ควันบุหรี่ กัญชา กัญชง เป็นเหตุรำคาญ อันตรายแค่ไหน ผู้เสพได้รับโทษอย่างไร

ควันบุหรี่ กัญชา กัญชง เป็นเหตุรำคาญ อันตรายแค่ไหน ผู้เสพได้รับโทษอย่างไร

แม้ว่าพืชกัญชา กัญชง จะถูกปลดล็อกให้สามารถผลิต นำเข้า จำหน่าย เสพ หรือมีไว้ในครอบครองได้อย่างถูกกฎหมาย เช่นเดียวกับ “บุหรี่” ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป แต่ยังต้องมีแนวทางการควบคุมการใช้เพื่อป้องกันการนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม เพราะการปลดล็อกครั้งนี้เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ภายในครัวเรือนเท่านั้น ยังไม่ได้เปิดใช้อย่าง “เสรี” ในพื้นที่สาธารณะ

ดังเช่น กรมอนามัยได้ออกประกาศให้กลิ่นและควันจากกัญชา กัญชงเป็นเหตุรำคาญ ตามอำนาจ พ.ร.บ.การสาธารณสุข ซึ่งหากพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นผู้ใดหรือกลุ่มบุคคลใด กำลังสูบอยู่ สามารถให้หยุดสูบได้ทันที แต่ทั้งนี้ข้อบังคับใช้กัญชา กัญชง ขณะนี้อาจยังไม่ชัดเจนเทียบเท่าบุหรี่ ที่มีการกำหนดสถานที่หรือพื้นที่ปลอดบุหรี่ไว้อย่างชัดเจนว่ามีที่ใดบ้าง

“ประชาชาติธุรกิจ” เปรียบเทียบข้อกฎหมายที่ระบุถึง บุหรี่ กัญชา กัญชง ว่าเป็นเหตุรำคาญนั้น มีข้อบังคับใช้และบทลงโทษเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

ควันกัญชา กัญชง เป็นเหตุรำคาญ !

กรมอนามัย ได้ออกประกาศให้กลิ่นและควันจากกัญชา กัญชง เป็นเหตุรำคาญ ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 เนื่องจากการสูบกัญชา กัญชง จะสร้างกลิ่น สิ่งมีพิษ ฝุ่น ละออง หรือสิ่งอื่นใดที่ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้ที่ได้กลิ่นหรือได้สูดควันเข้าไปในร่างกาย

การกระทำดังกล่าว ถือเป็นการรบกวนสิทธิผู้อื่น ผู้ฝ่าฝืนจะได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 25,000 บาท

ควันบุหรี่ เป็นเหตุรำคาญหรือไม่ ?

อย่างไรก็ตาม การสูบกัญชาในที่สาธารณะก็ยังไม่มีกฎหมายควบคุมโดยตรงเหมือนบุหรี่ ที่มี พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 กำหนดประเภทของสถานที่ที่เป็นเขตปลอดบุหรี่ หรือเขตสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ไว้อย่างชัดเจน

ผู้ที่ฝ่าฝืนสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ จะมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท และหากเจ้าของที่ไม่ควบคุม หรือห้ามปราม จะมีโทษปรับไม่เกิน 3,000 บาท

ควันบุหรี่ ควันกัญชา อันตรายแค่ไหน

เมื่อทราบกันแล้วว่า ทั้งควันกัญชา กัญชง และบุหรี่ ถือเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดอันตรายกับผู้ที่ไม่ได้สูบ แต่ได้สูดดมควันเข้าไปในร่างกาย แล้วควันจากสิ่งเหล่านี้ มีความแตกต่างกันอย่างไรนั้น

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำเสนอบทความผ่านเว็บไซต์ Hfocus เจาะลึกระบบสุขภาพ เรื่อง ภัยสุขภาพจากควันกัญชามือสอง ในช่วงหนึ่งระบุว่า

ควันที่เกิดจากการสูบกัญชา มีการตรวจวัดสารเคมีได้กว่า 350 ชนิด ซึ่งรวมไปถึงสารเคมีที่ส่งผลต่อร่างกาย เช่น THC, CBD, CBN, คาร์บอนมอนน็อกไซด์, ไนตริก อ๊อกไซด์, ไฮโดรเจนไซยาไนด์, แอมโมเนีย, โลหะหนัก รวมไปถึงพวก Polycyclic aromatic hydrocarbons (PAH) และไอระเหยของสารประกอบอินทรีย์ต่าง ๆ

สารบางชนิดได้รับการพิสูจน์แล้วว่า พบในควันจากการสูบกัญชามากกว่าการสูบบุหรี่ เช่น แอมโมเนียจะตรวจพบในควันกัญชาสูงกว่าบุหรี่ถึง 20 เท่า ในขณะที่พวกไฮโดรเจนไซยาไนด์ ไนตริกอ๊อกไซด์ และพวก PAH จะตรวจพบสูงกว่าควันบุหรี่ราว 2-5 เท่า

นอกจากนี้สารเคมีที่พบจากควันกัญชาส่วนใหญ่จะเหมือนกับควันจากการสูบบุหรี่ และสารเคมีหลายชนิดก็จะเพิ่มอัตราความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ ได้ด้วยเช่นกัน