อนุทินนั่งหัวโต๊ะบอร์ดกัญชา-กัญชง นัดแรก ดีเดย์ 9 มิ.ย.

อนุทิน นั่งหัวโต๊ะ ประชุมบอร์ดกัญชา-กัญชงนัดแรก ดีเดย์ ปลดล็อกจากบัญชียาเสพติด 9 มิ.ย. ผลักดันเป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือกของประเทศ

วันที่ 8 มิถุนายน 2565  น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (9 มิ.ย.) เวลา 10.00 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพืชกัญชาและกัญชง ครั้งที่ 1/2565 ซึ่งเป็นการประชุมนัดแรกภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ลงนามในคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 120/2565 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพืชกัญชาและกัญชง  เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ในการประชุมนัดแรกนี้จะมีการรายงานถึงสถานการณ์กัญชา กัญชงในมิติต่างๆ ตลอดจนการพิจารณากำหนดแนวทางการทำงานของคณะกรรมการ เพื่อดูแลสถานการณ์ในช่วงการเปลี่ยนผ่านนโยบายเป็นไปด้วยความเรียบร้อย   ซึ่งจะถือเป็นการเริ่มต้นนับหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงพืชกัญชาและกัญชง จากที่เคยเป็นยาเสพติด ให้ไปสู่การเป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือกใหม่ของประเทศอย่างแท้จริง

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า เนื่องด้วยประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 ได้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2565 ทำให้ทุกส่วนของพืชกัญชา กัญชง ไม่เป็นยาเสพติด ยกเว้นสารสกัดซึ่งมีสาร THC เกิน 0.2% โดยน้ำหนักที่ยังเป็นยาเสพติด รัฐบาลจึงเห็นว่าจำเป็นต้องมีคณะกรรมการที่จะเป็นกลไกการดำเนินการดูแลในด้านต่าง ๆ อย่างรัดกุมเพื่อไม่ให้การใช้กัญชา กัญชง เกิดผลกระทบทางสังคม

ทั้งนี้ องค์ประกอบของคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพืชกัญชาและกัญชง ประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธาน  รมว.ยุติธรรม เป็นรองประธานคนที่ 1 รมว.สาธารณสุข รองประธานคนที่ 2 ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคประชาสังคมและประชาชน เป็นกรรมการ

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ในส่วนอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการ อาทิ เสนอแนะนโยบายและมาตรการส่งเสริมการศึกษา วิจัย และพัฒนาการใช้พืชกัญชาและกัญชงทางการแพทย์ อุตสาหกรรม และประโยชน์อื่น ๆ  กำหนดมาตรการ แนวทางปฏิบัติเพื่อขับเคลื่อนนโยบายพืชกัญชาและกัญชง ติดตามและประเมินสถานการณ์ผลกระทบที่เกิดขึ้น ทบทวนเสนอแนะและจัดทำมาตรการคุ้มครองส่วนบุคคคลที่อาจได้รับอันตรายจาการใช้หรือบริโภคกัญชาและกัญชง ป้องกันการใช้ในทางที่ผิด

“รวมถึงการโฆษณาในทางการค้าเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการปลูก การใช้ในทางที่เหมาะสม ตระหนักรู้ถึงผลร้ายของการใช้ในทางที่ผิด รวมถึงชี้แจงกับนานาประเทศ องค์กร หรือหน่วยงานระหว่างประเทศเกี่ยวกับนโยบายของประเทศไทย ประสานงานติดตามความคืบหน้าร่างกฎหมายว่าด้วยกัญชา กัญชง ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภาในขั้นตอนต่าง ๆ” น.ส.ไตรศุลีทิ้งท้าย