ซีรีส์สายวาย…แรง “แกรมมี่” ต่อยอดธุรกิจรอบทิศ

กระแสคู่จิ้นจากคอนเทนต์สายวายหรือซีรีส์ ละครที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชายรักชาย หญิงรักหญิงที่กำลังได้รับความนิยมของกลุ่มวัยรุ่นเพิ่มมากขึ้นจากการขยายตัวของสื่อออนไลน์ก่อนจะขยับขึ้นมาบนหน้าจอสื่อหลักอย่างทีวี ซึ่งถือเป็นการเปิดตลาดในเซ็กเมนต์ใหม่ ๆ และเพิ่มทางเลือกใหม่ให้แก่ผู้ชม รวมถึงกลุ่มสินค้าด้วย

“สถาพร พานิชรักษาพงศ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม ทีวี จำกัด ผู้ผลิตคอนเทนต์ครบวงจร กล่าวกับ”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คอนเทนต์สายวายที่จุดกระแสให้จีเอ็มเอ็มทีวี กลายเป็นที่รู้จักบนตลาดคอนเทนต์วัยรุ่น โดยเฉพาะซีรีส์ โซตัส “Sotus The Series” ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดการต่อยอดธุรกิจแบบไม่หยุดนิ่ง ด้วยการผลิตซีรีส์โซตัส ภาค 2 และต่อยอดความสำเร็จสู่การจัดแฟนมีตขนาดเล็ก ๆ หลายงานเช่น มีตแอนด์กรี๊ด EAT ว้าก เป็นต้น

ซึ่งกระแสสายวายนี้ก็ดังไกลในตลาดเอเชียด้วย จนมีบริษัทต่างประเทศติดต่อให้นักแสดงจากโซตัส ออกไปจัดงานแฟนมีตในเกาหลี มาเลเซีย ไต้หวัน สิงคโปร์ ฮ่องกงมาแล้ว

ล่าสุดต่อยอดกระแสสายวายอีกครั้ง ด้วยการจัดคอนเสิร์ต “Y I Love You Fan Party 2019 ติดเกาะฮา Y” จะจัดขึ้นวันที่ 26-27 มกราคม 2562 ที่ธันเดอร์โดม เมืองทองธานี โดยเปิดขายบัตรไปแล้ว และบัตรรอบแรกก็ถูกจำหน่ายหมดใน 5 นาที บริษัทจึงเปิดขายบัตรรอบ 2 เพิ่ม

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าบัตรที่จำหน่ายออกไปก็มีราคาค่อนข้างสูง โดยวางราคาตั้งแต่ 1,500-5,000 บาท เรียกว่าราคาเทียบเท่ากับคอนเสิร์ตของศิลปินดัง ๆ ในไทย ซึ่งบัตรของคอนเสิร์ตสายวายก็ขายหมด นั่นสะท้อนให้เห็นว่าแฟนคลับกลุ่มนี้เป็นฐานที่เหนียวแน่น แข็งแกร่ง และมีกำลังซื้อที่ดี

“กลุ่มคนดูคอนเทนต์สายวาย และคนที่ซื้อคอนเสิร์ต คือ คนกลุ่มเดียวกัน ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มผู้หญิง มีกำลังซื้อที่ดี และพร้อมจะสนับสนุนผลงานต่าง ๆ ซึ่งบริษัทก็ต่อยอดจากคอนเทนต์สายวายสู่แฟนมีต คอนเสิร์ต และการทำสินค้าเมอร์แชนไดส์ออกมาขายด้วย”

“สถาพร” อธิบายต่อว่า ที่ผ่านมาบริษัทผลิตซีรีส์สายวายไม่มาก อย่างปีนี้มีแค่ 1 เรื่องเท่านั้น ดังนั้น จีเอ็มเอ็มทีวีก็ไม่ได้ยึดติดอยู่แค่การผลิตคอนเทนต์สายวาย เพียงแต่ว่าคอนเทนต์สายวายได้รับความนิยมและเป็นกระแสบนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะโซตัส ที่จุดกระแสให้ดังทั่วเอเชีย ทำให้บริษัทต่อยอดสู่การจัดแฟนมีตในกลุ่มเล็ก ๆ ก่อนจะเปิดเป็นคอนเสิร์ตใหญ่ นั่นสะท้อนว่าเมื่อคอนเทนต์แข็งแรงก็สามารถต่อยอดสู่ธุรกิจอื่น ๆ สู่การสร้างแบรนด์ให้แก่ซีรีส์และนักแสดงด้วยเท่ากับว่าถ้าคอนเทนต์โดน ก็สามารถต่อยอดทุกอย่างได้หมด ทั้งการจัดคอนเสิร์ต แฟนมีต หรือการทำสินค้าเมอร์แชนไดส์ เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม

ในส่วนของภาพรวมธุรกิจสื่อปีนี้ถือว่าชะลอการเติบโตลง เนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจและพฤติกรรมการรับสื่อผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทำให้สินค้าต่าง ๆ ใช้งบฯโฆษณาผ่านสื่อหลัก เช่น ทีวี วิทยุ สิ่งพิมพ์ ลดลง แต่อย่างไรก็ตาม ทีวีก็ยังเป็นสื่อหลักที่ครองส่วนแบ่งงบฯโฆษณาสูงสุด เพราะยังสามารถเจาะเข้าถึงผู้ชมทั่วประเทศได้ดี

ขณะเดียวกัน สื่อออนไลน์ที่โตขึ้น อีกทั้งยังสามารถเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ดี ทำให้มีแพลตฟอร์มใหม่เพิ่มขึ้น ซึ่งแต่ละแพลตฟอร์มก็ต้องการคอนเทนต์มาเป็นจุดขายในการดึงคนดู ทำให้จำนวนผู้ผลิตคอนเทนต์เพิ่มขึ้น และการแข่งขันสูงขึ้น ซึ่งแต่ละรายก็พยายามหาจุดเด่นที่ตัวเองมีความเชี่ยวชาญ เพื่อสร้างความแปลกใหม่ สร้างจุดขาย จูงใจคนดู

“จุดเด่นจีเอ็มเอ็มทีวี คือ การเจาะกลุ่มวัยรุ่น ดังนั้น คอนเทนต์และแนวทางที่วางไว้ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเราถือเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ที่ครบวงจร โดยมีบริการที่หลากหลาย ตั้งแต่มีศิลปิน นักแสดงในสังกัดมากถึง 80 คน อีเวนต์ ผลิตคอนเทนต์ป้อนทั้งทีวีและแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น ยูทูบ ไลน์ทีวี เป็นต้น”

สำหรับทิศทางธุรกิจปี 2562 จะเดินหน้าผลิตคอนเทนต์ที่มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งกลุ่มวัยรุ่น ครอบครัว คาดว่าจะผลิตคอนเทนต์ไม่ต่ำกว่า 13 เรื่อง จากปีนี้ที่ผลิตเพียง 10 เรื่อง ได้แก่ ละคร ซีรีส์ รายการวาไรตี้ ปัจจุบันออกอากาศฟรีทีวี 2 ช่องหลัก คือ ช่องวัน และช่องจีเอ็มเอ็ม 25

“สถาพร” ย้ำว่า ท้ายที่สุดการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนดูไม่มีทางลัด แต่ต้องมาจากคอนเทนต์ที่ดี ถ้าคอนเทนต์ดีก็จะจุดกระแส สร้างความสัมพันธ์กับคนดูต่อได้ เหมือนกระแสสายวายที่ยังเติบโตและมีฐานแฟนคลับที่แข็งแรง