“บีเจซี” ผนึกกำลังซัพพลายเออร์กว่า 30 บริษัท เสริมแกร่งโมเดลร้านโดนใจ

บีเจซี
บีเจซี เปิดตัวพันธมิตร 30 บริษัท-สถาบันการเงิน

บีเจซี เปิดตัวพันธมิตร 30 บริษัท-สถาบันการเงิน สนุบสนุนโมเดลร้านโดนใจ อำนายความสะดวกร้านค้ารายย่อย ขยายผลนำโมเดลต้นแบบไปเปิดที่เวียดนามนำสินค้าไทยไปขายในอาเซียน

บีเจซี เปิดตัวพันธมิตร 30 บริษัท-สถาบันการเงิน สนุบสนุนโมเดลร้านโดนใจ อำนายความสะดวกร้านค้ารายย่อย ขยายผลนำโมเดลต้นแบบไปเปิดที่เวียดนาม นำสินค้าไทยไปขายในอาเซียน

วันที่ 18 มกราคม 2566 นางฐาปณี เตชะเจริญวิกุล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ บีเจซี เปิดเผยว่า หลังจากที่บริษัทเปิดตัวโมเดลธุรกิจ “ร้านโดนใจ” เมื่อปลายปี 2565 ที่ผ่านมา ที่ผ่านมาด้วยการพัฒนาระบบ POS เข้ามายกระดับร้านโชห่วยไทยให้มีระบบบริหารจัดการที่ดี โดยขณะนี้มีร้านโชห่วยเข้าร่วมโมเดลธุรกิจร้านโดนใจแล้วกว่า 1,200 ร้านค้า

นางฐาปณี เตชะเจริญวิกุล
นางฐาปณี เตชะเจริญวิกุล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ บีเจซี

นอกจากการพัฒนาโมเดลร้านค้าปลีกสมัยใหม่ด้วยระบบการบริหารจัดการที่ดี มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญคือการหาคู่ค้า ที่วันนี้บีเจซีได้เดินหน้าเปิดตัวพันธมิตรกว่า 30 บริษัท เพื่อเสริมแกร่งให้ร้านโดนใจมีสินค้าและผลิตภัณฑ์วางจำหน่ายที่หลากหลายแบรนด์ ในราคาที่เหมาะสม อาทิ

โค้ก แฟนต้า เนสกาแฟ ไฮยีน บรีส ดาวน์นี่ นีเวีย แอทแทค เปา คอลเกต ไฟน์ไลน์ ดัชมิลล์ แลคตาซอย สิงห์ มาม่า ไวไว เบอร์ดี้ น้ำมันมรกต ข้าวเบญจรงค์ เด็กสมบูรณ์ เลย์ อิงอร ปินโต้ ข้าวตราแตงโม ซอสม้าบิน ขนมปูจ๋า ซีพี-เมจิ บีทาเก้น ขนมปังมิงโก้ และแหนมดอนเมือง เป็นต้น

พร้อมกันนี้ยังได้เปิดตัวพันธมิตรในกลุ่มสถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม เพื่อต่อยอดในการสร้างทุนให้กับผู้ประกอบการที่สนใจที่จะเปิดร้านโดนใจในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ

สำหรับเป้าหมายการยกระดับร้านโชห่วยเข้าร่วมในแพลตฟอร์มเครือข่ายร้านโดนใจในปี 2566 วางเป้าไว้ที่ 8,000 ร้านค้า โดยมีการประชาสัมพันธ์และเตรียมลงพื้นที่ผ่านโครงการโดนใจออนทัวร์ เพื่อสร้างการรับรู้และเสริมองค์ความรู้ให้กับร้านโชห่วยในพื้นที่ต่าง ๆ

โดยในไตรมาสที่ 1 จะเริ่มจากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคกลางตามลำดับ เน้นในพื้นที่จังหวัดที่เป็นหัวเมือง อาทิ อุบลราชธานี ขอนแก่น ภูเก็ต และชลบุรี เป็นต้น

นางฐาปณีย้ำว่า แพลตฟอร์มร้านโดนใจมีจุดเด่นที่ผู้ประกอบการร้านค้าโชห่วยสามารถเลือกลงทุนและสินค้าที่จำหน่ายได้เอง โดยไม่ต้องแบ่งผลกำไร ใช้งบฯลงทุนที่ไม่สูง ซึ่งรูปแบบของร้านแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ 1.บีเจซีจะใช้เครือข่ายของบิ๊กซีเป็นคนจำหน่ายสินค้าให้กับร้านค้าในชุมชน 2.นำเอาระบบ POS ที่พัฒนาขึ้นเข้าไปเสริมแกร่งธุรกิจให้กับร้านโชห่วย

บีเจซี
บีเจซี เปิดตัวพันธมิตร 30 บริษัท-สถาบันการเงิน

ทั้งนี้ สำหรับการกระจายสินค้าร้านโดนใจจะใช้เครือข่ายสาขาของบิ๊กซีที่มีอยู่ทั่วประเทศเข้ามาเป็นเครือข่ายในการกระจายสินค้า ขณะที่การปรับปรุงร้านค้านั้นหากผู้ประกอบการต้องการปรับโฉมหรือตกแต่งให้ดูทันสมัยสามารถเลือกได้ตามความเหมาะสมของงบประมาณที่ตัวเองเห็นสมควร

“เราเชื่อมั่นว่า ร้านโดนใจ จะเป็นส่วนเติมเต็มที่สำคัญให้กับการพัฒนาร้านโชห่วยในประเทศไทยให้สามารถเติบโตและขานรับความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างหลากหลาย มากไปกว่านั้นการมีระบบบริหารจัดการที่ดีจะทำให้ร้านค้ารวมไปถึงผู้ประกอบการและลูกค้ามีความสะดวกสบาย”

“โดยเป้าหมายระยะยาวต่อจากนี้วางเป้าเปิดร้านโดนใจให้เติบโตสู่ 30,000 ร้านค้า ภายในปี 2570 จากปัจจุบันที่มีร้านโชห่วยทั่วประเทศที่มีกว่า 400,000 ร้านค้า พร้อมกันนี้ยังพัฒนาโครงการโดนใจในเวียดนามด้วยการใช้ต้นแบบจากไทย ถือเป็นหนึ่งจุดหมายที่สำคัญในการนำสินค้าไทยไปขายยังภูมิภาคอาเซียน” นางฐาปณีกล่าวสรุป