
สศช. ชี้ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ยังขาดข้อกำหนด “การระบุตัวตนของผู้ซื้อและผู้ขาย-เพดานปริมาณกัญชาที่สามารถซื้อขายหรือถือครองได้-แนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนของการปลูกกัญชาเพื่อใช้ในครัวเรือน” ดึงตัวอย่างต่างประเทศ “แคนาดา-สหรัฐ” เสนอแก้ 6 ปมสำคัญ เพื่อสร้างประโยชน์ทาง “เศรษฐกิจ-การแพทย์” อย่างแท้จริง
วันที่ 18 ธันวาคม 2565 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวในการแถลงข่าว รายงานภาวะสังคมไทย ไตรมาสที่ 3/2565 เมื่อเร็ว ๆนี้ ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียที่สามารถใช้กัญชาและกัญชงได้อย่างถูกกฎหมาย โดยกัญชาก็มีประโยชน์ทั้งด้านการแพทย์ และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ แต่จะทำอย่างไรในการควบคุมเพื่อไม่ให้เกิดการใช้งานแบบไม่พึงประสงค์ได้
- อนุทินเปิดตัวภรรยาคนที่ 3 หลังหย่าแจก 50 ล้าน จ่ายเงินสดรายเดือนตลอดชีพ
- กูรูตลาดทุน วิเคราะห์วิสัยทัศน์ตัวเต็ง รมว.คลัง “ไม่แย่ แต่ ไม่ใช่”
- วันหยุดเดือนมิถุนายน 2566 เช็กวันหยุดราชการ วันหยุดชดเชย วันสำคัญ
ซึ่งหากดูตัวอย่างในต่างประเทศ มาตรการควบคุมการใช้กัญชาของประเทศแคนาดาและสหรัฐอเมริกา ในรัฐโคโลราโดและรัฐวอชิงตัน ที่ทำให้อาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับกัญชาและจำนวนเยาวชนที่ใช้กัญชาลดลง พบว่า
- การผลิต มีการกำหนดให้ต้องจดทะเบียนก่อนดำเนินการ และมีการจำกัดพื้นที่/จำนวนต้นที่สามารถปลูกได้รวมถึงมีการกำหนดคุณลักษณะของพื้นที่เพาะปลูก
- การซื้อขายและการครอบครอง มีการกำหนดคุณสมบัติของทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย โดยจะต้องลงทะเบียนก่อน อีกทั้งยังมีการคัดกรองโดยใช้ใบสั่งจากบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับอนุญาต
- การคุ้มครองผู้บริโภคได้มีการกำหนดอายุขั้นต่ำและคุณสมบัติของผู้ใช้กัญชา รวมถึงมีข้อแนะนำในการสั่งจ่ายกัญชา และมีบทลงโทษ หากมีการจำหน่ายหรือใช้กัญชาอย่างผิดกฎหมาย
“ในส่วนของประเทศไทยเอง ก็น่าจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องพวกนี้ ตั้งแต่เรื่องของการควบคุมการผลิต การเพาะปลูก โดยเฉพาะเรื่องของการกำหนดปริมาณ กำหนดรูปแบบ สถานที่ปลูก โดยเฉพาะการกำกับป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดการรั่วไหลออกข้างนอก การซื้อขายและครอบครองก็ต้องมีความชัดเจน มีระบบในการลงทะเบียน แล้วก็อาจจะต้องมีการกำหนดเพดานในการซื้อขาย รูปแบบของผลิตภัณฑ์ก็เช่นกัน” นายดนุชากล่าว
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. …. ของประเทศไทย พบว่ามีข้อกำหนดเกี่ยวกับการผลิตและการเพาะปลูก การซื้อขาย และการคุ้มครองบุคคลที่อาจได้รับอันตรายจากการบริโภคกัญชาและกัญชง แต่ยังไม่มีข้อกำหนดบางประการ อาทิ การระบุตัวตนของผู้ซื้อและผู้ขาย เพดานปริมาณกัญชาที่สามารถซื้อขายหรือถือครองได้แนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนของการปลูกกัญชาเพื่อใช้ในครัวเรือน
ดังนั้น เพื่อให้นโยบายการเปิดเสรีกัญชาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับประเด็นดังต่อไปนี้
- การควบคุมการผลิตและการเพาะปลูก โดยต้องกำหนดปริมาณที่สามารถผลิตหรือเพาะปลูกในครัวเรือนให้มีความเหมาะสมรวมทั้งมีมาตรฐานของโรงเรือนหรือพื้นที่เพาะปลูก เพื่อป้องกันผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าถึงกัญชา
- การควบคุมการซื้อขายและการครอบครอง ซึ่งควรกำหนดให้มีการลงทะเบียนร้านค้าหรือร้านขายยา ผู้จำหน่าย และผู้ใช้กัญชา และกำหนดเพดานปริมาณกัญชาที่สามารถซื้อขายหรือถือครองได้รวมถึงมีข้อกำหนดด้านการส่งเสริมการตลาดของผลิตภัณฑ์กัญชา และอาจพิจารณาให้ต้องใช้ใบสั่งยาจากแพทย์ที่มีใบอนุญาตในการซื้อกัญชา เพื่อจำกัดการซื้อขายกัญชาให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และป้องกันการใช้อย่างไม่เหมาะสม
- การกำหนดรูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบ ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับรูปแบบของบรรจุภัณฑ์และความเข้มข้นของกัญชาร่วมด้วย รวมถึงควรกำหนดให้มีการแสดงฉลากและวิธีการใช้ที่ถูกต้องอย่างชัดเจน
- การป้องกันการเข้าถึงของเด็กและการคุ้มครองผู้บริโภคกลุ่มอื่น ๆ โดยการกำหนดอายุขั้นต่ำและอาจพิจารณาจัดทำคู่มือการใช้กัญชาทางการแพทย์หรือกำหนดอาการ/กลุ่มโรคที่เข้าข่าย หรือคุณสมบัติของผู้ป่วย ที่สามารถใช้กัญชาได้
- การส่งเสริมและสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้กัญชาที่ถูกวิธีซึ่งควรเร่งดำเนินการตั้งแต่ก่อนอนุญาตให้สามารถใช้กัญชาทางการแพทย์ได้อย่างถูกกฎหมายเพื่อป้องกันการใช้กัญชาอย่างไม่ถูกต้อง
- การบังคับใช้กฎหมายและการติดตามตรวจสอบโดยจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการมีกลไกและระบบติดตามตรวจสอบที่ดีจะสามารถช่วยลดผลกระทบเชิงลบในด้านต่าง ๆ ที่อาจตามมาได้