กัญชาเสรี…จริงหรือ ?

กัญชา
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : สมปอง แจ่มเกาะ

ตั้งแต่พรุ่งนี้ (9 มิ.ย.) เป็นต้นไป คนไทยก็จะสามารถปลูกกัญชาไว้ใช้ในครัวเรือนแล้ว

เป็นไปตามไทม์ไลน์ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 ที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล ลงนามเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา

เบื้องต้นกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะทยอยนำต้นพันธุ์ไปแจกให้ประชาชนเพื่อปลูกในครัวเรือนจำนวน 1 ล้านต้น

ย้ำครับว่า ผู้ที่ต้องการปลูกไม่ต้องขออนุญาต เพียงจดแจ้งผ่านแอปพลิเคชั่น “ปลูกกัญ” ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จัดทำขึ้นมา

ส่วนที่ว่าจากนี้ไปประชาชนจะนำกัญชามาทำหรือใช้ประโยชน์อะไรได้มากน้อยแค่ไหน จะเสรี 100% เลยหรือไม่ คงต้องรออีกสักระยะหนึ่ง เพราะตอนนี้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา-กัญชงที่พรรคภูมิใจไทยเสนอไว้ตั้งแต่ 26 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมายังไม่เข้าสู่วาระการพิจารณาของสภา ซึ่งคาดว่าอีกไม่นาน

ก่อนหน้านี้ท่านอาจารย์วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ก็ได้แจกแจงเรื่องกัญชาเสรีว่า “…เสรี แต่อยู่ที่ว่านำมาทำอะไร อย่างแรกคือ นำมาปลูกได้ แต่เมื่อเริ่มนำมาใช้อาจจะเป็นปัญหา เพราะถ้าเป็นใบไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นช่อหรือดอกไม่ได้ ถึงอย่างไรกระทรวงสาธารณสุขก็จะต้องควบคุม เพราะมีกฎหมายควบคุมช่อ-ดอกอยู่แล้ว จะนำไปผสมในหม้อก๋วยเตี๋ยวไม่ได้เด็ดขาด ถือเป็นความผิด”

จากคำอธิบายนี้พอจะสรุปได้ว่า กัญชายังไม่เสรี 100% เพราะยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกหลายฉบับที่เกี่ยวข้องและควบคุมอยู่

จะว่าไปแล้วกัญชาเพิ่งกลับมาอยู่ในกระแสของความสนใจเมื่อสักกว่า 2-3 ปีมานี้เอง หลังจาก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ที่ใช้บังคับเมื่อ 19 ก.พ. 2562 โดยในช่วง 5 ปีแรกจะอนุญาตให้ผลิต นำเข้า ส่งออกได้เฉพาะหน่วยงานรัฐ หรือหน่วยงานรัฐร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา วิสาหกิจชุมชน-วิสาหกิจเพื่อสังคม ซึ่งต้องขอรับใบอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหลัก ๆ ก็คือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

ระหว่างนั่งปิดต้นฉบับ (7 มิ.ย.) ผมคลิกเข้าไปอัพเดตจำนวนใบอนุญาตจากฐานข้อมูลกัญชาของ อย. พบว่าล่าสุดมีใบอนุญาตกัญชา 2,571 รายการ แบ่งเป็นใบอนุญาตครอบครอง 114 รายการ, นำเข้า 12 รายการ, ผลิต (ปลูก) 543 รายการ, ผลิต (ปรุง) 7 รายการ, ผลิต (แปรรูป/สกัด) 41 รายการ, จำหน่าย 1,850 รายการ และส่งออก 1 รายการ

เทียบกับเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2564 ที่มีใบอนุญาตเพียง 1,063 รายการ เป็นใบอนุญาตครอบครอง 160 รายการ, นำเข้า 8 รายการ, ผลิต (ปลูก) 138 รายการ, ผลิต (ปรุง) 5 รายการ, ผลิต (แปรรูป/สกัด) 33 รายการ

เป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการผลิต (ปลูก)

นอกจากนี้ จากข้อมูลที่ อย.รวบรวมไว้ เมื่อ 20 พ.ค. 2565 พบว่ามีใบอนุญาตผลิต (ปลูก) 540 รายการ รวมพื้นที่ขอปลูก 257,926 ตารางเมตร จำนวน 307,880 ต้น จังหวัดที่มีปลูกกัญชามากหลัก ๆ เช่น บุรีรัมย์ นครพนม นครราชสีมา สกลนคร หนองคาย เป็นต้น

ล่าสุดผมมีโอกาสคุยกับนักธุรกิจเจ้าของเครื่องดื่มรายหนึ่ง ที่นำใบกัญชามาเป็นส่วนผสม นักธุรกิจหนุ่มรายนี้เล่าให้ฟังว่า “…ขณะนี้ในวงการ (คนปลูก) เริ่มปั่นป่วนมาก หลังจากมีกระแสข่าวเรื่องกัญชาเสรีราคาใบตกลงมาก ตอนนี้ราคาตกลงมาเหลือเพียงกิโลกรัมละ 3,000-4,000 บาท จากช่วงแรก ๆ ที่ราคาสูง 14,000-15,000 บาท ตอนนั้นต้องวิ่งไปหาเขาก็เล่นตัวแต่วันนี้โทร.มาเสนอให้เลย ของมีพร้อมด้วย”

สอดคล้องกับผู้บริหารวิสาหกิจชุมชนในภาคอีสาน ที่ยอมรับในเรื่องนี้ว่า “…ราคาตกลงมาจริง เพราะตอนหลัง ๆ มานี้มีการปลูกมากขึ้น แต่ความต้องการน้อยลงจึงต้องพยายามไปจับกับอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและอาหารที่ยังพอไปได้”

นี่เป็นเพียงก้าวแรกของกัญชาเสรีเท่านั้น และนี่อาจจะเป็นกัญชาเสรีเอฟเฟ็กต์อย่างหนึ่งเท่านั้น

จากนี้ไปเมื่อประชาชนปลูกขึ้น ธุรกิจปลูกมากขึ้น จะเกิดอะไรขึ้นตามมา ต้องติดตามดูกันต่อไป

กัญชา…มิราเคิลออฟเฮิร์บ