฬาพาราลิมปิกทีมชาติไทยต่างร่วมแสดงความอาลัยต่อการจากไปของ นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี โดยได้เปลี่ยนรูปไฟล์เฟซบุ๊กเป็นรูปสีดำ

ประวัติ จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี

นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี อายุ 65 ปี เกิดเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2500 เป็นหนึ่งในทายาทเบียร์สิงห์รุ่นที่ 3 โดยเป็นบุตรชายของนายจำนงค์ ภิรมย์ภักดี และคุณหญิงสุภัจฉรี ภิรมย์ภักดี

ประวัติการศึกษา

  • มัธยมศึกษา โรงเรียนฮอทช์คิส รัฐคอนเนคติกัต สหรัฐอเมริกา
  • ปริญญาตรี เศรษฐศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยบอสตัน รัฐแมสซาชูเสต สหรัฐอเมริกา
  • หลักสูตร Families in Business: From Generation to Generation บัณฑิตวิทยาลัย คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา
  • หลักสูตร Strategic Negotiations: Deal Making for the Long Term บัณฑิตวิทยาลัย คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา
  • ปริญญาบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (การเงิน) ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
  • ปริญญาบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (การจัดการ) ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก

ชีวิตส่วนตัวสมรสกับ ม.ล.ปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี (นามสกุลเดิม กฤดากร) มีทายาท 3 คน คือ “ตั๊น” จิตภัสร์ กฤดากร, “ตุ๊ย” นันทญา และ “ต่อย” ร้อยโท ณัยณพ ภิรมย์ภักดี

นายจุตินันท์ ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ตั้งแต่ปี 2563 และเป็น ประธานกรรมการ บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) รวมถึง ประธานกรรมการ บริษัท มิวซิกมูฟ จำกัด, ประธานกรรมการ บริษัท ซี.บี.โฮลดิ้ง จำกัด ฯลฯ

โดยแนวคิดการบริหารองค์กร คือ ให้ความสำคัญกับการเติบโตแบบยั่งยืนและการตอบแทนสังคม

นอกจากนี้ จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ยังเคยทำหน้าที่อดีตสมาชิกวุฒิสภาปี พ.ศ. 2549 และอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ

เบื้องหลังความสำเร็จวงการกีฬาคนพิการไทย

นอกเหนือจากงานที่บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด คุณจุตินันท์ ยังดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการกีฬาพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2552 โดยก่อนหน้านี้ได้เป็นผู้จัดการทีมคณะนักกีฬาคนพิการทีมชาติไทย เมื่อปี 2548 เป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของวงการกีฬาคนพิการของไทย ดูแลนักกีฬาคนพิการในการแข่งขันหลายรายการตั้งแต่ระดับอาเซียนจนถึงพาราลิมปิก

โดยทํางานร่วมกับ 5 สมาคมกีฬาคนพิการ คือ สมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทยฯ, สมาคมกีฬาคนพิการทางสมองแห่งประเทศไทย, สมาคมกีฬาคนตาบอดแห่งประเทศไทย, สมาคมกีฬาคนหูหนวกแห่งประเทศไทย และสมาคมกีฬาคนพิการทางปัญญาแห่งประเทศไทย

นายจุตินันท์เป็นผู้วางรากฐานการพัฒนาวงการกีฬาคนพิการในประเทศไทย พร้อมทุ่มเทดูแลนักกีฬาอย่างเต็มที่ จนปัจจุบันประสบความสำเร็จพานักกีฬาพาราไทยสร้างผลงานอยู่แถวหน้าของโลกได้ รวมถึงการผลักดันภาครัฐในการดูแลนักกีฬาอย่างเท่าเทียม ระหว่าง นักกีฬาคนปกติ และ นักกีฬาคนพิการ

นายจุตินันท์ เคยกล่าวเมื่อปี 2564 หลังจากที่ทัพนักกีฬาคนพิการทีมชาติไทย สร้างผลงาน คว้า 5 เหรียญทอง 5 เหรียญเงิน 8 เหรียญทองแดง ที่ “พาราลิมปิก โตเกียว เกมส์ 2020” ว่า

“สิ่งที่ผมทำทั้งหมด ผมทำด้วยความสุข ผมเป็นนักกีฬามาตั้งแต่เด็ก คลุกคลีอยู่กับนักกีฬามากมาย บอกได้เลยว่านักกีฬาพารามีหัวใจเป็นนักกีฬา มีความตั้งใจพยายามไม่แพ้คนปกติ ผมสัญญากับนักกีฬาของผมว่า ผมจะอยู่เคียงข้างพวกเขาจนกว่าพวกเขาจะไม่ต้องการผม จะอยู่ตรงนี้เคียงข้างพวกเขาตลอดไป”

จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี
ภาพจากอินสตาแกรมของหม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี ภรรยา
ภาพจากอินสตาแกรมของหม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี ภรรยา

ความชื่นชอบในกีฬาของ จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี

คุณนิดหน่อยเคยให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” เมื่อปี 2559 ถึงความชื่นชอบในกีฬา ซึ่งทำให้เขาได้เข้าไปนั่งเก้าอี้ต่าง ๆ ในแวดวงกีฬามากมายหลายสมาคม หลายตำแหน่ง

ซึ่งความชอบส่วนตัวนั้นเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่เขาเข้าไปในวงการกีฬา แต่อีกส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นความเชื่อมโยงทางธุรกิจที่สิงห์เข้าไปสนับสนุนกีฬาต่าง ๆ และทำสปอร์ตมาร์เก็ตติ้งมากมาย

“ผมเคยแข่งขันยิงปืน ตอนนี้ใช้เวลาว่างในการพัฒนาการใช้อาวุธปืน และที่สำคัญคือให้เวลาตัวเองในการดูแลสุขภาพ เข้ายิมทุกวัน” ผู้บริหารสิงห์เล่าถึงกิจกรรมที่ทำเวลาว่าง ซึ่งถ้าจะพูดให้ถูกคือกิจกรรมที่เขาให้ความสำคัญและจัดสรรเวลาให้อย่างสม่ำเสมอ

เมื่อถามว่าการเล่นกีฬาทำให้ได้เรียนรู้อะไรมาใช้ในการทำงานหรือชีวิตทั่วไปหรือไม่ คุณนิดหน่อยตอบว่า “ผมคิดว่าได้เรื่องการทำงานเป็นทีม แต่สำคัญที่สุดที่ได้จากกีฬา ผมคิดว่าคือวินัย นักกีฬาทุกระดับที่ประสบความสำเร็จ วินัยต้องมาเป็นอย่างแรก ไม่มีใครเกิดมามีแค่พรสวรรค์แล้วสามารถได้เหรียญทอง ไม่ว่าจะเป็นไมเคิล เฟลป์ส หรือ ยูเซน โบลต์ อาจจะมีพรสวรรค์บ้าง

แต่ทุกคนได้เหรียญมาจากวินัย การไม่ท้อแท้ การมุมานะในการฝึกซ้อมแข่งขัน ให้ความสำคัญกับการพัฒนาตนเอง ซึ่งของพวกนี้เอามาใช้กับชีวิตปกติของเราได้ เรื่องการทำงานก็ต้องมีวินัย มีการทำงานเป็นทีม ผมไม่รู้จักบริษัทไหนที่ประสบความสำเร็จสูงโดยที่มีคนเก่งอยู่คนเดียว ทั้งทีมต้องพึ่งพาอาศัยกัน ไม่มีใครสามารถทำได้คนเดียว ผมคิดว่ามันเหมือนกัน กีฬากับชีวิตทั่ว ๆ ไป”

ทายาทตระกูลภิรมย์ภักดี แบรนด์คู่ “สิงห์”

นายจุตินันท์ หรือคุณนิดหน่อย ทายาทแห่งตระกูลภิรมย์ภักดี เป็นแบรนด์คู่กับ “สิงห์” อย่างแนบแน่น เขาเคยกล่าวไว้ว่า ตระกูลสิงห์ นั้น มีวิถีชีวิตที่ได้รับการถ่ายทอดมากจาก พระยาภิรมย์ภักดี และถูกสืบทอดมาอย่างต่อเนื่องถึงรุ่นลูก และหลานและพนักงานบริษัทในเครือ “สิงห์” 4 ข้อ ประกอบด้วย

  1. คุณภาพ ทุกอย่างที่สิงห์ทำ ทุกเรื่องของงาน ผลิตภัณฑ์ และโครงการ
  2. ความกล้า กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงและเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ กล้าที่จะบอกว่าเราแพ้
  3. ความสุข ทั้งความสุขของสิงห์ คู่ค้าของ และสังคม และโฟกัสว่าจะทำอย่างไรให้สังคมมั่นคงและยั่งยืน
  4. ความเชื่อต่อครอบครัว เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความไว้ใจจึงจะโตไปด้วยกันได้ ครอบครัวสิงห์ หมายรวมถึง ซัพพลายเออร์ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และลูกหลานของเขาด้วย

นายจุตินันท์ เคยเล่าว่า หากวันหนึ่งเขาได้พบกับพระยาภิรมย์ภักดี เขาจะบอกว่าปรัชญาที่พระยาภิรมย์ภักดี ส่งต่อมายังลูกหลาน รุ่นของเขาได้ทำอย่างเต็มที่ เขาคิดว่าชื่อเสียงขององค์กร “สิงห์” ไม่เคยเสียหายในทุกมิติ และสิ่งที่นอกเหนือไปจากยอดขายหรือกำไร คือ การที่ครอบครัวสิงห์ ได้ดูแลครอบครัวและสังคม