เต็ดตรา แพ้ค เผย 4 เทรนด์สำคัญ ต่ออุตสาหกรรมอาหาร-เครื่องดื่ม

เต็ดตรา แพ้ค เผย 4 เทรนด์ สำคัญต่ออุตสาหกรรมอาหาร-เครื่องดื่ม
นายสุภนัฐ รัตนทิพ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด

เต็ดตรา แพ้ค เผย เทรนด์ดิพีเดีย ประจำปี 2566 เน้นย้ำ 4 เทรนด์ หลักสำคัญต่ออุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม

วันที่ 21 มีนาคม 2566 นายสุภนัฐ รัตนทิพ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปี 2566 นี้เป็นปีที่มีสถานการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งล้วนส่งผลต่อพฤติกรรมโดยรวมของผู้บริโภคทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น สถานการณ์ความตึงเครียดทางภูมิศาสตร์ ที่ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบอาหารเพิ่มสูงขึ้น ความตระหนักและให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลให้มีการค้นหาออนไลน์ของสินค้าที่ส่งเสริมความยั่งยืนเพิ่มสูงขึ้นถึง 71% ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา

รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีอย่างก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะในแง่ของสุขภาพ ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ ส่งผลให้ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสิ่งที่เลือกซื้อมากขึ้น โดยคำนึงถึงความคุ้มค่า คุ้มราคา และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ผู้บริโภคยังเริ่มหันไปเลือกซื้อสินค้าและวัตถุดิบพื้นบ้านจากชุมชนมากยิ่งขึ้น ภาคอุตสาหกรรมจึงควรจัดหาสินค้าและบริการที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค หรือสนับสนุนการใช้วัตถุดิบจากแหล่งชุมชนและเกษตรกรมากยิ่งขึ้น

4 เทรนด์หลักสำคัญ

โดยในปี 2566 เต็ดตรา แพ้ค เน้นย้ำ 4 เทรนด์หลักที่สำคัญต่ออุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ประกอบด้วย In Control, Flexi-shopping, Eatertainment, Local Reclaimed เพื่อให้ลูกค้าและซัพพลายเออร์เข้าใจการเปลี่ยนแปลง พร้อมนำเทรนด์ดังกล่าวมาร่วมกันทำงาน พัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่สอดคล้องกับความต้องการที่เปลี่ยนไป

นายสุภนัฐอธิบายว่า In Control สะท้อนถึงการที่ผู้บริโภคเลือกรับประทานอาหาร เพื่อเป็นการเลือกสรรและควบคุมสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตมากขึ้น ซึ่งผู้บริโภคจะเลือกจับคู่อาหารหรืออาหารเสริมเพื่อสุขภาพ เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด และเหมาะสมกับความต้องการทางสุขภาพของแต่ละบุคคลมากขึ้น อีกทั้งผู้บริโภคยังใช้โซลูชั่นเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ ในการสังเกตและคาดการณ์สุขภาพโดยรวมของตน ทำให้ยิ่งมีความรอบคอบในสิ่งที่บริโภคมากขึ้น

ดังนั้นแบรนด์อาหารและเครื่องดื่ม จึงควรสื่อสารกับผู้บริโภคถึงคุณค่าและประโยชน์ของผลิตภัณฑ์บนกล่องบรรจุภัณฑ์อย่างชัดเจนและเรียบง่าย หรือหากมีคิวอาร์โค้ดที่ช่วยตรวจข้อมูลทางโภชนาการ ก็จะยิ่งเป็นการสร้างความรู้สึกแห่งการเลือกสรรและควบคุมได้ต่อลูกค้ามากยิ่งขึ้น

เทรนด์ Flexi-shopping

Flexi-shopping ในสถานการณ์เงินเฟ้อ ผู้บริโภคบางคนกำลังใช้ชีวิตด้วยแนวคิดที่ยืดหยุ่นมากขึ้น โดยลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น แต่ก็ยังคงใช้จ่ายกับสิ่งที่คิดว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดย 82% ของคนไทยยังคงมองหาแบรนด์ที่มองในเรื่องของคุณค่า ตอบโจทย์ทั้งในเรื่องของราคาและคุณภาพ ดังนั้นแบรนด์อาหารและเครื่องดื่มที่เสนอคุณค่าสูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับราคา จะมีความโดดเด่นเป็นอย่างมาก

Eatertainment ปัจจุบันผู้บริโภคได้เข้ามาแบ่งปัน หรือค้นหาแรงบันดาลใจในการทำอาหาร ผ่านสื่อออนไลน์ ทั้ง TikTok, YouTube มากขึ้น ทำให้การทำอาหารทานเองกลายเป็นเรื่องสนุกและทำได้ง่ายโดยแทบไม่ต้องพึ่งเชฟ อีกทั้งการทำอาหารทานเองยังสามารถควบคุมราคาวัตถุดิบได้ด้วย ดังนั้นแบรนด์อาหารและเครื่องดื่ม อาจจะลองใช้บรรจุภัณฑ์อาหารที่ปรุงได้ที่บ้าน พร้อมวิธีการทำอาหารแบบทีละขั้นตอน เพื่อเป็นการเน้นย้ำเทรนด์ทำอาหารในบ้าน

เทรนด์ Local Reclaimed

Local Reclaimed จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ได้หันมาเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากในท้องถิ่นมากขึ้น เพื่อเป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจในพื้นที่ชุมชนของตนเอง ดังนั้นแบรนด์อาหารและเครื่องดื่มที่เน้นวัตถุดิบที่เลือกสรรมาจากชุมชนท้องถิ่น ก็จะสามารถตอบโจทย์เทรนด์นี้ได้