“ดีลิเวอรี่” จุดเปลี่ยนธุรกิจฟู้ด 7-11เอาด้วยซื้อครบ 100 ส่งฟรีถึงบ้าน

ตลาด “ฟู้ดดีลิเวอรี่” 2.6 หมื่นล้านโตแรงแซงทุกธุรกิจ สวนทางกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มที่ตัวเลขการเติบโตของหน้าร้านยังคงทรงตัว 2-4% ยักษ์เชนร้านอาหารจัดทัพบุกรอบทิศรับเทรนด์ ด้านสะดวกซื้อ 7-11 ไม่ยอมตกเทรนด์ให้พนักงานแว้นมอเตอร์ไซค์ส่งฟรีเมื่อซื้อครบ 100 บาท พร้อมส่งภายใน 30 นาที

ตัวเลขการเติบโตของธุรกิจ “ดีลิเวอรี่” โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารขยายตัวอย่างมาก ปีที่ผ่านมาสามารถเติบโต 11-15% ด้วยมูลค่า 2.6 หมื่นล้านบาท ขณะที่การเติบโตของธุรกิจร้านอาหารคงที่ประมาณ 2-3% ถือว่าอยู่ในระดับทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมาสามารถเติบโตได้ที่ระดับ 5%

โตแรงสวนหน้าร้าน

สอดคล้องกับ “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ระบุว่า ดีลิเวอรี่ออนไลน์เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจบริการจัดส่งอาหาร หรือฟู้ดดีลิเวอรี่มีมูลค่ากว่า 26,000-27,000 ล้านบาท ขยายตัว 11-15% (ตัวเลขปี 2560) ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าการเติบโตของธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งภาพรวมสามารถขยายตัวได้เพียง 2-4%

ปัจจุบันผู้คนเลือกใช้บริการดีลิเวอรี่มากขึ้น เพราะต้องการความสะดวกสบายและข้อจำกัดด้านเวลา ขณะเดียวกันผู้ประกอบการร้านอาหารต่างก็หันมาให้ความสำคัญกับดีลิเวอรี่เพื่อขยายฐานลูกค้า พร้อมเพิ่มโอกาสการขายเสริมจากหน้าร้านที่ทราฟฟิกส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในช่วงเย็นของวัน ช่วงวีกเอนด์วันหยุด หรือเทศกาลเป็นหลัก

เซเว่นฯป้อนฟรีถึงบ้าน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เชนร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น เริ่มทดลองบริการดีลิเวอรี่ “อิ่มท้องกับ 7-อีเลฟเว่น” ให้บริการช่วง 6 โมงเช้าถึง 4 ทุ่ม ในสาขาซอยบรมราชชนนี 4 และสาขาบริเวณหมู่บ้านสีวลี-ราชพฤกษ์ ครอบคลุมบริเวณใกล้เคียง เช่น ซอยบรมราชชนนี 4 และ 6 รวมถึงคอนโดฯลุมพินี พาร์ค ปิ่นเกล้า เช่นเดียวกับหมู่บ้านสีวลี-ราชพฤกษ์ หมู่บ้านชัยพฤกษ์-ราชพฤกษ์ และหมู่บ้านเบญญาภา-ราชพฤกษ์

โดยสามารถสั่งอาหารพร้อมทาน ของหวาน-ผลไม้ และเครื่องดื่มออลคาเฟ่ รวมถึงสินค้าในร้าน ผ่านการแชตกับแอ็กเคานต์ไลน์ของร้าน ทั้งนี้ มีกลยุทธ์จูงใจ อาทิ ส่งฟรีเมื่อยอดซื้อครบ 100 บาท และพร้อมส่งภายใน 30 นาที รวมถึงนำสินค้าในร้านมาจัดชุดราคาพิเศษ เช่น ชุดอาหารญี่ปุ่น ซึ่งมีข้าวหมูย่างเกลือ, ข้าวแกงกะหรี่หมูทอด, โมจิชูครีม 7-fresh และแอปเปิลฟูจิสไลซ์ รวม 160 บาท จากปกติ 173 บาท เป็นต้น ซึ่งสามารถเลือกให้อุ่นอาหารจากร้าน หรือส่งแบบเย็นได้

ด้านการขนส่งใช้พนักงานในสาขาทำหน้าที่ส่งสินค้าด้วยรถจักรยานยนต์ ส่วนการชำระราคามีตัวเลือกทั้งเงินสดและผ่านทรูวอลเลต

CRG ปูพรมเต็มพื้นที่

นายปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่ายการตลาด บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) ฉายภาพว่า บริษัทจะโฟกัสการขยายตลาดผ่านช่องทาง delivery มากขึ้น เนื่องจากภาพรวมธุรกิจ delivery เติบโตกว่า 12-15% และเป็นเทรนด์การใช้บริการของผู้บริโภครุ่นใหม่ โดยได้จับมือกับพาร์ตเนอร์บริการขนส่งหลายราย อาทิ Line Man, Food Panda และ Grab Food เป็นต้นและได้เปิดหมายเลขใหม่ “1312 สั่งครั้งเดียว อร่อยหลายร้าน” เพื่อรองรับแบรนด์ธุรกิจร้านอาหารในเครือ 11 แบรนด์ จากเดิมที่ต่างคนต่างให้บริการ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการความหลากหลายของเมนูในการสั่งอาหารเพียงครั้งเดียว ซึ่งนอกจากจะเป็นการขยายฐานกลุ่มลูกค้าเป้าหมายแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้ลูกค้าสั่งอาหารผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น

จัดทัพรับเทรนด์

นายประพัฒน์ เสียงจันทร์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เบอร์เกอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือไมเนอร์ฟู้ด ฉายภาพว่า การสั่งอาหารผ่านช่องทางออนไลน์กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น เบอร์เกอร์คิงได้จับมือกับลาลามูฟ พาร์ตเนอร์ที่มีความแข็งแรงเรื่องโลจิสติกส์-การจัดส่งสินค้า มีเครือข่ายมอเตอร์ไซค์กว่า 4 หมื่นคัน บริการทั่วกรุงเทพฯและปริมณฑล เพื่อขยายพื้นที่การจัดส่งดีลิเวอรี่ให้กว้างขึ้น รองรับการสั่งสินค้าผ่าน delivery.burgerking.co.th ที่พร้อมจัดส่งสินค้าตั้งแต่เวลา 10.00-24.00 น.

ด้านนางเกษสุดา ไรวา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสแอนด์พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านอาหาร-เบเกอรี่ “เอสแอนด์พี” กล่าวว่า นอกจากแผนขยายสาขาใหม่ของเอสแอนด์พีกว่า 30 แห่งในปีนี้ ทั้งในรูปแบบร้านอาหารและร้านเบเกอรี่ ช่วงปีที่ผ่านมาได้เริ่มจับมือกับพาร์ตเนอร์ อาทิ แกร็บ, ฟู้ดแพนด้า ให้บริการดีลิเวอรี่ เพิ่มช่องทางขายให้หลากหลายขึ้น เข้ากับเทรนด์ของอีคอมเมิร์ซที่กำลังเติบโต

กลุ่มอาหารเครื่องดื่มโตนิ่ง

บล.เอเซีย พลัส วิเคราะห์หุ้นกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ฉายภาพรวมผลประกอบการธุรกิจกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ยังเติบโตคงที่ประมาณ 2-3% ถือว่าอยู่ในระดับทรงตัว เมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมาสามารถเติบโตได้ที่ระดับ 5% โดยหลัก ๆ ได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป เนื่องจากพฤติกรรมของ

ผู้บริโภคในปัจจุบันนิยมการสั่งซื้อสินค้าอาหารแบบดีลิเวอรี่ ทั้งการโทร.สั่ง หรือออนไลน์มากขึ้น ประกอบกับการแข่งขันของตลาดที่รุนแรงทั้งในส่วนของรายที่อยู่ในตลาดปัจจุบันและรายใหม่ ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่สนใจเข้ามาเป็นทางเลือก อย่างไรก็ตาม ภาพความเคลื่อนไหวที่ผ่านมา แบรนด์ผู้ประกอบการรายใหญ่ยังคงเดินหน้าขยายสาขาเพิ่มขึ้น เน้นตามทำเลในศูนย์การค้า