มหากาพย์ พ.ร.บ.กัญชา นโยบายหัวหอกภูมิใจไทย ล่มคาสภา 4 ปี

ภูมิใจไทย

ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง พ.ศ. …. กฎหมายสำคัญลำดับ 1 ของพรรคภูมิใจไทย สถานะ ณ วันนี้ มีสิทธิแท้งสูง

ทั้งที่เป็นกฎหมายที่นำมาขับเคลื่อนนโยบายหลัก “กัญชาเสรี-กัญชาเพื่อการแพทย์” ของพรรคภูมิใจไทย

ภายหลังการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ในสภาผู้แทนราษฎรมีแนวโน้มลากยาว แถมอืดเป็นเรือเกลือ ผ่านไปได้แค่ 18 มาตรา จากทั้งหมด 95 มาตรา

ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล แย้มว่า หากร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พิจารณาเสร็จไม่ทันสมัยประชุมนี้ ต้องตกไปตามรัฐธรรมนูญ มีความเป็นไปได้จะพิจารณาเสร็จไม่ทันสมัยประชุมนี้ แม้ชั้นสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ ก็ต้องผ่านวุฒิสภาที่ให้ความสนใจหลายประเด็น อาจต้องใช้เวลา ไม่น่าประกาศใช้ได้ทันสมัยประชุมนี้

ขณะที่ สมชาย แสวงการ ส.ว.ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) กล่าวเช่นเดียวกันว่า ไม่เห็นโอกาสของความหวังที่วุฒิสภา จะพิจารณาร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวให้เป็นกฎหมายบังคับใช้ได้ และวิปวุฒิสภาได้พูดคุยกันว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ร่างกฎหมายดังกล่าวจะไม่ผ่านมาให้วุฒิสภาพิจารณา

จึงสะกิดเตือนไปยังสภาล่าง หรือสภาผู้แทนราษฎร ว่า “สภาไม่ควรมัดมือชกวุฒิสภา ด้วยการส่งร่าง  พ.ร.บ.กัญชา กัญชง มาให้วุฒิสภาแบบกระชั้นชิดจะปิดสมัยประชุม เพราะวุฒิสภาจะไม่มีเวลาแก้ไข เพราะโดยปกติการพิจารณาร่างกฎหมายที่สภาเห็นชอบ วุฒิสภาจะใช้เวลา 3-6 เดือน เพื่อให้เกิดความรอบคอบ ดังนั้น หากส่งมาให้เกินเวลาต้นเดือนกุมภาพันธ์ วุฒิสภาจะพิจารณาไม่ทัน กฎหมายต้องตกไป และจะคนโยนบาปมาให้ ส.ว.”

สภาพิจารณาไม่ทัน กฎหมายกัญชาทำอย่างไรต่อ ?

ตามขั้นตอน หากกฎหมายกัญชา ของพรรคภูมิใจไทยพิจารณาไม่ทัน กฎหมายจะยังไม่ตกไปเสียทีเดียว เพราะตามรัฐธรรมนูญมาตรา 147 กำหนดให้ “รัฐบาลชุดใหม่” ร้องขอต่อรัฐสภาเพื่อยืนยันการพิจารณาต่อ ถ้าสภาเห็นชอบก็สามารถพิจารณาต่อไปได้ แต่มีเงื่อนไขว่า รัฐบาลใหม่จะต้องร้องขอภายใน 60 วัน นับแต่วันที่เรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก ภายหลังการเลือกตั้ง

ดังนั้น เป้าหมายของพรรคเพื่อไทย จะต้องกลับมาเป็นรัฐบาล และต้องมี “เสียง” ในสภา “ดังพอ” ที่กดดันให้รัฐบาลใหม่-นายกฯ ในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ทำเรื่องร้องขอไปยังสภาให้เดินหน้า ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ต่อไป

ย้อนที่มานโยบายกัญชาเสรี-ทางการแพทย์

นโยบายกัญชาเสรี-กัญชาทางการแพทย์ เป็นนโยบายหาเสียงของพรรคภูมิใจไทยตั้งแต่ปี 2562 โดยก่อนประกาศแคมเปญดังกล่าว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ฝ่ายนิติบัญญัติในยุครัฐบาล คสช. ได้มีมติผ่านร่าง พ.รงบ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. …. สาระสำคัญในครั้งนั้นคือ ปลดล็อกให้กัญชาและกระท่อมออกจากการเป็นยาเสพติดประเภท 5 สามารถนำไปใช้ทางการแพทย์ได้

พรรคภูมิใจไทย จึงผุดนโยบาย “กัญชาเสรี” มาเป็นแคมเปญใหญ่ในการหาเสียงเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ชูให้บรรดา “โหวตเตอร์” เห็นภาพว่า “กัญชา” คือ “พืชแก้จนของคนไทย” สร้างเศรษฐกิจนับแสนล้านบาท

17 มกราคม 2562 พรรคภูมิใจไทย เปิดตัวนโยบายดังกล่าวอย่างเป็นทางการ หยิบโมเดลกัญชาเสรีของ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา มาเป็น “ต้นแบบ” พร้อมกับส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกกัญชาได้บ้านละ 6 ต้น

3 กุมภาพันธ์ 2562 อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ประกาศผ่านเฟซบุ๊กว่า

“ประเทศไทย เป็นแหล่งผลิตกัญชาที่มีคุณภาพดีที่สุดแหล่งหนึ่งของโลก กัญชาไทยให้สารที่นำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ดีที่สุด แต่รัฐบาลไทยกลับปิดกั้นโอกาสของคนไทย ถ้าประชาชนให้โอกาส พรรคภูมิใจไทยจะเข้าไปลดอำนาจรัฐ และทลายทุกข้อจำกัดที่ปิดกั้นประชาชน เกษตรกรเข้าถึงความร่ำรวย ให้ได้เร็วที่สุด กัญชาไทย ต้องปลูกได้เสรี นี่ไม่ใช่นโยบายเพ้อฝัน ขายฝัน แต่เป็นนโยบายที่จะทำให้คนไทยร่ำรวยขึ้นได้จริง แค่เปลี่ยนวิธีคิด ชีวิตก็เปลี่ยนไป ใครไม่ทำ ภูมิใจไทยทำ และทำทันที”

และแล้ว นโยบายกัญชาเสรีก็พาให้พรรคภูมิใจไทย มีที่นั่งในสภา 51 ที่นั่ง นำมาสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ของ “เสี่ยหนู” อนุทิน หัวหน้าพรรค ที่ผลักดันให้เป็น “กัญชาเพื่อการแพทย์”

หลังเข้าร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พรรคภูมิใจไทย เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายกัญชาทันที โดยเสนอร่างกฎหมาย 2 ฉบับ ร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติสถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทย พ.ศ. ….

แต่ระหว่างทางของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เกิดเรื่องมากมายเข้ามาแทรกกลาง โดยเฉพาะการระบาดของโควิด-19 ทำให้การขับเคลื่อนวาระการเมืองต่าง ๆ ต้องชะลอไปกว่า 2 ปี

กระทั่งเข้าสู่ปีสุดท้ายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ทุกอย่างจึงต้อง “เร่งสปีด” นโยบายกัญชา ของพรรคภูมิใจไทยคือหนึ่งในนั้น

8 กุมภาพันธ์ 2565 กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษ ประเภท 5 พ.ศ. 2563 ฉบับลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 โดยถอดกัญชาและกัญชงออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในวันรุ่งขึ้น (9 กุมภาพันธ์ 2565)

พร้อมกับให้มีผลบังคับใช้เมื่อพ้น 120 วัน ตรงกับวันที่ คือ 9 มิถุนายน 2565 ซึ่งจะทำให้ เฉพาะตัวสารสกัดจากกัญชาและกัญชง (พืชสกุล Cannabis) ยังคงเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตาม ป.ยาเสพติดเท่านั้น

ทว่า ก่อนหน้าที่ประกาศกระทรวงดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้เพียง 1 วัน วันที่ 8 มิถุนายน 2565 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรก็เห็นชอบในวาระ “รับหลักการ” ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. …. ที่จะออกมาเป็น “ร่มใหญ่” ในการบังคับใช้เรื่องกัญชา และกัญชง อย่างท่วมท้น 373 ต่อ 7 เสียง

ภายหลังการปลดล็อก กัญชาและกัญชง เกิดกระแสต่อต้านจากสังคมทุกทิศทาง การขายกัญชามีมากขึ้นทุกแห่งหน แต่การควบคุมต่าง ๆ ถูกมองว่าหละหลวม กระทั่งเกิดเสียงเรียกร้องให้นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดอีกครั้ง

เอฟเฟ็กต์จากภาคสังคม ดังถึงในสภาผู้แทนราษฎร 14 กันยายน 2565 เมื่อ ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง เข้าสู่วาระที่ 2 เหตุการณ์กลับพลิกผันฉับพลัน เมื่อพรรคเพื่อไทย แท็กทีมกับพรรคประชาธิปัตย์ กดดันให้สภาถอนร่างออกไปพิจารณาใหม่ หนึ่งในปัจจัยที่ถูกคัดค้านคือ

มีการปรับปรุงแก้ไขทั้งร่าง จากเดิมก่อนรับหลักการมี 45 มาตรา เพิ่มเป็น 95 มาตราในชั้นกรรมาธิการ พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ กังวลว่าสภาจะพิจารณาไม่รอบคอบ จึงต้องให้กรรมาธิการถอนเรื่องดังกล่าวออกไป “ทบทวน”

ที่สุดแล้วที่ประชุมสภามีมติให้ ถอนออกจากระเบียบวาระการประชุม ด้วยเสียง 347 เห็นด้วย 198 ต่อ 136 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง แล้วให้กรรมาธิการ ซึ่งมี “ศุภชัย ใจสมุทร” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย เป็นประธานกรรมาธิการ ไปพิจารณาใหม่อีกรอบ

อย่างไรก็ตาม เมื่อสภาปิดเทอมไป 1 เดือน คณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. …. ที่ “ศุภชัย ใจสมุทร” เป็นประธาน ได้ยืนยันร่างกฎหมาย กลับเข้าสู่วาระ 2 อีกครั้ง โดยไม่มีการปรับแก้แม้แต่มาตราเดียว แม้จะสภาจะลงมติให้ถอนร่างกลับมาพิจารณาใหม่

เกมขัดขากัญชา-สภาล่ม

แม้ว่ามีเสียงคัดค้านจากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง แต่พรรคภูมิใจไทยยังเดินหน้า ถึงขั้น เรื่องดังกล่าวถูกหยิบยกมาถกเถียงกันในที่ประชุม ครม. เมื่อ 15 พฤศจิกายน 2565

ภายหลังที่ กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) ที่ประกาศเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2565 เนื่องจากเห็นว่าแม้ประกาศดังกล่าวไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม ครม. ทั้งที่ เป็นเรื่องสำคัญ

โดยความสำคัญของประกาศดังกล่าว อาทิ ให้กัญชาเฉพาะส่วนของช่อดอกเป็นสมุนไพรควบคุม ห้ามจำหน่ายให้กับสตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร-ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี-ห้ามจำหน่ายให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา-ห้ามสูบในสถานที่ประกอบการ

ในวันนั้นที่ประชุม ครม.รุมซักอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ อย่างหนัก กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ ต้องตัดบท ให้ “อนุทิน” กลับมาชี้แจง เพราะเวลานั้น “อนุทิน” ติดภารกิจที่ประเทศญี่ปุ่น

นอกจากในที่ประชุม ครม. วาระกฎหมายกัญชา ยังร้อนฉ่า พรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมฝ่ายค้าน ร่วมมือกับ ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ กรรมการแพทยสภา และนายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย ได้ยื่นต่อศาลปกครองให้สั่งเพิกถอนประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษ ประเภท 5 พ.ศ. 2563 ฉบับลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565

โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่มีการออกประกาศฉบับดังกล่าว และให้กัญชาจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ลงวันที่ 8 ธ.ค. 2563 เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 พ.ศ. 2563 ดังเดิม เบื้องต้น ศาลปกครองรับคำร้องไว้พิจารณา เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน เมื่อร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง เข้าสู่วาระการประชุมสภา เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 กว่าจะผ่านได้แต่ละมาตราก็กระอักเลือด เพราะนอกจากพรรคประชาธิปัตย์-พรรคเพื่อไทย พรรคฝ่ายค้าน แสดงความเป็นปฏิปักษ์ กับร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง แล้ว ยังมี พรรคพลังประชารัฐ จำนวนใหญ่ ที่ต้องการขวางกฎหมายสำคัญของพรรคภูมิใจไทย

ดังนั้น กว่าจะผ่านแต่ละมาตรานอกจากใช้เวลายาวนาน ที่สำคัญบางครั้งการประชุมก็ล่มลงกลางคัน เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ ! กระทั่งวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้านต้องหารือกัน เลื่อนกฎหมายสำคัญ ๆ ฉบับอื่นขึ้นมาพิจารณาก่อน แล้วร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ค่อยว่ากันใหม่ในเดือนมกราคม 2566

แต่เมื่อถึงเดือนมกราคม 2566 ร่างกฎหมายกัญชา กัญชง ส่อแววแท้งก่อนคลอดเสียแล้ว มีสิทธิที่จะพิจารณาไม่ทันในวาระรัฐบาลประยุทธ์ 4 ปี