เซเว่นฯ เผยเทรนด์ 7 กลุ่มสินค้า SME มาแรงปี’66

ซีพี ออลล์ เผย 7 เทรนด์สินค้า SME ที่จะน่าจับตามองและคาดว่าจะมาแรงในปี 2566 

วันที่ 31 ธันวาคม 2565 บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่นและเซเว่น เดลิเวอรี่ เผย 7 สินค้า SME ที่มีแนวโน้มมาแรงในปี 2566 ซึ่งรวบรวมจากข้อมูลกลุ่มลูกค้า 12 ล้านคนต่อวันที่เข้ามาซื้อสินค้าในร้านเซเว่น อีเลฟเว่นทั่วประเทศ

โดยกลุ่มสินค้าที่น่าจับตามองและถูกจัดให้เป็นเทรนด์ในปี 2566 และในอนาคตมีจำนวน 7 กลุ่มสินค้า ประกอบด้วย

  • กลุ่มสินค้าสำหรับผู้สูงวัย

ตลาดผู้สูงวัยนั้นให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสุขภาพ และยังมีกำลังซื้อสูงเพราะมีทั้งเงินออม เงินบำนาญ และในขณะที่ภาระค่าใช้จ่ายน้อย ดังนั้นสินค้าที่จะคว้าใจผู้สูงวัยได้นั้นจะเป็นสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ หรือสินค้าที่ช่วยสร้างประสบการณ์ดีๆ เช่น ข้าวต้มพร้อมรับทาน ที่ยังคงความหอมเหมือนหุงเอง และคงคุณประโยชน์ของข้าวครบถ้วน ก็จะสามารถคว้าใจของผู้บริโภคในกลุ่มสูงวัยได้

  • กลุ่มสินค้าเพิ่มความสะดวก

ผู้บริโภคปัจจุบันชอบความสะดวกสบาย ดังนั้นสินค้าจึงต้องช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภค เช่น ผลไม้หั่นเป็นชิ้นพร้อมไม้จิ้ม เพื่อความสะดวกในการทาน หากเพิ่มพริกกะเกลือหรือเครื่องจิ้มอื่นไปในแพ็กเกจจิ้ง ก็จะยิ่งช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับสินค้า นำมาสู่ยอดขายที่เติบโตขึ้น

  • กลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพ & ความงาม

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้ผู้บริโภคหันมาให้ความใส่ใจกับเรื่องของสุขภาพและการดูแลตัวเองอย่างจริงจัง สะท้อนจากการขยายตัวของสินค้า อาทิ สินค้าธัญพืช สินค้าที่มีส่วนผสมของสมุนไพร

  • กลุ่มสินค้าไซส์เล็ก

คนรุ่นใหม่ชอบทดลองสิ่งใหม่ ชอบความสะดวกสบาย และนิยมการอยู่คนเดียวหรือมีครอบครัวขนาดเล็ก ดังนั้นสินค้าเพื่อการบริโภคควรบรรจุอยู่ในแพ็กเกจจิ้งที่เหมาะแก่การรับประทานในครั้งเดียว และในปริมาณที่เหมาะสำหรับการรับประทานแค่ 1-2 คน ส่วนสินค้าอุปโภคก็ควรปรับลดขนาดให้เล็กลง เช่น ครีม อาจปรับให้อยู่ในรูปแบบซอง เพื่อความสะดวกในการพกพา ในราคาที่จับต้องได้

  • กลุ่มสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ผู้บริโภคยุคใหม่มักมองหาสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นับตั้งแต่กระบวนการคัดสรรวัตถุดิบ กระบวนการผลิต ไปจนถึงตัวสินค้าและแพ็กเกจจิ้งต้องตอบโจทย์ในเรื่องสิ่งแวดล้อม

  • กลุ่มสินค้าที่ต่อยอดเอกลักษณ์จากผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น

เทรนด์ความสนใจในผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นหรือ Local Lover มีแนวโน้มเติบโตอีกครั้งในช่วงหลังการคลี่คลายของสถานการณ์ COVID-19 โดยผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าท้องถิ่นสามารถขึ้นทะเบียนขอรับตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อยืนยันว่าเป็นแบรนด์ท้องถิ่นที่มีคุณภาพและมีแหล่งที่มาจากท้องถิ่นนั้นๆ จริงๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่กลุ่มฐานลูกค้าประจำของสินค้าท้องถิ่นนั้นๆ

ขณะเดียวกัน หากนำมาพัฒนาต่อยอดก็จะทำให้ได้ฐานลูกค้าที่เป็นผู้บริโภคกลุ่มใหม่เพิ่มเติม เช่น “มะขามหวานเพชรบูรณ์” ที่ บริษัท สวนผึ้งหวาน จำกัด นำมาพัฒนาต่อยอดในหลากหลายรสชาติ หลากหลายรูปแบบ ทำให้ปัจจุบันสามารถขยายตลาดได้ทั้งภายในและภายนอกประเทศ สร้างยอดขายได้สูงถึง 250 ล้านบาทต่อปี

  • กลุ่มสินค้าที่มีนวัตกรรม

นวัตกรรมยังคงเป็นเทรนด์ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะนอกจากจะช่วยสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งในตลาดแล้ว ยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ทำให้แม้จะเป็นสินค้าพื้นบ้านก็มีโอกาสเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน เช่น แหนมสุทธิลักษณ์ ที่นำเอาเทคโนโลยีการฉายรังสีมาใช้กับการถนอมอาหารประเภทแหนม เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่ปนเปื้อนอยู่ในเนื้อหมู สามารถช่วยยืดอายุการจัดเก็บสินค้าให้ยาวนานถึง 2 เดือน โดยปราศจากสารกัมมันตรังสีตกค้าง สามารถรับประทานได้ทันทีไม่ต้องนำไปผ่านความร้อน

………………….