กัญชาเสรี …แผลงฤทธิ์ ! ทุบราคาร่วงหนัก-สินค้าขายอืด

กัญชา

อาจจะเรียกว่าชะลอตัวลงมาก หรือจะใช้คำว่า ขาลง ก็คงไม่ผิดนัก สำหรับตลาดกัญชาที่เพิ่งจะแจ้งเกิดไปได้เพียง 4 ปี หลัง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2562 และให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

นี่เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่เป็นการปลดล็อกและเปิดทางให้นำกัญชาไปทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสามารถนำไปใช้ในการรักษาโรคได้

ถัดมา กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็ได้ทยอยออกประกาศ ปลด กัญชา จากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5 และไฟเขียวให้ สามารถใช้ประโยชน์จากใบ (ไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย) เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน และรากได้ (15 ธ.ค. 63) และนำมาสู่การประกาศว่า กัญชา ไม่ใช่ยาเสพติด (9 มิ.ย. 65) และเปิดให้ปลูกได้โดยเสรีโดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงจดแจ้งผ่านแอปพลิเคชั่น “ปลูกกัญ”

ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สำรวจภาพความเคลื่อนไหวของตลาดสินค้ากัญชา จากมุมมองผู้ปลูกและผู้ประกอบการ ดังนี้

ดีมานด์สินค้ากัญชา “ขาลง”

“มารุต ชุ่มขุนทด” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท คลาส คอฟฟี่ จำกัด เจ้าของร้านกาแฟ “คลาส คาเฟ่” หนึ่งในผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่กระโดดเข้ามาในตลาดกัญชา ด้วยการเปิดแฟรนไชส์ ร้าน “เขาใหญ่ คาม” (Khaoyai calm) และมีโปรดักต์ไฮไลต์ เป็นเครื่องดื่มชา กาแฟ จากกัญชา ขึ้นมารองรับเมื่อช่วงปี 2564 ได้อัพเดตธุรกิจให้ฟังว่า “ตอนนี้ที่หน้าร้านแทบจะไม่มีดีมานด์ หรือเสียงเรียกหาเครื่องดื่มกัญชาเข้ามาแต่อย่างใด เมื่อเทียบกับช่วงแรก ๆ ที่เปิด ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงที่ตลาดบูม ทำให้ตอนนี้ต้องกลับไปเน้น กาแฟ-ชา เหมือนเดิม”

“นอกจากนี้จากการพุดคุยกับผู้ประกอบการหลาย ๆ รายก็พบว่า จากความไม่ชัดเจนของกฎหมาย รวมถึง ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง (ของพรรคภูมิใจไทย) ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภา และยังไม่รู้ว่าจะเสร็จทันในสมัยประชุมนี้หรือไม่ ทำให้ตอนนี้ผู้ประกอบการเครื่องดื่มรายใหญ่ที่เคยประกาศจะผลิตสินค้าเกี่ยวกับกัญชาออกมาทำตลาด อาจจะขอ hold หรือหยุดไว้ก่อน ขณะที่ผู้ประกอบการรายเล็กรายกลางจำนวนหนึ่ง ก็ตัดสินใจเลิกกิจการไปเลย เนื่องจากเป็นเป้าของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้ามาตรวจสอบเป็นระยะ ๆ”

“ช่วงแรก ๆ ที่เปิด เราต้องวิ่งหาใบกัญชากันอย่างหนักและราคาก็แพง เป็นของหายาก กิโลละ 5,000-6,000 บาท ต้องโทร.ตามขอซื้อ แต่ตอนนี้เราไม่ต้องวิ่งไปขอซื้อแล้ว เขาต้องโทร.เข้ามาเสนอขายให้ พร้อมส่งของได้เลยทันที ที่สำคัญคือ ราคาลดลงมาก เพราะตอนนี้คนปลูกกันมาก”

ใบราคาร่วงเหลือกิโลละพัน

สอดคล้องกับผู้บริหารวิสาหกิจชุมชมหลาย ๆ แห่งในภาคอีสานให้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกันว่า ขณะนี้ราคาขายใบ กิ่ง ก้าน ลำต้น เปลือก ราก ตกลงมาก เนื่องจากตลาดมีความต้องการลดลง โดยเฉพาะใบกัญชาสด ที่ตอนนี้ราคาลดลงเหลือเพียงกิโลกรัมละ 500-1,000 บาทเท่านั้น ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ที่ปลูก จากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ราคาสูงกว่า 5,000-6,000 บาท ส่วนช่อดอกที่ขายให้กับโรงพยาบาล หรือองค์การเภสัชกรรม หรือหน่วยงานในสังกัด สธ. ที่นำไปสกัดสารซีบีดี หรือนำไปค้นคว้าวิจัย ยังขายได้ตามปกติ

“ดีมานด์ที่ลดลง ปัญหาเกิดจากนโยบายของภาครัฐที่ไม่ชัดเจน ตอนนี้ส่วนประกอบของกัญชา ใบกัญชาที่ทำชาก็ขายไม่ได้ ส่วนราก ต้น ส่วนอื่น ๆ ที่ใช้ประโยชน์ได้ ชาวบ้านก็เอาไปต้มกิน ที่น่าเป็นห่วงก็คือ การลักลอบปลูกที่มีมากขึ้น ซึ่งภาครัฐไม่สามารถควบคุมได้ เมื่อใคร ๆ ก็ปลูก ก็ไม่มีคนมาซื้อ คนที่น่าห่วงคือ คนที่ลงทุนปลูกอย่างถูกต้อง ใช้เงินลงทุนมาก เพราะต้องปลูกในโรงเรือนปิด ตอนนี้ยังไม่คืนทุนเลย แต่ตลาดก็เริ่มวาย”

ภาพที่เกิดขึ้นดังกล่าว ไม่ต่างจากกัญชาทางการแพทย์ โดยผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชนรายหนึ่งที่เพิ่งเปิดศูนย์รักษาโรคด้วยกัญชา แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า ขณะนี้อาจจะกล่าวได้ว่า ความสนใจหรือดีมานด์ของสินค้าจากกัญชา รวมถึงการรักษาโรคด้วยกัญชา อยู่ในภาวะที่ชะลอลงไปมาก ปัจจัยหลัก ๆ เป็นผลมาจากความไม่ชัดเจนในเรื่องของกฎหมาย รวมถึงกระแสดราม่าต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้ประชาชนรับรู้ข่าวสารไปผิด ๆซึ่งก็อาจจะต้องแก้ด้วยการเอดูเคต เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา

ขณะที่ ภญ.ดร.ผกากรอง ขวัญข้าว ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ให้ข้อมูลว่า โดยหลัก อภัยภูเบศร จะมุ่งส่งเสริมเรื่องการใช้ยากัญชาทางการแพทย์เป็นหลัก และตำรับยากัญชาแผนไทยที่ผลิตโดย รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร หลัก ๆ มี 2-3 รายการ เช่น ยาศุขไสยาศน์ (ตำรับยา : คัมภีร์ธาตุพระนารายน์) และยาแก้ลมแก้เส้น (ตำรับยา : เวชศาสตร์วัณณนา) ส่วนสินค้าอื่นที่ไม่ใช่ยามีไม่มากนัก เช่น ครีม CBD จากกัญชง “อภัย แอดวานซ์ รีแพร์ ยูธ แอคติเวติ้ง ไนท์ ครีม” ช่วยลดริ้วรอย

ที่ผ่านมาสินค้าต่าง ๆ ที่มาจากกัญชาที่เคยนำไปแสดง-จำหน่ายในงานต่าง ๆ ในปีที่ผ่านมาเป็นสินค้าตัวอย่าง ซึ่งเป้าหมายของการผลิตจะมุ่งสร้างการรับรู้ให้ประชาชนทราบถึงประโยชน์และความเป็นไปได้ของกัญชา เช่น การใช้อย่างถูกวิธี การใช้เพื่อดูแลสุขภาพ เรียกว่าเป็นการผลิตชั่วคราว มากกว่าจะผลิตเพื่อจำหน่ายในระยะยาว

สำหรับยาแพทย์แผนไทยจากกัญชา ตอนนี้ยังผลิตอยู่บ้างและน้อยลงแล้ว เพราะกระแสความสนใจและดีมานด์ลดลง แม้แต่ชา “อภัยกัญช์” จากใบกัญชา ก็ขายได้น้อยมาก มีเพียงผู้ที่ต้องการดื่มเพื่อช่วยการนอนหลับหรือผ่อนคลายที่ยังซื้อ ยอมรับว่ากระแสดราม่าต่าง ๆ เกี่ยวกับกัญชาที่เกิดขึ้น ทำให้ความต้องการก็หยุดไปเลย

“ปกติ รพ.ก็จะไม่ได้แนะนำให้ทุกคนใช้กัญชาอยู่แล้ว ต้องมีการสอบถามข้อมูลจึงจะแนะนำเพื่อความปลอดภัย-เหมาะสม เพราะเราเน้นด้านสุขภาพ ไม่ใช่ผลกำไร”

จับตาอีก 1 ปี ของนอกทะลัก

แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัทโรงงานผลิตยาและอาหารเสริมรายหนึ่งเปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีนักธุรกิจจำนวนหนึ่งที่สนใจจะผลิตสินค้ากัญชาจำหน่ายและเข้ามาปรึกษากับโรงงาน แต่เนื่องจากทิศทางของกฎหมายยังไม่ชัดเจน ประกอบกับที่ผ่านมา มีการเปิดให้ปลูกได้มากขึ้นหรือเสรี โดยเฉพาะในครัวเรือน ประกอบกับตอนนี้คนส่วนใหญ่ยังคลุมเครือ อะไรวางขายได้ วางขายไม่ได้ ทำอะไรได้บ้าง ไม่ได้บ้าง หลาย ๆ รายจึงชะลอแผนออกไปก่อนเพื่อรอความชัดเจน

อีกประเด็นหนึ่งที่หลาย ๆ คนกังวล คือ ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 มาตรา 21 ที่กำหนดว่า 5 ปีแรก จะอนุญาตให้ผลิต นำเข้า ส่งออกได้เฉพาะหน่วยงานรัฐ หรือหน่วยงานรัฐร่วมกับอื่น ๆ ซึ่งตอนนี้เหลือเวลาอีกเพียง 1 ปี และหลังจากนั้นอาจจะมีสารสกัดซีบีดี จากต่างประเทศไหลทะลักเข้ามาและราคาถูก ทุกคนจึงรอเวลาตรงนั้นมากกว่า เมื่อถึงเวลานั้นตลาดอาจจะกลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่ง บนเงื่อนไขที่ว่าในแง่ของกฎหมายต้องมีความชัดเจนด้วย

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ภาพรวมการเคลื่อนไหวของสินค้ากัญชา โดยเฉพาะเครื่องดื่มและกลุ่มสกินแคร์ อาจจะอยู่ในภาวะที่ชะลอตัวลงไปจากดีมานด์ที่ลดลง แต่อีกด้านหนึ่งกลับพบว่า ธุรกิจการจัดคอร์สอบรมเกี่ยวกับกัญชา ทั้งการปลูก การสกัด การใช้ ยังคงได้รับความสนใจอยู่ไม่น้อย แต่อาจจะมีปริมาณที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา

ล่าสุดจากการตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า เดือน ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา มีบริษัทที่จดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่ โดยระบุวัตถุประสงค์ว่าทำธุรกิจที่เกี่ยวกับกัญชา อาทิ การปลูก การจำหน่ายกัญชา น้ำกัญชา ผลิตภัณฑ์แปรรูป ฯลฯ มีมากกว่า 50 บริษัท จากก่อนหน้านี้ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2565 มีบริษัทที่จดทะเบียนทำธุรกิจเกี่ยวกับกัญชารวมมากกว่า 200 บริษัท โดยเดือน ต.ค. มีประมาณ 68 บริษัท เดือน พ.ย. ประมาณ 74 บริษัท และเดือน ธ.ค. ประมาณ 72 บริษัท และเมื่อพิจารณาลงไปในรายละเอียดจะพบว่า บริษัทที่ตั้งขึ้นมาดังกล่าว ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองท่องเที่ยว เช่น ชลบุรี (บางละมุง) สุราษฎร์ธานี (สมุย) ภูเก็ต กระบี่ เชียงใหม่ เป็นต้น

จากนี้ไปตลาดกัญชาจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร จะเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่เหมือนที่เคยคาดหวังไว้หรือไม่ ยังต้องติดตามกันอีกหลายแง่มุม