
“บีเจซี” กางแผนขยายสาขา บิ๊กซี ประกาศลงทุนปูพรมครบทุกฟอร์แมต ทั้งไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต คอนวีเนียนสโตร์ ฟู้ดเซอร์วิส เร่งเปิดเครือข่ายร้านโดนใจเพิ่มอีก 4,000 แห่ง ชูฮ่องกง สปริงบอร์ดเข้าเมืองจีน
นางสาวภัครดา นิธิวรรณกุล ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC กล่าวในงาน Oppotunity Day (7 ธ.ค.2566) โดยกล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานของกลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ ธุรกิจที่สร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วนราว ๆ 64% ของรายได้รวม หรือประมาณ 75,000 ล้านบาท ในช่วง 9 เดือนปี 2566 (มกราคม-กันยายน) ว่า ในปีหน้า 2567 ในส่วนของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่จะยังมีการลงทุนเพื่อขยายสาขาเพิ่มอย่างต่อเนื่อง เช่น ฟอร์แมตที่เป็นไฮเปอร์มาร์เก็ต เบื้องต้นจะเปิดเพิ่ม 2 สาขาในลาวเพิ่มอีก 1 สาขา และกัมพูชา 1 สาขา ขณะที่ฟอร์แมต ซูเปอร์มาร์เก็ต ในส่วนของบิ๊กซี มาร์เก็ต 5-10 สาขา เน้นในหัวเมืองต่างจังหวัด ส่วนบิ๊กซี ฟู้ดเพลส เบื้องต้นจะเปิดเพิ่มอีกประมาณ 10-20 สาขา
ส่วนสมอลล์ สโตร์ ฟอร์แมต หรือบิ๊กซี มินิ ตั้งเป้าไว้ที่ประมาณ 250 สาขา จากปีนี้ที่คาดว่าจะเปิดได้ทั้งสิ้น 150 สาขา ส่วนบิ๊กซี ฟู้ดเซอร์วิส ที่บริษัทหันมาให้ความสำคัญมากขึ้นจะเปิดอีกประมาณ 5-10 สาขา จากปัจจุบันมี 6 สาขา รวมถึงการขยายเครือข่ายร้านโดนใจ ที่ตั้งเป้าจะเปิดเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 4,000 สาขา
“ร้านโดนใจ ยังเป็นโมเดลที่บริษัทให้ความสำคัญ และเต็มที่กับโมเดลนี้ หลังจากสิ้นไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ได้เปิดไปแล้วมากกว่า 4,000 แห่งทั่วประเทศ”
สำหรับผลประกอบการไตรมาส 3/2566 กลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่มีรายได้รวม 27,779 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,348 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5.1% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากรายได้จากการขายสินค้าเท่ากับ 24,611 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,351 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5.8% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากยอดขายต่อสาขาเดิม (ไม่รวมยอดขายสินค้าบีทูบี) เติบโตอยู่ที่ 2.1% ในไตรมาสที่ 3/2566
เนื่องจากร้านค้าไฮเปอร์มาร์เก็ตมีผลการดำเนินงานเป็นบวกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวและจากบิ๊กซี มินิ ที่มียอดขายต่อสาขาเดิมที่กลับมาเป็นบวกในไตรมาสดังกล่าว รวมถึงการขยายสาขาที่เพิ่มขึ้น
ในขณะเดียวกัน รายได้อื่นอยู่ที่ 3,185 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 12 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.4 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนโดยเป็นผลมาจากรายได้ค่าเช่าและบริการที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ กลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ยังคงขยายสาขาอย่างต่อเนื่องส่งผลให้เครือข่ายร้านค้าของบริษัทมีร้านค้าไฮเปอร์มาร์เก็ต 155 สาขา (รวมบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำนวน 1 สาขาในประเทศกัมพูชา) ร้านค้าขนาดซูเปอร์มาร์เก็ต 49 สาขา (บิ๊กซี มาร์เก็ต 35 สาขา และบิ๊กซี ฟู้ดเพลส 12 สาขาในประเทศไทย และ 2 สาขาในประเทศกัมพูชา)
ร้านค้าบิ๊กซี ฮ่องกง จำนวน 24 สาขา ร้านค้าบิ๊กซี มินิ จำนวน 1,488 สาขา (รวมสาขาแฟรนไชส์จำนวน 51 สาขาในประเทศไทย บิ๊กซี มินิ จำนวน 18 สาขา) บิ๊กซี ดีโป้ 11 สาขา บิ๊กซี ฟู้ดเซอร์วิส 6 สาขา ตลาดกลางแจ้ง 8 สาขา ร้านขายยาเพรียว 148 สาขา ร้านกาแฟวาวี 98 สาขา ร้านหนังสือเอเชีย บุ๊คส์ 60 สาขา ขณะที่เครือข่ายร้านค้าโดนใจมี 4,026 สาขา ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566
สำหรับบิ๊กซี ฮ่องกง ซึ่งเป็นเบอร์ 1 ของซูเปอร์มาร์เก็ตไทยในฮ่องกง มีสาขาทั้งหมด 24 สาขา ใน 18 อำเภอ รวมพื้นที่ขายทั้งสิ้นประมาณ 4,300 ตร.ม. มีสินค้าจำหน่ายประมาณ 3,775 เอสเคยู โดย 80-90% เป็นสินค้านำเข้าจากไทย การซินเนอร์ยี่ระหว่างบิ๊กซี ไทย และบิ๊กซี ฮ่องกง จะเป็นการเพิ่มวอลุ่มให้กับบิ๊กซีในประเทศไทย ผ่านการจัดหาผลิตภัณฑ์และสินค้าในการส่งออกไปที่บิ๊กซี ฮ่องกง จากประสบการณ์ของบิ๊กซีในไทยที่จำหน่ายสินค้าให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีน โดยเฉพาะกรณีของบิ๊กซี ราชดำริ ทำให้เรามีประสบการณ์ในการปรับพอร์ตโฟลิโอสินค้าสำหรับบิ๊กซี ฮ่องกง ได้อย่างเหมาะสม
“การมีบิ๊กซี ในฮ่องกง ก็จะทำให้บิ๊กซี ฮ่องกง เป็นประตูนำไปสู่ตลาดจีนได้ในอนาคต และในระยะสั้นจะมุ่งเน้นไปที่การดำเนินงานของบิ๊กซี ฮ่องกง มากขึ้น ปัจจุบันยอดขายของบิ๊กซี ในฮ่องกง ในแต่ละเดือนมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และยังมีเปอร์เซ็นต์ จีพี ที่สูงกว่า เมื่อเทียบกับเปอร์เซ็นต์ จีพี ในภาพรวมของบิ๊กซี”