หมอมนูญ เผย ความเป็นไปได้การใช้ยาต้านโควิด คู่ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป

หมอมนูญ
นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ เตือนสายพันธุ์โควิดชนิด XBB ระบาดในอินเดียแล้ว

ผู้ป่วยบางรายโควิด-19 สามารถคงอยู่ในร่างกาย ทำให้เกิดปอดอักเสบซ้ำหลายครั้ง จึงต้องพยายามกำจัดเชื้อไวรัสในร่างกายให้หมดด้วยยาต้านไวรัสพร้อมกันหลายขนานร่วมกับภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป

วันที่ 8 ธันวาคม 2565 นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์เฟสบุ๊ก กล่าวถึงศักยภาพการใช้ยาต้านไวรัสพร้อมกันหลายขนานร่วมกับภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป เพื่อกำจัดเชื้อไวรัสในร่างกายของผู้ป่วยให้หมด พร้อมยกเคสตัวอย่าง

นพ.มนูญระบุว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถคงอยู่ (persistent) ในร่างกาย และทำให้เกิดปอดอักเสบซ้ำแล้วซ้ำอีก ในคนที่เคยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ซึ่งคนกลุ่มนี้อาจจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ ๆ แพร่กระจายเชื้อให้คนอื่น ๆ ต่อไป ถ้าเป็นไปได้ต้องพยายามกำจัดเชื้อไวรัสในร่างกายของคนเหล่านี้ให้หมดด้วยการให้ยาต้านไวรัสพร้อมกันหลายขนานร่วมกับภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป

ผู้ป่วยชายอายุ 67 ปี เคยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองรักษาหายแล้วด้วยเคมีบำบัดเมื่อ 5 ปีก่อน มีปอดอักเสบจากไวรัสโควิดถึง 4 ครั้ง ในเวลา 4 เดือน

ครั้งที่ 1 : เดือน ก.ค. 2565
มีไข้ ไอ เหนื่อย เอกซเรย์ปอดมีฝ้าขาว รหัสพันธุกรรม RT-PCR SARS-CoV 2 บวก CT value 17.40 ได้ยาเรมเดซิเวียร์ทางเส้นเลือดครั้งแรก เมื่อวันที่ 23 ก.ค. เป็นเวลา 5 วัน หลังให้ปอดอักเสบดีขึ้น

ครั้งที่ 2 : เดือน ส.ค. 2565
มีไข้ ไอ เหนื่อย และเอกซเรย์มีปอดอักเสบอีก ATK บวก ได้ยาเรมเดซิเวียร์ทางเส้นเลือดเมื่อวันที่ 23 ส.ค. เป็นเวลา 10 วัน หลังให้ปอดอักเสบดีขึ้น

ครั้งที่ 3 : เดือน ก.ย. 2565
มีอาการไอ เหนื่อย ตรวจ ATK บวก เมื่อวันที่ 22 ก.ย.ได้ยาโมลนูพิราเวียร์กิน 5 วัน หลังกินยาดีขึ้น

ครั้งที่ 4 : เดือน ต.ค. 2565
มีไข้ ไอ เหนื่อย เอกซเรย์มีปอดอักเสบอีก ตรวจรหัสพันธุกรรม RT-PCR SARS-CoV2 บวก CT value 19.04 ให้ยาเรมเดซิเวียร์ทางเส้นเลือด เป็นเวลา 10 วัน เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2565 หลังได้เรมเดซิเวียร์ครบแล้ว ให้ยาแพ็กซ์โลวิดและโมลนูพิราเวียร์กินต่อพร้อมกันอย่างละ 5 วัน

ผู้ป่วยรายนี้เคยได้รับวัคซีนป้องกันโควิดทั้งหมด 4 เข็ม เป็นแอสตร้าเซเนก้า 2 เข็ม ไฟเซอร์ 1 เข็ม และโมเดอร์นา 1 เข็ม แต่ตรวจวัดระดับภูมิคุ้มกันในเลือด Anti spike protein antibody พบว่าไม่มีภูมิเลย (น้อยกว่า 50) ผู้ป่วยได้ Evusheld ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หลังฉีดเข้ากล้ามโดสแรกวันที่ 16 ส.ค. 2565

1 เดือนต่อมา ตรวจวัดระดับ Anti spike protein antibody ขึ้นมา 19,876 หลังให้ Evusheld โดสที่ 2 วันที่ 22 ต.ค. 2565 ตรวจวัดระดับ Anti spike protein antibody 2 สัปดาห์ต่อมา ภูมิคุ้มกันขึ้นมากกว่า 40,000 AU/ml

ติดตามผู้ป่วย 5 สัปดาห์หลังจากได้ยาต้านไวรัสโควิด 3 ขนานพร้อมกันคือ เรมเดซิเวียร์ชนิดฉีด แพ็กซ์โลวิด โมลนูพิราเวียร์ ชนิดกิน รวมทั้งภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป Evusheld ฉีดเข้ากล้ามหลังจากป่วยเป็นปอดอักเสบครั้งที่ 4 จากโรคโควิด ผู้ป่วยดีขึ้นมาก ไม่ไอ ไม่เหนื่อย ไม่มีไข้ ออกกำลังกายได้ ตรวจ ATK สัปดาห์ละครั้งติดต่อกัน 4 สัปดาห์ให้ผลลบ เอกซเรย์ปอดล่าสุดกลับมาเป็นปกติ เชื่อว่าการรักษาครั้งนี้ สามารถกำจัดเชื้อไวรัสโควิดในร่างกายให้หมดไปได้ ต้องติดตามใกล้ชิดต่อไป

มีรายงานคนไข้ 1 คนในประเทศสหราชอาณาจักรแบบเดียวกับผู้ป่วยรายนี้ ได้รับยาเรมเดซิเวียร์คู่กับแพ็กซ์โลวิดแล้วได้ผลดี แสดงว่าการใช้ต้านไวรัสร่วมกันหลายขนานช่วยเสริมฤทธิ์การฆ่าเชื้อไวรัสให้ดียิ่งขึ้น และผลข้างเคียงไม่เพิ่มขึ้น