สภาโหวตผ่านกฎหมายสุราก้าวหน้า ด้วยคะแนน 178 เสียง

รัฐสภาโหวตผ่านกฎหมายสุราก้าวหน้าด้วยคะแนน 178 เสียง เปิดทางรายย่อยต้มเหล้าเอง

วันที่ 8 มิถุนายน 2565 เวลา 17.30 น. ที่รัฐสภา การประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มีนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาคนที่ 1 เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ …) พ.ศ. … หรือร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า วาระ 1 รับหลักการที่นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล (ก.ก.) กับคณะเป็นผู้เสนอ โดยมีสาระสำคัญ คือ

เปิดให้รายย่อยสามารถผลิตและจำหน่ายสุรา โดยลดเงื่อนไขการขออนุญาตลงมา แต่ปรากฏว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอนำร่างดังกล่าวกลับไปทบทวนก่อนส่งกลับมาให้ที่ประชุมสภาพิจารณาในวันนี้

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทน ครมชี้แจงว่า เมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา ครม.พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่จำเป็นต้องแก้ไขร่างกฎหมายหลัก แต่สามารถแก้ไขในกฎหมายลำดับรอง หรือกฎกระทรวงที่ได้กำหนดควบคุมการผลิต กำลังการผลิต วัตถุดิบ ปริมาณ และอื่น ๆ ได้

ด้านนายเท่าพิภพกล่าวว่า ตนได้ไปชี้แจงสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับฟัง ก็คิดว่าจะสามารถเปลี่ยนใจรัฐบาลได้ อย่างไรก็ตาม ตนก็ยังไม่ได้รับคำตอบว่าทำไมคนตัวเล็กถึงทำเหล้า ทำเบียร์ขายไม่ได้ การตั้งคำถามว่าต้มเหล้าทำเบียร์แล้วใส่สารต่าง ๆ ผสมสารอันตรายต่อสุขภาพเข้าไปจะทำอย่างไรนั้น ตนยืนยันว่าการควบคุมคุณภาพยังคงเหมือนเดิม ร่างกฎหมายที่เสนอนั้นไม่ได้เข้าไปแก้ไขอะไร ดังนั้น การพูดในลักษณะนี้จึงถือเป็นการใส่ร้ายของราชการและนายทุนใหญ่

จากนั้นที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้อภิปราย โดยมี ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า อาทิ นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย (ภท.) นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อสมาชิกอภิปรายได้ระยะหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับมติของ ครม.ที่ไม่รับร่างฉบับนี้ ในขณะที่ยังมีผู้อภิปรายเหลืออยู่ 8 คน นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล เสนอญัตติขอปิดการอภิปราย เพราะเห็นว่าสมาชิกมีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่นายภราดรได้ลุกขึ้นขอให้นายณัฐพงษ์ยอมที่จะให้สมาชิกที่เหลือได้อภิปรายให้จบ เพราะทุกคนเตรียมตัวมาแล้ว

แต่นายณัฐพงษ์ได้ร้องต่อประธานว่าหากจะให้สมาชิกอภิปรายต่อ ประธานต้องให้สัญญาว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะได้ลงมติในวันนี้ เพราะกังวลจะถูกลากออกไปจนองค์ประชุมไม่ครบ แต่นายสุชาติชี้แจงว่าไม่สามารถให้สัญญาได้ เนื่องจากการโหวตขึ้นอยู่กับองค์ประชุม ทำให้นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรค พปชร. ในฐานะประธานวิปรัฐบาล เสนอญัตติขอเปิดอภิปรายต่อ ทำให้ที่ประชุมต้องลงมติว่าจะอภิปรายต่อหรือไม่ และเกิดข้อถกเถียงกันจนหาข้อสรุปไม่ได้ ในที่สุด นายสุชาติจึงขอให้วิปแต่ละพรรคไปหารือกัน และสั่งพักการประชุมเป็นเวลา 10 นาที

ต่อมาเวลา 19.11 น. ได้กลับมาประชุมอีกครั้ง โดยนายณัฐพงษ์ขอให้นายสุชาตินั่งเป็นประธานจนจบ ไม่ปิดประชุมก่อน ถ้านายสุชาติยืนยันตนยินดีถอนญัตติ ด้านนายสุชาติกล่าวตอบว่า “ท่านกลัวกิตติศัพท์ผมที่ปิดประชุม หรือผมทำหน้าที่จนจบ ไม่ต้องห่วง”

นายวรพจน์ ด้วงพิบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมายภาษีสรรพสามิตชี้แจงว่า สิ่งที่สมาชิกได้อภิปรายล้วนแล้วแต่เป็นหลักเกณฑ์ในการอนุญาตขอผลิต ไม่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรมฯได้ปรับปรุงกฎกระทรวง ซึ่งแน่นอนว่าจะยกเลิกทุนจดทะเบียน ละทบทวนกำลังการผลิตให้เหมาะสมกับการควบคุม โดยจะใช้เวลาในการปรับปรุงภายใน 3 เดือน และจะเสนอต่อรัฐมนตรีเพื่อให้บังคับใช้โดยเร็ว

จากนั้นนายสุชาติได้ให้สมาชิกอภิปรายจนจบ และในเวลา 20.17 น.ที่ประชุมลงมติรับหลักการด้วยคะแนน 178 ไม่รับหลักการ 137 งดออกเสียง 15 เสียง และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 25 คน แบ่งเป็น ครม. 5 คน และพรรคการเมือง 20 คน โดยให้ กมธ.แปรญัตติภายใน 7 วัน

ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า สำหรับผลการลงมติร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ของพรรคก้าวไกล ที่มีทั้งฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาลร่วมสนับสนุนนั้น เมื่อตรวจสอบผลการลงมติเป็นรายพรรค พบว่า พรรคเพื่อไทยลงมติเห็นชอบทั้งสิ้น 73 เสียง ไม่เห็นด้วย 2 เสียง คือ นายจักรพรรดิ ไชยสาส์น ส.ส.อุดรธานี นายนจาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ ส.ส.ศรีสะเกษ 57 คน ที่หายตัวไป ไม่มีผลการลงมติ

  • พรรคก้าวไกล ในฐานะเจ้าของร่าง มีโหวตเห็นด้วย 48 เสียง ไม่เห็นด้วย 2 เสียง คือ นายเกษมสันต์ มีทิพย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ นายพีรเดช คำสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ
  • พรรคเสรีรวมไทย เห็นด้วย 1 เสียง ไม่มีผลการลงมติ 9 คน
  • พรรคประชาชาติ ไม่เห็นด้วย 4 เสียง ไม่มีผลการลงมติ 3 คน
  • พรรคเพื่อชาติ โหวตเห็นด้วย 4 เสียง ไม่มีผลการลงมติ 2 คน
  • พรรคพลังปวงชนไทย โหวตเห็นด้วย 1 เสียง
  • พรรคพลังประชารัฐ โหวตสนับสนุน 2 เสียง คือ นายเชิงชาย ชาลีรินทร์ ส.ส.ชัยภูมิ นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ ส่วนเสียงไม่เห็นด้วย 64 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง ไม่ปรากฏผลการลงมติ 28 คน
  • พรรคภูมิใจไทย โหวตเห็นด้วย 8 เสียง ไม่เห็นด้วย 43 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง และไม่มีผลการลงมติ 8 คน
  • พรรคประชาธิปัตย์ โหวตเห็นด้วย 23 เสียง ไม่เห็นด้วย 11 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ไม่มีผลการลงมติ 16 คน
  • พรรคเศรษฐกิจไทย กดปุ่มเห็นด้วย 15 เสียง ไม่มีผลการลงมติ 1 คน
  • พรรคชาติไทยพัฒนา ไม่เห็นด้วย 9 เสียง ไม่มีผลการลงมติ 3 คน
  • พรรคเศรษฐกิจใหม่ โหวตไม่เห็นด้วย 2 เสียง ไม่มีผลการลงมติ 4 คน
  • พรรคพลังท้องถิ่นไทย โหวตเห็นด้วย 2 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง ไม่มีผลการลงคะแนน 2 คน
  • พรรครวมพลังประชาชาติไทย งดออกเสียง 5 เสียง
  • พรรคชาติไทยพัฒนา งดออกเสียง 1 ไม่มีผลการลงคะแนน 3 คน
  • พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย ไม่มีผลการลงคะแนน 2 คน
  • พรรคครูไทยเพื่อประชาชน ไม่มีผลการลงคะแนน 1 คน
  • พรรคไทยศรีวิไลย์ ไม่มีผลการลงคะแนน 1 คน
  • พรรคไทยรักธรรม ไม่มีผลการลงคะแนน 1 คน
  • พรรคประชาธิปไตยใหม่ ไม่มีผลการลงคะแนน 1 คน
  • พรรประชาภิวัฒน์ ไม่เห็นด้วย 1 เสียง
  • พรรคพลเมืองไทย ไม่มีผลการลงคะแนน 1 คน
  • พรรคพลังชาติไทย ไม่มีผลการลงคะแนน 1 คน
  • พรรคพลังธรรมใหม่ ไม่มีผลการลงคะแนน 1 คน
  • พรรคเพื่อชาติไทย ไม่มีผลการลงคะแนน 1 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ ส.ส.ที่ไม่มีผลลงคะแนน เกิดจาก 2 กรณี คือ กลับบ้านไปก่อนที่จะมีการลงมติ และ อยู่ในห้องประชุมแต่ไม่แสดงตัว และไม่ลงมติใด ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็น ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และบางส่วนของฝ่ายค้าน เช่น พรรคเพื่อไทย