เปิดร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ทำอะไรได้-ไม่ได้ มีบทลงโทษอย่างไร

กัญชา กัญชง
PHOTO : Kindel Media

เปิดร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ผ่านสภา วาระที่ 1 ก่อนปลดล็อกประชาชนปลูกได้เอง เริ่ม 9 มิ.ย.2565 แต่ยังไม่เสรี 100% ผู้ฝ่าฝืนข้อกำหนด มีบทลงโทษอย่างไรบ้าง

เพียง 1 วันก่อนที่ กัญชา กัญชง จะได้รับอนุญาตให้ประชาชนทั่วไปสามารถปลูกใช้ในครัวเรือน โดยไม่ต้องขออนุญาต ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร (8 มิ.ย.2565) ก็ได้เร่งพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. …. ในวาระที่ 1 ที่เสนอโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยและคณะ

โดยที่ประชุมรับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. …. ด้วยมติ เห็นชอบ 373 ต่อ 7 เสียง งดออกเสียง 23 จากผู้ลงมติ 400 คน หลังมีการอภิปรายนานกว่า 5 ชั่วโมง

เหตุจำเป็น เสนอ ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง

ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ดังกล่าว ระบุเหตุผลและความจำเป็นในการเสนอร่าง พ.ร.บ. ว่า ประมวลกฎหมายยาเสพติดไม่ได้กําหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษ ซึ่งเปิดโอกาสให้มี การนํากัญชา กัญชงมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ การวิจัย และนํามาใช้ในอุตสาหกรรมอื่น

แต่ก็ยังมีข้อจํากัดบางประการที่ส่งผลกระทบต่อโอกาสในการนําไปใช้ในการดูแลสุขภาพ การป้องกัน บําบัดโรค รักษาผู้ป่วย การศึกษาวิจัยหรือการพัฒนานวัตกรรม

ฉะนั้น เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิในการดูแลสุขภาพของตน และส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากกัญชา กัญชง ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งในด้านการพัฒนาภูมิปัญญาด้านการแพทย์แผนไทย ตลอดจนองค์ความรู้ทางการแพทย์แผนปัจจุบัน และอุตสาหกรรมอื่น ๆ

จึงควรสนับสนุนการนํากัญชา กัญชง มาใช้ ในการศึกษาวิจัย การใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ สุขภาพ การใช้ตามวิถีชีวิตชุมชน ตลอดจนเปิดโอกาสให้มีการ ผลิต ขาย นําเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และเศรษฐกิจของประเทศ และเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคมิให้มีการบริโภคกัญชา กัญชงอย่างไม่เหมาะสม

ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค สมควรกําหนดมาตรการกํากับดูแล ควบคุมการขาย การโฆษณาและการบริโภคกัญชา กัญชง เพื่อคุ้มครองสุขภาพ ของบุคคล จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ แบ่งออกเป็น 11 หมวด จำนวน 45 มาตรา “ประชาชาติธุรกิจ” สรุปสาระสำคัญมาให้ดังนี้

ตั้งคณะกรรมการฯ ควบคุมแนวทางการใช้กัญชา กัญชง

ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ฉบับนี้ กำหนดให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการมีอำนาจประกาศกำหนดเกี่ยวกับกัญชา กัญชง และให้มี “คณะกรรมการกัญชา กัญชง” ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานกรรมการ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เป็นกรรมการและเลขานุการ

คณะกรรมการกัญชา กัญชง มีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดนโยบายและมาตรการส่งเสริม วิจัย พัฒนา และการใช้กัญชา กัญชง ทั้งในด้านการแพทย์ อุตสาหกรรม ให้ความเห็น คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะต่อรัฐมนตรี หรือผู้อนุญาตในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

ผลิต นำเข้า ส่งออก ต้องได้รับอนุญาต

ผู้ที่ต้องการผลิต นำเข้า ส่งออก จะต้องได้รับอนุญาตก่อนดำเนินการ ขณะที่ผู้ที่ต้องการเพาะ ปลูก ต้องทำการจดแจ้งต่อผู้รับจดแจ้ง และต้องได้รอให้ได้รับใบจดแจ้ง จึงจะสามารถดำเนินการได้เช่นกัน

สำหรับการดำเนินทุกอย่างข้างต้น จะต้องเสียอัตราค่าธรรมเนียมการจดแจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดังนี้

  • ใบอนุญาตผลิต (ปลูก) : ฉบับละ 50,000 บาท
  • ใบอนุญาตผลิต (สกัด) : ฉบับละ 50,000 บาท
  • ใบอนุญาตนำเข้า : ฉบับละ 100,000 บาท
  • ใบอนุญาตส่งออก : ฉบับละ 10,000 บาท
  • ใบอนุญาตนำเข้า ส่งออกเฉพาะคราว : ฉบับละ 20,000 บาท
  • ใบอนุญาตจำหน่าย : ฉบับละ 5,000 บาท
  • การต่ออยุใบอนุญาตเท่ากับกึ่งหนึ่งของค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตนั้น
  • ค่าคำขออนุญาตหรือคำขออื่น ๆ : คำขอละ 7,000 บาท
  • ค่าขึ้นบัญชีที่จะจัดเก็บจากผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐหรือองค์กรเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ : รายละ 100,000 บาท
  • ค่าตรวจสถานประกอบการ : ครั้งละ 50,000 บาท

หากผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ปลูก ผลิต นำเข้า ส่งออก กัญชาและกัญชง ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะถูกว่ากล่าวตักเตือน หรืออาจถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต หรือเพิกถอนใบอนุญาตแล้วแต่กรณี และในระหว่างถูกพักใช้ใบอนุญาตจะไม่สามารถขอรับใบอนุญาตใด ๆ ได้อีก

ส่วนผู้จดแจ้งที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ หรือกฎกระทรวงหรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติ ให้ผู้รับจดแจ้งตักเตือน สั่งให้ทำลาย หรือเพิกถอนใบรับจดแจ้งได้ตามเห็นสมควรแก่กรณี

มีสิทธิอุทธรณ์ภายใน 30 วัน

กรณีที่ผู้อนุญาตหรือผู้รับจดแจ้งไม่ออกใบอนุญาตหรือใบจดแจ้งให้ ผู้ขออนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อ รัฐมนตรีภายใน 30 วัน

ส่วนกรณีที่ได้ถูกสั่งพักใช้ เพิกถอนใบอนุญาตหรือใบรับจดแจ้ง ผู้ขออนุญาตมีสิทธอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรี ภายใน 30 วัน ด้วยเช่นกัน แต่ต้องขึ้นอยู่แต่ละกรณี

ห้ามโฆษณา ยกเว้นได้รับอนุญาต

สำหรับผู้ที่ต้องการโฆษณากัญชา กัญชง จะต้องได้รับอนุญาตก่อนดำเนินการ หากฝ่าฝืน ให้ผู้อนุญาตมีคำสั่งดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น แก้ไขข้อความ ห้ามใช้ข้อความ ระงับการโฆษณา เป็นต้น

กัญชา กัญชง ห้ามขายให้ใครบ้าง

แม้จะได้รับอนุญาตให้ปลูก ผลิต นำเข้า ส่งออกแล้วก็ตาม แต่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังได้กำหนดเงื่อนไขว่า ห้ามขายเพื่อนำไปบริโภคให้แก่บุคคล ดังนี้

  • อายุต่ำกว่า 20 ปี
  • สตรีมีครรภ์
  • สตรีให้นมบุตร
  • บุคคลอื่น ๆ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดไว้

อีกทั้ง พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังคุ้มครองบุคคลซึ่งอาจได้รับอันตรายจากการบริโภคกัญชา กัญชง และป้องกันการใช้ในทางที่ผิดอีกด้วย

ผู้ฝ่าฝืน พ.ร.บ.กัญชา กัญชง มีโทษอะไรบ้าง

ทั้งนี้ หากผู้ใดฝ่าฝืน พ.ร.บ.กัญชา กัญชง โดยผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้อนุญาตทุกครั้ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้ใดที่นำเข้า ส่งออกในแต่ละครั้ง และไม่ได้รับอนุญาตเฉพาะคราวในแต่ละครั้ง ต้องระวางโทษปรับครั้งละไม่เกิน 5,000 บาท และผู้ใดฝ่าฝืนขายกัญชา กัญชง เพื่อการไปบริโภคให้กับบุคคลต้องห้าม ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท

อย่างไรก็ตาม การอภิปรายในที่ประชุมสภา ก่อนมีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ….. นายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้อภิปรายสรุปว่า ตนจะไปปรับปรุงกฎหมาย ปรับปรุงระเบียบให้เป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด

ดูร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง