
ตลาดเครื่องปรับอากาศ 3.4 หมื่นล้านแข่งเดือดพิเศษ บีบผู้เล่นเกาหลี-ญี่ปุ่น-ไทย ทุ่มสรรพกำลัง ผุดแผนสำรองกระตุ้นยอดขาย-รักษาส่วนแบ่งตลาด ไดกิ้นงัดกลยุทธ์ “ไม่ต้องรอลดราคาหน้าร้าน” ตั้งราคาแอร์ใหม่ถูกลง 10% หวังชิงเซ็กเมนต์ต่ำกว่า 1.5 หมื่น ด้านแอลจีควง “เจฟ ซาเตอร์” ชิงตลาดต่างจังหวัด เพาเวอร์บาย-เครือเซ็นทรัล และเพาเวอร์มอลล์-เครือเดอะมอลล์ ประชันโปรโมชั่นดุเดือด ตัดราคากันระดับ 10 สตางค์พร้อมซุ่มโปรฯ บันเดิลกระตุ้นยอด ส่วน “อีมิแน้นท์” โฟกัสแอร์ตั้งแขวนอัพมาร์จิ้น ขณะที่เพาเวอร์บาย สาดโปรฯ แรงบีทียูละบาท
ฤดูร้อนปี 2568 แบรนด์เครื่องปรับอากาศทั้งญี่ปุ่น เกาหลี และไทย แข่งขันดุเดือดเป็นพิเศษ ผู้ผลิตและจำหน่ายต้องปรับกลยุทธ์-เตรียมแผนสำรอง หลากหลายรูปแบบ ทั้งไลน์อัพราคาประหยัด โปรโมชั่นพิเศษ เพื่อกระตุ้นการขาย
ตลาดแอร์เดือดรับร้อน-กำลังซื้อหด
นายวรุตม์ เลขะจิระกุล ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปฝ่ายการตลาด บริษัท สยามไดกิ้นเซลส์ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องปรับอากาศแบรนด์ “ไดกิ้น” ฉายภาพว่า ปี 2568 นี้ตลาดเครื่องปรับอากาศมูลค่าประมาณ 3 หมื่นล้านบาท อาจเติบโตเพียงเล็กน้อย แต่มีแนวโน้มแข่งขันดุเดือดเป็นพิเศษ เนื่องจากความท้าทายจากสภาพอากาศที่ร้อนช้า และช่วงหน้าร้อนอาจไม่ร้อนรุนแรงเหมือนปี 2567 ขณะที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อน้อยลงจากสภาพเศรษฐกิจ
สถานการณ์นี้ส่งผลให้เมื่ออากาศเริ่มร้อนจัด ผู้เล่นแต่ละรายต้องโหมทำตลาดเข้มข้นมากกว่าปีก่อน ๆ ไม่เพียงเพื่อชิงสร้างยอดขายให้บรรลุเป้าเท่านั้น แต่ยังต้องรักษาส่วนแบ่งตลาดเอาไว้ให้ได้ ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือด หลังจำนวนผู้เล่นในตลาดเพิ่มมากขึ้นแต่กำลังซื้อผู้บริโภคลดลง สะท้อนจากสถานการณ์ของดีลเลอร์ร้านแอร์เมื่อช่วงต้นปีที่ยอดขายชะลอลงจากปีที่แล้ว ซึ่งทำให้ตลาดรวมอาจเติบโตในระดับเลขหลักเดียวต้น ๆ เท่านั้น
ไม่รอลดราคาหน้าร้าน
เพื่อรับมือปี 2568 นี้ ไดกิ้นจึงปรับยุทธศาสตร์ให้สอดรับกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลงและโฟกัสเจาะผู้บริโภคที่มองหาเครื่องปรับอากาศราคาต่ำกว่า 15,000 บาท ด้วยกลยุทธ์ “ไม่ต้องรอลดราคาหน้าร้าน” โดยเปิดตัวไลน์อัพเครื่องปรับอากาศที่ราคาต่ำกว่าปี 2567 มีไฮไลต์เป็นรุ่น Max Inverter Sabai Series ซึ่งตั้งราคาต่ำกว่าปี 2567 ประมาณ 10% เริ่มต้น 13,900 บาท รวมถึงนำระบบยับยั้งเชื้อโรค Streamer มาใส่ในรุ่น FTKD-Z ซึ่งเป็นรุ่นเริ่มต้นของ MAX Inverter Star Series เพื่อย้ำจุดขายด้านความคุ้มค่าของซีรีส์นี้
ทั้งนี้ การตั้งราคาจำหน่ายนี้อาศัยการมีฐานผลิตในไทย ช่วยให้สามารถทำราคาจำหน่ายได้ดีขึ้น ในขณะที่ยังคงคุณภาพสินค้าเอาไว้ได้
พร้อมเตรียมงบฯ กว่า 500 ล้านบาท เพื่อทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขายแบบเต็มที่และเข้มข้นขึ้นกว่าปีก่อน โดยตั้งเป้ารายได้ปี 2568 ที่ 15,000 ล้านบาท จากการเติบโตทั้งตลาดที่อยู่อาศัยและตลาดเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น 25% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
“ปีนี้เราพยายามลบภาพแบรนด์เครื่องปรับอากาศราคาแพง จับต้องยากของไดกิ้นลง และเปลี่ยนเป็นราคาดี คุณภาพเหมาะสม จะมุ่งขายสินค้าระดับพรีเมี่ยมอย่างเดียวไม่ได้ เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคไม่เพียงพอ”
เปิดแผนสำรองรับมือยอดฝืด
ด้านแอลจีคาดการณ์ตลาดในทิศทางเดียวกัน โดยนายอำนาจ สิงหจันทร์ หัวหน้าฝ่ายการตลาด บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ตลาดเครื่องปรับอากาศปี 2568 นี้ อาจแข่งขันราคาดุเดือด เนื่องจากตลาดมีแนวโน้มเติบโต 6% เป็น 34,567 ล้านบาท
ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่น้อยกว่าปี 2567 และปี 2566 ที่ตลาดเติบโตถึง 14% และ 27% ตามลำดับ เนื่องจากปัจจัยท้าทายอย่างสภาพอากาศที่ร้อนช้ากว่าปีก่อนอย่างชัดเจน หลังที่ผ่านมาอากาศมักเริ่มร้อนตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมหรือต้นกุมภาพันธ์
ด้วยเหตุนี้บริษัทจึงโฟกัสใช้โอกาสจากการที่ครัวเรือนไทยมีเครื่องปรับอากาศเพียงประมาณ 40% รุกเจาะช่องว่างในตลาดต่างจังหวัดและเมืองท่องเที่ยว ซึ่งอัตราครอบครองเครื่องปรับอากาศต่ำกว่ากรุงเทพฯ รวมถึงจังหวัดท่องเที่ยวยังได้อานิสงส์จากธุรกิจท่องเที่ยว จึงมีกำลังซื้อและความต้องการเครื่องปรับอากาศ ด้วยการทุ่มงบฯ 100 ล้านบาท สำหรับสร้างการรับรู้ให้ เช่น ศูนย์บริการ 138 แห่งที่ตอบโจทย์ความเชื่อมั่น และฟังก์ชั่น AI ซึ่งตอบโจทย์ด้านความประหยัด
ขณะเดียวกัน ยังเตรียมแผนสำรองสำหรับกระตุ้นการขายในกรณีที่สภาพอากาศไม่เป็นใจ ด้วยโปรโมชั่นแนวบันเดิล หรือการซื้อเครื่องปรับอากาศคู่กับสินค้าอื่นในราคาพิเศษ เพื่อจูงใจผู้บริโภคด้วยความคุ้มค่า ซึ่งตอบโจทย์การเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยตั้งเป้ายอดขายเครื่องปรับอากาศในปี 2568 นี้ไว้ที่ 154,000 ชุด เติบโต 30% จากปีที่แล้ว
รุกจับธุรกิจรายย่อย
นายวีรพล สวรรค์พิทักษ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดดิจิทัล บริษัท อีมิแน้นท์แอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องปรับอากาศสัญชาติไทยแบรนด์ “อีมิเน้นท์” กล่าวว่า หน้าร้อนปี 2568 นี้ นอกจากสภาพอากาศที่ต้องจับตาหลังเข้าเดือนมีนาคมแล้วยังมีฝนตกต่อเนื่อง การเข้ามาของผู้เล่นใหม่อย่างเสี่ยวหมี่ และการทุ่มทำตลาดของแบรนด์จีนรายอื่น ๆ ที่ใช้งบฯ ระดับพันล้านบาท
รวมไปถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ยังเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ตลาดเครื่องปรับอากาศแข่งขันดุเดือดเป็นพิเศษ พร้อมเตรียมแผนสำรองแนวลดแลกแจกแถม สำหรับช่วยกระตุ้นการขายของร้านดีลเลอร์หากสถานการณ์ไม่เป็นไปตามคาด
เพื่อรับมือความท้าทายเหล่านี้ บริษัทจึงปรับทิศการทำตลาด หันไปเน้นโปรโมตเครื่องปรับอากาศแบบตั้งแขวนที่มีอัตรากำไรสูงกว่าแบบติดผนัง เนื่องจากสามารถผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ได้เองทั้งหมด โดยเพิ่มไลน์สินค้าครอบคลุมทั้งระบบปกติ และอินเวอร์เตอร์ เพื่อเจาะกลุ่มร้านคาเฟ่, ร้านสะดวกซื้อ, หน่วยงานรัฐ รวมไปถึงครัวเรือนที่มีบ้านขนาดใหญ่ ด้วยจุดเด่นด้านความสะดวกในการติดตั้งและบำรุงรักษา
“การรุกตลาดของเสียวหมี่นั้น ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีความพร้อมหลายด้าน ทั้งการเป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภคชาวไทยรู้จักและคุ้นเคยกับการใช้งานสินค้า มีช่องทางจำหน่ายหลากหลาย อีกทั้งการเปิดตัวสินค้าที่เน้นเรื่องความประหยัดไฟด้วยฉลากเบอร์ 5, การขายพร้อมติดตั้ง ฯลฯ สะท้อนถึงการเตรียมการที่ดี ซึ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบน่าจะเป็นเครื่องปรับอากาศแบรนด์ไทย”
เซ็นทรัล-เดอะมอลล์ดวลเดือด
ด้านช่องทางจำหน่ายอย่างเพาเวอร์บาย ในเครือเซ็นทรัล และเพาเวอร์มอลล์ ของเครือเดอะมอลล์ ประชันโปรโมชั่นดุเดือด ด้วยการตัดราคากันระดับ 10 สตางค์
นางสาวพัชราภรณ์ วรยิ่งยง ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานวางแผนธุรกิจการตลาดและกลุ่มผลิตภัณฑ์การเงิน บริษัท เพาเวอร์บาย จํากัด ในเครือเซ็นทรัล รีเทล กล่าวว่า หน้าร้อนปี 2568 นี้บริษัทเดินหน้ากระตุ้นยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้าเต็มที่ ประเดิมด้วยแคมเปญ “Summer ลดร้อนแรง แอร์ BTU ละบาท” ลากยาวจนถึง 7 มิถุนายน 2568 หรือประมาณ 3 เดือน
โดยมีไฮไลต์เป็นการลด-แลก-แจก-แถม-ผ่อนยาว ทั้งเครื่องปรับอากาศราคาเริ่มต้นบีทียูละ 1 บาท รับส่วนลดสูงสุด 5,000 บาท สำหรับรุ่นที่ร่วมรายการ รวมถึงสามารถนำเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่าแลกรับส่วนลดสูงสุด 10,000 บาท ส่วนสมาชิก The1 สามารถแลกคะแนนเป็นส่วนลด 12.5% รวมถึงผ่อน 0% นาน 10 เดือน และรับเครดิตเงินคืนสูงสุด 40,000 บาท กับบัตรเครดิตที่ร่วมรายการ
ด้านนายรัชตะ สุทธาพัฒน์ธานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริหารสินค้า POWER MALL บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า สำหรับบริษัทจัดงาน “POWER MALL SUMMER-CATION” ตั้งแต่วันนี้-23 เมษายน 2568 ด้วยไฮไลต์ อาทิ เครื่องปรับอากาศเริ่มต้น BTU ละ 90 สตางค์,ฟรีคูปองล้างเครื่องปรับอากาศมูลค่า 600 บาท, ติดตั้งฟรีพร้อมรางครอบท่อ และจัดส่งภายในวันเดียวกัน
ทั้งนี้ ต้องจับตาดูว่าช่วงปลายมีนาคม-พฤษภาคม สภาพอากาศและกำลังซื้อจะส่งผลกับตลาดเครื่องปรับอากาศอย่างไร และกลยุทธ์ที่แต่ละแบรนด์เตรียมไว้จะได้ผลมากน้อยแค่ไหน หรือจะต้องมีการกระตุ้นตลาดเป็นพิเศษอีกครั้ง