“แวตรีฟันด์” ป่วน ! เซ็นทรัล-เดอะมอลล์-สยามพิวรรธน์-โรบินสัน เตรียมยื่นอุทธรณ์สรรพากร พร้อมตั้งคำถาม“เกิดอะไรขึ้นกับโครงการ Downtown VAT Refund for Tourists?”

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า สมาคมผู้ค้าปลีกไทย และบริษัทร่วมทุนแวต รีฟันด์ เซ็นเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด“ โดยนายวรวุฒิ อุ่นใจ ในฐานะประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสมาคมค้าปลีกไทย ร่วมกับบริษัทร่วมทุน ได้แก่ เซ็นทรัล โรบินสัน เดอะมอลล์ และสยามพิวรรธน์ แถลงข่าวชี้แจงกรณีดาวน์ทาวน์ แวต รีฟันด์ ฟอร์ทัวร์ริส ในหัวข้อ เกิดอะไรขึ้นกับโครงการ Downtown VAT Refund for Tourists?” หลังประกาศจากกรมสรรพากร ที่คัดเลือกให้เคาน์เตอร์เซอร์วิส ในร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น 3 สาขาได้รับสิทธิ์เป็นจุดคืนแวต รีฟันด์แต่เพียงผู้เดียว

นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า โครงการดาวน์ทาวน์ แวต รีฟันด์ ฟอร์ทัวร์ริส เป็นโครงการนำร่องที่มาจากการลงทุนของเอกชน โดยมีแนวคิดเพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเพิ่มการจับจ่ายช้อปปิ้งมากขึ้น และคืนเงินภาษีในสกุลเงินบาท นักท่องเที่ยวจึงสามารถนำเงินไปใช้จ่ายสินค้าอย่างอื่นได้ นอกจากนั้นจุดคืน VAT Refund ยังช่วยลดความแออัดการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่สนามบิน

“เราไม่ได้มีปัญหาต่อการที่ร้านสะดวกซื้อได้รับสิทธิ์ เพียงแต่ต้องการตั้งคำถามว่าทำไมต้องเป็นรายเดียว และทำไมต้องแค่ 3 จุด  และเลือกจากอะไร การมีหลายจุดคืนภาษียิ่งดีต่อระบบ เพราะยิ่งช่วยกันกระตุ้นและสร้างการรับรู้ให้กับนักท่องเที่ยว และอีกอย่างเป็นการลงทุนของภาคเอกชนเองทั้งนั้น  ซึ่งหลังจากนี้เราเตรียมยื่นอุทธรณ์”

ทั้งนี้ การที่สมาคมและบริษัทร่วมเลือกจุดนำร่องในการคืน VAT refund คือสยามพารากอน เซ็นทรัลชิดลม เซ็นทรัลเวิลด์ โรบินสัน สุขุมวิท ครอบคลุมเส้นทางเดินรถไฟฟ้า BTS จากสถานีสยามถึงพร้อมพงษ์ เนื่องจากสถานที่เหล่านี้เป็นแลนมาร์คที่นักท่องเที่ยวต้องแวะเวียนมา และเป็นจุดที่มีปริมาณนักท่องเที่ยวเฉลี่ย 90,000 ถึง150,000 คนต่อวันต่อสถานที่

ที่สำคัญ ร้านค้าในห้างสรรพสินค้าเหล่านี้จะจดทะเบียน ภ.พ.10 (แบบคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยว) กับกรมสรรพากร ซึ่งที่ผ่านมาทั้ง 5 จุดที่คัดเลือกมีการขอคืนภาษ๊ของนักท่องเที่ยวกว่า 9 แสนใบต่อปี เท่ากับ 60ของการขอคืนภาษีจากนักท่องเที่ยวที่ซื้อสินค้าจากทั่วประเทศ


 

ถ้าเราไม่ทำ VAT Refund คนเสียประโยชน์คือประเทศชาติ เพราะนักท่องเที่ยวจะไม่อยากช้อปปิ้ง ทั้งที่เราสามารถทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในด้านการช้อปปิ้ง เราเป็นเบอร์หนึ่งได้ไม่ยาก และผู้เสียประโยชน์ก็คือผู้ประกอบการค้าปลีกทั้งหมด เพราะถ้าคนมาซื้อมากขึ้น ผู้ประกอบการค้าปลีกก็จะดีขึ้น

ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสมาคมค้าปลีกไทย กล่าวว่า ปัจจุบันโครงการแวต รีฟันด์ฯ ยังติดปัญหากับทางกรมสรรพากร แม้ว่าสถานที่นำร่อง จุดจะมีกรมสรรพการมาตรวจสอบสถานที่และซอฟท์แวร์แล้ว แต่ยังติดปัญหาเรื่องขั้นตอน หลักปฏิบัติและ MOU รวมถึงข้อกำหนดจากกรมสรรพากรว่า หนึ่งบริษัทกำหนดสถานที่ VAT Refund ได้ไม่เกิน3 จุดเท่านั้น

ซึ่งประเด็นนี้นักกฎหมายให้ความเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องระบุสามจุดลงไป เพราะการมีกลุ่มตัวอย่าง (สถานที่) ที่มีจำนวนมากและหลากหลายจะเกิดประโยชน์มากกว่าระบุเพียงแค่ จุด ดังนั้นปัจจุบันโครงการดังกล่าวยังไม่เป็นรูปเป็นร่างอย่างแท้จริงจริง