ฟู้ดแพชชั่น เผยโรดแมป 2568 ปั้นรายได้ 4,500 ล้านบาท

ฟู้ดแพชชั่น ผุดบาบีคิวพลาซ่า-เรดซันโฉมใหม่ พร้อมดึงนวัตกรรมหุ่นยนต์-แอปเสริมงานบริการ ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคหลังโควิด เล็งขยาย 30 สาขา ปี’66 ตามแผนโฟกัสลูกค้านอกห้าง ก่อนลุยปักธงลาว, สิงคโปร์, เวียดนามและฟิลิปปินส์ วางเป้าปี 2568 กวาดรายได้ 4,500 ล้านบาท จาก 270 สาขาในไทยและ 47 สาขาในต่างประเทศ

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 นางชาตยา สุพรรณพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจร้านอาหารในปี 2566 ยังมีแนวโน้มท้าทายทั้งจากสภาพเศรษฐกิจที่ยังทรง-ถดถอย และปัญหาขาดแคลนกำลังคน รวมถึงจำนวนลูกค้าในห้างที่ยังไม่ฟื้นกลับมา 100% ขณะเดียวกันยังเกิดเทรนด์ใหม่ๆ ที่ผู้ประกอบการต้องตามให้ทันทั้งการทานอาหารนอกร้าน ความสนใจด้านสุขภาพ การนำระบบอัตโนมัติมาจัดการข้อมูลอินไซต์ของลูกค้าเพื่อสร้างแคมเปญ-โปรโมชั่นที่ตรงใจ

ดังนั้นปี 2566 ที่จะถึงนี้จะปรับยุทธศาสตร์หลายด้านโดยเฉพาะในธุรกิจร้านอาหารที่จะเน้นรองรับการทานอาหารนอกร้านมากขึ้น ทั้งด้วยการปรับโฉมร้านบาบีคิวพลาซ่า และร้านเรดซัน ซึ่งจะเห็นได้ทั้งในสาขาเดิมที่จะรีโนเวตและสาขาใหม่ที่จะเปิดเพิ่ม รวมถึงเพิ่มบริการ-นวัตกรรมใหม่ ๆ ในร้าน เพื่อรับเทรนด์การทานอาหารที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างการสั่งอาหารไปกินที่บ้าน (Take-home) หรือสั่งผ่านดีลิเวอรี่ พร้อมคุมค่าใช้จ่าย-รับมือปัญหาขาดแรงงานไปพร้อมกัน

ขณะเดียวกันจะเดินหน้ารุกตลาดประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มไม่ว่าจะเป็น ลาว, สิงคโปร์, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์ จากปัจจุบันมีสาขาแฟรนไชส์ในมาเลเซีย อินโดนีเซียและกัมพูชาอยู่แล้ว พร้อมกับเร่งสปีดการขยายสาขาด้วยการตั้งซับไลเซนส์ในภูมิภาคต่าง ๆ ของแต่ละประเทศ

ตามเป้าที่จะสร้างรายได้เพิ่มอีก 1,000 ล้านบาท หรือมีรายได้แตะ 4,500 ล้านบาท ภายในปี 2568 ซึ่งในจำนวนนี้ 20% จะมาจากการทานนอกร้าน หลังจากปี 2565 นี้คาดว่าจะมีรายได้ 3,500 ล้านบาท การทานนอกร้านมีสัดส่วน 8% รวมถึงมีสาขาในไทย 270 สาขา จากปัจจุบันมี 148 สาขา

สำหรับการปรับโฉมร้านนั้น ในส่วนของร้านบาบีคิวพลาซ่า จะทยอยรีโนเวตสาขาเดิมทั้ง 148 สาขา โดยปี 2566 จะรีโนเวต 50 สาขา ปรับบรรยากาศในร้านให้โล่งโปร่งมากขึ้นด้วยการใช้สีโทนสว่างขาว-เขียว รวมถึงขยายความกว้างของทางเดินเพื่อรองรับหุ่นยนต์ GON Bot ซึ่งจะนำมาใช้ใน 60 สาขา เพื่อช่วยรับมือปัญหาขาดแรงงานในร้านอาหาร

พร้อมกับขยายสาขาใหม่ในโมเดล GEX หรือ Gon Express ซึ่งเป็นร้านสแตนด์อะโลนทั้งแบบอาคาร และฟู้ดทรัก สำหรับจับกลุ่มลูกค้านอกห้างและกลุ่มทานที่บ้าน ด้วยจุดเด่นที่ตอบโจทย์ทั้งผู้ที่ต้องการซื้อกลับบ้านและเหล่าไรเดอร์ของบริการดีลิเวอรี่อย่าง เคานต์เตอร์สั่ง-รับอาหารได้โดยไม่ต้องเข้าร้าน

โดยในปี 2566 จะเปิดสาขาโมเดล GEX เพิ่มอีก 25 สาขา ในทำเลนอกห้างสรรพสินค้า อย่าง ปั๊มน้ำมัน, อาคารสำนักงาน, คอนโดฯ, ไฮเปอร์มาร์เก็ต, คอมมิวนิตี้มอลล์ ฯลฯ หลังการทดลองตั้งแต่ต้นปี 2565 ประสบความสำเร็จ จนปัจจุบันมี 8 สาขา รวมถึงจะเปิดสาขาโมเดลธรรมดาอีก 5 สาขา

ส่วนร้านเรดซัน จะทดลองโมเดลใหม่ที่เน้นย้ำความเป็นเกาหลีมากยิ่งขึ้นทั้งการตกแต่งร้าน และวัตถุดิบนำเข้าจากเกาหลี โดยจะทดลองด้วย พ็อปอัพสโตร์ในรูปแบบเต้นติดแอร์ ตกแต่งด้วยบรรยากาศสไตล์เกาหลี

เนื่องจากตอบโจทย์ทั้งด้านการลงทุนน้อยกว่าเปิดร้านถาวร และความคล่องตัวในการนำไปเปิดในจุดต่าง ๆ รวมสามารถปรับการตกแต่งตามเทศกาลได้ง่าย โดยจะทดลองให้บริการสาขาแรกที่สยามสแควร์ ใกล้กับเรดซันสาขาแฟลกชิป ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 นี้

ด้านบริการและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะนำมาใช้ในร้านนั้นจะมีไฮไลต์เป็น ดิจิทัล สโตร์ Digital Store ที่เน้นประสบการณ์ดิจิทัลที่ไม่มีที่อื่น ผ่านการใช้แอป จองคิว สั่งอาหาร ชำระเงินแบบจบในที่เดียว อาทิ ระบบแนะนำเมนูโปรด สามารถสั่งอาหารพร้อมกันได้ทั้งโต๊ะ แลกแต้มสมาชิกเป็นส่วนลด เป็นต้น

นำร่องสาขาแรกที่สีลม คอมเพล็กซ์ โดยพัฒนาระบบร่วมกับ Hato Hub โดยตั้งเป้าเปิด Digital Store ทั้งหมด 40 สาขา ภายในปี 2566

รวมไปถึงนำระบบแคชเลส (Cashless) หรือการชำระค่าอาหารแบบไม่ใช้เงินสดมาใช้ใน 50% ของสาขาทั้งหมด พร้อมจูงใจลูกค้าด้วยการให้ส่วนลดมากกว่าการชำระด้วยเงินสดหรือบัตรเครดิต ทั้งนี้เพื่อตอบรับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าปัจจุบันที่ 75% ชำระค่าอาหารแบบแคชเลสแล้ว ขณะเดียวกันยังช่วยลดค่าใช้จ่ายและเวลาในการบริหารจัดการเงินสด อย่างการนับและนำไปฝากธนาคารลง

ขณะเดียวกันจะมีแคมเปญและโปรโมชั่นที่เน้นความคุ้มค่ามากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ด้านสภาพเศรษฐกิจ โดยอาศัยการนำฐานข้อมูลสมาชิกมาวิเคราะห์เพื่อสร้างแคมเปญ-โปรโมชั่นที่ตอบโจทย์แต่ละราย

ในส่วนของตลาดต่างประเทศจะเน้นกลยุทธ์ โลคอลไลเซชั่นหรือการปรับตัวให้เข้ากับลูกค้าท้องถิ่น ควบคู่กับเมนูที่มีเฉพาะในแต่ละประเทศ และเมนูที่สื่อถึงความเป็นไทยอย่าง ก๋วยเตี๋ยวเรือ หมูกะทะ ยำต่าง ๆ เป็นต้น

ตัวอย่างเช่น บาบีคิวพลาซ่าสาขาแรกในประเทศลาวที่จะเปิดในปี 2566 นั้นจะเป็นสาขาขนาดใหญ่พื้นที่ 800 ตร.ม. พร้อมด้วยโซนกลางแจ้ง และห้องจัดเลี้ยง ซึ่งตอบโจทย์ผู้บริโภคชาวลาวที่นิยมทานปิ้งย่างกลางแจ้ง และการทานเป็นหมู่คณะขนาดใหญ่

โดยวางแผนเปิดสาขาต่างประเทศเพิ่มอีก 17 สาขา เป็นรวม 47 สาขา ในปี 2568 สร้างรายได้ 800 ล้านบาท แบ่งเป็นมาเลเซียเพิ่ม 6 สาขา จากปัจจุบัน 21 สาขา กัมพูชาเพิ่ม 3 สาขา จากปัจจุบัน 6 สาขา อินโดนีเซียเพิ่ม 1 สาขาจากปัจจุบัน 4 สาขา ส่วนกลุ่มประเทศใหม่นั้นจะมีสาขาในลาว 3 สาขา สิงคโปร์ 2 สาขา เวียดนาม 1 สาขา ฟิลิปปินส์ 1 สาขา