กำลังซื้อ นักช็อปจีน แรงไม่หยุด สินค้าไทย…บุกตลาดใหม่

คอลัมน์ จับกระแสตลาด

ด้วยจำนวนคนจีนที่มากถึง 1,389 ล้านคน กลายเป็นกำลังซื้อสำคัญของหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงไทยด้วย ซึ่งไทยมีข้อได้เปรียบพอสมควร เพราะติด 1 ใน 3 ของประเทศยอดฮิตที่คนจีนอยากจะเดินทางมาท่องเที่ยว ซึ่งนั่นหมายถึง โอกาสมหาศาลที่จะเกิดขึ้นต่อหลาย ๆ ธุรกิจในไทยด้วย

“ภวัต เรืองเดชวรชัย” ผู้อำนวยการธุรกิจ-สายงานการวางแผน และกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด ให้มุมมองว่า ด้วยสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศที่ไม่เติบโตในช่วง 2-3 ปีที่ผ่าน กระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ทำให้ยอดขายสินค้าในหลายๆกลุ่มไม่เติบโต ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 9-10 ล้านคนต่อปี ทำให้นักการตลาด และหลาย ๆ แบรนด์สินค้าเริ่มให้ความสำคัญพลังช็อปของนักท่องเที่ยวจีนมากขึ้น เพื่อหาตลาดใหม่มาทดแทนและเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจ

“ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะคนจีน ถือเป็นโอกาสใหญ่ของหลาย ๆ ธุรกิจ เพราะพฤติกรรมนักช็อปชาวจีนที่ใช้จ่ายเงินต่อทริปในการซื้อสินค้าไทยและทานอาหารไทยมีสัดส่วนที่สูงมากกว่าการใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ อีกทั้งยังมีช็อปปิ้งลิสต์ของสินค้าที่ต้องซื้อ โดยกลุ่มครีมบำรุงผิว ยาดม ยาสมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งเป็นสินค้าที่นิยมของคนจีน ขณะที่ปัจจุบันกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ก็กำลังกลายเป็นที่ชื่นชอบของคนจีนมากขึ้น ด้วยคุณภาพที่ดีของสินค้าไทย”

ด้วยโอกาสที่เกิดขึ้น ทำให้นักการตลาดไทย พยายามจะหาช่องทางการสื่อสาร เพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์ให้แก่กลุ่มนักท่องเที่ยวจีนเหล่านี้ ซึ่ง 3 ช่องทางหลักที่ทรงพลังในการเจาะเข้าถึงคนกลุ่มนี้ คือ ช่องทางโซเซียลมีเดียในจีน เช่น Bai-du,Wechat,Weibo เป็นต้น เป็นช่องทางที่มีอิทธิพลเป็นอันดับแรก ๆ ด้วยรูปแบบการสื่อสารผ่าน อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer)หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงบนโลกออนไลน์ของจีน ซึ่งเมื่อทำให้คนจีนเชื่อได้แล้วก็จะเกิดการบอกต่อในวงกว้าง

“ภวัต” ขยายความว่า อีกช่องทางการสื่อสารสำคัญ คือ การไท-อิน(Tie-in)สินค้าผ่านซีรี่ส์ไทย โดยเฉพาะละครสายวาย หรือ แนวชายรักชาย และ แนวหญิงรักหญิง ซึ่งคนจีนให้ความสนใจมากขึ้นและมีกลุ่มฐานแฟนคลับที่เหนียวแน่น ทั้งนี้หากนักแสดงไทยในเรื่องใช้สินค้าแบรนด์ใด ก็จะมีอิทธิพลต่อการซื้อสินค้าแบรนด์นั้น ๆ ด้วย กลายเป็นอีกช่องทางการสื่อสารแบรนด์ที่สำคัญเช่นกัน ทั้งนี้เมื่อแบรนด์เป็นที่รู้จักแล้ว ก็ต้องตอกย้ำแบรนด์ สร้างความเชื่อถือด้วยการใช้โฆษณาผ่านป้ายบิลบอรด์สื่อสารในแหล่งชุมชน เช่น สนามบินสุวรรณภูมิ ราชประสงค์ เป็นต้น และสุดท้ายสื่อ ณ จุดขาย เพื่อบอกราคา คุณสมบัติของสินค้าเป็นภาษาจีน อำนวยความสะดวกและกระตุ้นการตัดสินใจซื้อ

เท่ากับว่า พลังซื้อจากนักช็อปจีน กำลังกลายเป็นขุมทรัพย์ใหม่ของแบรนด์ไทย